วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

โทรทัศน์ กับ อิทธิพลที่มีต่อสังคมไทย



                                โทรทัศน์ กับ อิทธิพลที่มีต่อสังคมไทย


                 มติชน วัน เสาร์ ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 02:03 น.


โดย กาลัญ วรพิทยุต

ถ้าย้อนกลับไปดูวิวัฒนาการของสังคมไทยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่า โทรทัศน์ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่โน้มน้าว และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต รวมถึงมีอิทธิพลต่อการกำหนดรูปแบบและทิศทางของผู้คนในสังคมไทย
วิวัฒนาการของโทรทัศน์เริ่มเข้าสู่สังคม ในช่วงสมัยที่มนุษย์ยังคงคุ้นเคยกับการสื่อสารด้วย การอ่าน จากสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นประกาศ หนังสือเล่ม หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนให้ความบันเทิง และเสริมสร้างจินตนาการให้กับคนในสังคมมาอย่างยาวนาน
จนวันหนึ่ง เมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้น เครื่องมือ ที่สามารถเป็นช่องทางในการสื่อสารได้ทั้ง ภาพและเสียง การสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในสังคมก็เริ่มมีช่องทาง และทางเลือกมากขึ้น จากการที่มนุษย์ต้องอาศัยทักษะด้านการอ่านที่มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน มนุษย์ก็สามารถมี ทางเลือกใหม่ ในการเปิดรับข่าวสารและความบันเทิงได้จากการ ดู ทางโทรทัศน์
แต่เดิมโทรทัศน์เป็นเครื่องมือที่ใช้ในด้านของการให้ข้อมูลข่าวสาร และความบันเทิง และมีกลุ่มผู้ชมอยู่ในวงจำกัด เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของ ราคา และ ช่องทางการรับสัญญาณ ที่เทคโนโลยีสมัยก่อนยังไม่เอื้ออำนวย สมัยก่อนโทรทัศน์ เปรียบเสมือน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง
ซึ่งแน่นอน เครื่องรับโทรทัศน์มีจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีฐานะเท่านั้น ไม่ได้แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนของโทรทัศน์จริงๆ เริ่มขึ้นหลังจากการเข้ามาของเครื่องรับ โทรทัศน์สี ที่ให้ความสมจริงของภาพ และสร้างความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมากเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ความสมจริงของโทรทัศน์สีนำมาซึ่งการตื่นตัวครั้งใหญ่ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางโทรทัศน์ให้แพร่หลายได้รับการยอมรับมากขึ้น มีสถานีโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น พร้อมกับใส่คำว่า โทรทัศน์สี เพื่อบ่งบอกถึงความทันสมัยเป็นอย่างยิ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โทรทัศน์ปรับตัว และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการออกอากาศรายการสด การรายงานข่าวด้วยรถถ่ายทอดที่ทันต่อเหตุการณ์ หรือการถ่ายทอดสดกีฬาต่างประเทศ ซึ่งมา ณ วันนี้สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ในสังคมไปแล้วจนไม่ สามารถแยกออกจากกันได้
ความรู้และความบันเทิงที่ผู้คนในสังคมได้รับจาก โทรทัศน์ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มหาศาล ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นโทษที่ไม่สามารถประเมินก็ได้ โทรทัศน์กลายเป็นสื่อแห่งการลอกเลียนแบบ พฤติกรรม ที่เป็นทั้งด้านดีและด้านลบ เช่น วัฒนธรรม ความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติและมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อมนุษย์ในยุค ปัจจุบัน
ประโยชน์ที่สำคัญของโทรทัศน์ คือ การให้ความรู้ในงานของข่าวสาร การชี้ให้สังคมตระหนักถึงโทษและอันตรายต่างๆ การสร้างความสามัคคีของคนในชาติ การปลูกฝังค่านิยมอันดีงามให้กับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่หลักและเป็นประโยชน์ที่โทรทัศน์ให้กับสังคม เมื่อมีด้านดีก็ต้องมีด้านที่ตรงกันข้าม
บ่อยครั้งที่โทรทัศน์ก็สร้างและเป็นตัวอย่างของพฤติกรรมที่ไม่ดีในสังคม เช่น ผลกระทบของเด็กที่เกิดจากการดูโทรทัศน์ การลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีงามจากรายการและละครทางโทรทัศน์ เช่น การชิงดีชิงเด่น การแก้แค้น การพูดจาด้วยภาษาที่ไม่สุภาพ การแต่งกายที่ล่อแหลม เป็นต้น
ในความเป็นจริงแล้ว ด้านสว่างและด้านมืดของโทรทัศน์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมจะไม่รุนแรงเท่าที่ เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าโทรทัศน์ยังเป็นเพียง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เหมือนในอดีต เพราะในปัจจุบันโทรทัศน์ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เฉลี่ยในแต่ละบ้านจะมีเครื่องรับโทรทัศน์มากกว่าหนึ่งเครื่องมีพฤติกรรมการ ชมโทรทัศน์ในลักษณะเฉพาะบุคคล
ประกอบกับเครื่องรับโทรทัศน์มีราคาถูกลงและหาซื้อได้ง่ายขึ้น ผลกระทบของโทรทัศน์จึงมีมากเช่นกัน
หลายปีก่อนเราคงเคยได้ยิน พฤติกรรมการลอกเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่กระโดดจากที่สูงเพราะเลียนแบบจากโทรทัศน์ พฤติกรรมทางเพศ เช่น การเบี่ยงเบนทางเพศ การแต่งกายที่ล่อแหลม ภาษาที่ใช้ที่ไม่เหมาะสมกับวัย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมส่วนหนึ่งเริ่มตระหนักถึง และพยายามหาทางป้องกัน
สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ นอกจากความบันเทิงที่ได้รับจากโทรทัศน์ ละคร รายการสนทนา เกมโชว์ หรือรายการที่ให้ความรู้ไม่ว่าจะเป็นข่าว สารคดี และกีฬา สิ่งเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการนำเสนอตลอดเวลา โดยมีเพียงเหตุผลเดียว คือ การสร้าง ความพอใจสูงสุด สำหรับกลุ่มผู้ชมรายการ โดยบางครั้งอาจขาดซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
รายการโทรทัศน์รูปแบบใหม่ๆ จึงถูกนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรายการสารคดีกึ่งบันเทิงรายการเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย รายการ Reality Shows รายการท่องเที่ยว รวมถึงละครซิทคอมที่เริ่มแพร่หลายในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ารายการทางโทรทัศน์ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพล หรือ แรงบันดาลใจ มาจากรายการโทรทัศน์ในต่างประเทศ ซึ่งบางรายการก็เหมาะสมกับรสนิยมของคนไทย บางรายการก็มีผลที่ตรงกันข้าม
สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่สามารถตัดขาดจากการชมโทรทัศน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ความรู้มาก หรือน้อยแค่ไหน โทรทัศน์เป็นเครื่องมือที่สร้างความบันเทิงให้กับคนทุกเพศทุกวัย และเข้าถึงคนจำนวนมาก อย่างไม่มีสื่อชนิดอื่นใดมาทดแทนได้
โทรทัศน์จึงกลายเป็นความบันเทิงที่สามารถเข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนทางสังคมไทย ตั้งแต่อดีตปัจจุบัน และก้าวต่อไปสู่อนาคต ถึงแม้จะเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ
แต่อย่างไรก็ตามคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าโทรทัศน์เป็นสิ่งที่สร้างและทำลาย สังคมได้ ถ้าผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ขาดความรับผิดชอบ และตระหนักถึงความสำคัญที่โทรทัศน์มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก สามารถเปลี่ยนแปลงและกำหนดให้สังคมเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อนั้นโทรทัศน์ก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ให้ประโยชน์อย่างสูงสุด
ต่างจากสิ่งที่คนในสังคมส่วนหนึ่งตั้งคำถามถึงแต่เพียงโทษของโทรทัศน์เหมือนในปัจจุบันนั่นเอง



 ที่มา : http://news.sanook.com/scoop/0/scoop_100982.php

 9 พฤษภาคม 2557

ไม่มีความคิดเห็น: