วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

จุลกฐิน พลังแม่ญิงเมืองแจ๋ม





                                                     จุลกฐิน พลังแม่ญิงเมืองแจ๋ม


            แม่แจ่ม ในสำเนียงคนล้านนา หรือทุกวันนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนาม เมืองแม่แจ่ม อันเป็นเมืองที่ยังคงเก็บรักษาภูมิปัญญาและมรดกวัฒนธรรมของคนเมืองเชียงใหม่ได้มากกว่าแหล่งอื่น ๆ ดังปรากฏคำร้องที่หมื่นฮู้ประพันธ์ไว้ในเพลงเมืองแจ่ม ของเขาว่า “...เมืองแจ่มแจ่มในอ้อมดอยฮักษาฮีตฮอย ลูกหลานสืบสานวัฒนธรรม ปอยหลวงประเพณีม่วนล้ำ สืบสานหื้องามนานไป”

            การรักษาฮีตฮอยให้คงอยู่ได้มาอย่างเนิ่นนานนั้น ก็อาจด้วยเมืองแจ่มตั้งอยู่ในหุบที่ราบริมดอยอ่างกาหรือดอยอินทนนท์ ซึ่งในอดีตการเดินทางเข้าไปเป็นเรื่องยากลำบาก ไม่มีถนนตัดผ่าน หากแต่ต้องเดินเท้าหรือนั่งเกวียน นั่งม้า ผ่านดอยสูงเพื่อลงสู่ที่ราบในหุบ ชาวบ้านเมืองแจ่มจึงใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่กับการทำนา พึ่งพาฟ้าฝน และสายน้ำแม่แจ่มที่ไหลจากขุนเขาสูงลงสู่ที่ราบ หมดหน้านาเหล่าแม่ญิงก็มิได้อยู่เฉย หากแต่ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวเก็บฝ้ายตำหูกทอผ้างามหลากชนิดไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน และงานบุญงานปอยต่าง ๆ ในรอบปี

            เมื่อสิ้นเทศกาลออกพรรษา ตามวัดต่าง ๆ จะเตรียมงานรับกฐินจากบรรดาพุทะศาสนิกชน ที่จะต้องทำบุญกฐินให้เสร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันเพ็ญเดือน 12 เรียกว่าเทศกาลกฐินหรือกฐินกาล อันเป็นพุทธบัญญัติให้พระภิกษุรับผ้ากฐินได้ตามกำหนดเวลาดังกล่าวเท่านั้น

            คำว่า กฐิน แปลตามศัพท์ว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้หรือไม้แบบสำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวร และผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงนั้น เรียกว่า ผ้ากฐิน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ทอดผ้ากฐินแก่พระภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน โดยแต่ละวัดรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว ผู้ศรัทธาจะทอดกฐินจึงต้องจองกฐินกับวัดล่วงหน้า เพื่อไม่ให้มีการทอดกฐินซ้ำ แต่หากมีผู้จองกฐินก่อนแล้วก็สามารถเป็นเจ้าภาพร่วมได้

            บุญกฐินจึงเป็นงานที่จ้องบอกบุญเนิ่นนาน เพื่อให้มีผู้ศรัทธาเข้าร่วมได้มาก งานทอดกฐินจึงเป็นงานเอิกเกริก เพราะถือเป็นงานบุญใหญ่ได้อานิสงส์มาก และหากทำบุญจุลกฐินด้วยแล้ว ยิ่งจัดเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ผู้คนจำนวนมากและต้องชำนาญในการทอผ้ากฐินให้เสร็จสำหรับทอดผ้าภายในวันเดียว คนโบราณจึงเรียกกฐินรีบด่วนนี้ว่า กฐินแล่น และยังมีสำนวนไทยเปรียบเทียบการทำงานที่ดูชุลมุนวุ่นวายเพื่อให้งานเสร็จทันตามกำหนดว่า วุ่นเป็นจุลกฐิน

            ปัจจุบันหลายหมู่บ้านในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนพยายามจัดงานจุลกฐินมากขึ้น เพราะไม่เพียเพื่อทำงานบุญในพุทธศาสนาเท่านั้น หากแต่ยังเป็นความพยายามให้เกิดการรวมตัวเพื่อฟื้นคืนภูมิปัญญางานถักทอผืนผ้าในหมู่บ้าน หลังจากที่ชาวบ้านพากันละทิ้งและขาดผุ้สืบทอดมานาน

            เมืองแจ๋มหรือแม่แจ่มปีนี้ งานบุญจุลกฐินจัดขึ้นวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่วัดบ้านทัพ วัดประจำบ้านหมู่ที่ 5 ของตำบลท่าผา ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งของเมืองแจ่มที่มีการทอผ้าหนาแน่น

            ย้อนหลังไปตั้งแต่ก่อนเข้าพรรษา ชาวบ้านทัพได้เริ่มทำแปลงปลูกฝ้ายที่ลานข้างโบสถ์ กะเวลาให้ต้นฝ้ายแตกปุยขาวโพลพอดี เมื่อถึงวันงาน จนเมื่อ 2-3 ก่อนวันจัดงานพิธีจุลกฐิน ชาวบ้านจะตกแต่งแปลงฝ้ายด้วนการสร้างรั้ว ซุ้มประตูทางเข้า และที่ตั้งเครื่องสักการบูชาเพื่อการประกอบพิธี

            เมื่อถึงวันพิธีชาวบ้านพากันเข้าอุโบสถ ตั้งสมาทานศีลและตั้งสัตยาธิษฐานในการทำ จุลกฐิน แล้วก็มีเด็กสาวและแม่อุ๊ยมาช่วยกันเก็บดอกฝ้ายเพื่อนำมาปั่นเป็นด้ายสำหรับทอผ้า หลังเสร็จพิธีในอุโบสถ แม่ญิงทั้งสาวเล็กและสาวใหญ่พากันมาร่วมทำผ้ากฐินในเต๊นท์ใหญ่ที่ตั้งในบริเวณวัด เริ่มตั้งแต่ อีด เอาเมล็ด้ายออกแล้วนำปุยฝ้ายไป ดีด ด้วยกงดีดฝ้าย เพื่อให้ปุยฝ้ายแตกตัวฟูสวย จากนั้นนำปุยฝ้ายไป ล้อ โดยวางปุยฝ้ายเป็นแผ่นบนกระดาน ใช้ไม้ล้อคลึงจนเป็นแท่งกลมยาว  แล้วนำไป เข็น ให้เป็นเส้นใย ด้วยอุปกรณ์คล้ายกงล้อที่เรียกว่า หลา ปั่นหมุนฝ้ายเป็นเส้นใยพันม้วนแกนเหล็กในจนเส้นฝ้ายเต็มแล้ว จึงนำเส้นฝ้ายเข้าไม้เปียทำเป็นใจหรือปอย จากนั้นนำไปใส่กงเพื่อกวักเส้นด้ายแล้วปั่นหลอดแยกเส้นด้ายออกเป็นเส้นยืนกับเส้นพุ่ง เพื่อจัดใส่กี่ในการทอผืนผ้าต่อไป

            ทุกขั้นตอนแม่ญิงเมืองแจ่มต่างช่วยกันคนละไม้ละมือ พอใครเหนื่อยล้าจะมีผู้เข้ารับช่วงต่อ ผลัดเวียนกันเช่นนี้ ตั้งแต่สายไปจนถึงค่ำ

            หลังจากอาทิตย์ตกลับขุนเขา บริเวณรอบวัดก็เต็มไปด้วยสีสันและความครึกครื้น เพราะหลายครอบครัวพากันมาปล่อยโคมลอย จุดดอกไม้ไฟ เที่ยวชมการฟ้อนและฟังสะล้อซอซึงที่ขับกล่อมภายในงาน บ้างก็เข้าวิหารร่วมพิธีสวด กระทั่งผืนผ้าฝ้ายแต่ละกี่เสร็จมากองรวมให้บรรดาแม่ญิงช่วยกันตัดเย็บเป็นไตรจีวร ก่อนนำไปย้อมน้ำต้มแก่นขนุนและขมิ้นจนออกสีเหลืองอร่ามแล้วตากผึ่งลมเพื่อให้พร้อมนำไปทอดในวันรุ่งขึ้น         กว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นก็ราวตีสามของวันใหม่ หลังจากนั้นเพียง 3 ชั่วโมง บริเวณวัดก็คลาคล่ำไปด้วยชาวบ้านที่มาร่วมกันตักบาตรข้าวเหนียว ตกสายพากันไปตั้งขบวนแห่ผ้ากฐินและต้นกฐินที่หัวฝาย นอกจากผ้ากฐินแล้ว ชาวบ้านทัพยังร่วมกันจัดทำผ้าห่อคัมภีร์เป็นบริวารกฐิน รวมถึงเสื่อ หมอน มุ้ง กาต้มน้ำ กระติกน้ำ และของสำหรับใช้สอยร่วมกันในวัด อาทิ ยารักษาโรค เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า

            ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นแม่ญิงเมืองแจ่มต่างสวมซิ่นเก่าเข้าร่วมขบวน ซึ่งแม้สีจะไม่สด แต่กลับทรงค่ายิ่ง ด้วยลวดลายและการถักทอเป็นฝีมือเก่า บางผืนอาจหาดูได้ยากยิ่งแล้วในบ้านเมืองแจ่มแห่งนี้ ชั่วไม่นานขบวนแห่ก็ถึงที่วัดที่มีเหล่าแม่ญิงและเด็กน้อยฟ้อนต้อนรับ เดินแห่ผ้าและต้นกฐินรอบวิหาร 3 รอบ ก่อนเข้าสู่ตัววิหารเพื่อทอดต่อพระสงฆ์เป็นเสร็จพิธี

            จุลกฐินบ้านทัพครั้งนี้ นอกจากจะได้ปัจจัยมากโขสำหรับสร้างศาลและบูรณะวัดได้ครบถ้วนแล้ว ยังบอกนัยแห่งพลังของแม่ญิงเมืองแจ่มที่สามารถสืบทอดมรดกวัฒนธรรมรุ่นต่อรุ่น ถักทอเส้นฝ้ายแต่ละเส้นให้เป็นผืนผ้าแห่งศรัทธา ซึ่งยากจะทำได้ในแห่งอื่น ๆ นอกจากเมืองแจ๋มที่งานบุญประเพณีจุลกฐินจัดทำขึ้นได้เกือบทุกปีแล้ว

 

 

สุดารา สุจฉายา.  (ปีที่ 28 : ธันวาคม).  “จุลกฐิน พลังแม่ญิงเมืองแจ๋ม.

            สารคดี.  ฉ. 334 : 150-151.