วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระพุทธรูปปางสนเข็ม





ปางที่ ๔๗
ปางสนเข็ม
พระพุทธรูปปางนี้ อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายทำกิริยาจับเข็มพระหัตถ์ขวาทำกิริยาจับเส้นด้าย อยู่ในพระอาการสนเข็ม

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้

พระพุทธรูปปางนี้ เป็นปางที่มีความหมายอันสำคัญปางหนึ่ง ถึงน้ำพระทัยที่ทรงเอาธุรกิจการของสงฆ์ที่เกิดขึ้นในหมู่คณะ ที่ไม่ทรงดูดายในการงานที่เกิดขึ้นในหมู่สงฆ์ อันจะต้องจัดต้องทำให้เสร็จไป เมื่อมีสิ่งใดอันพระองค์จะช่วยได้ พระองค์จะทรงกรุณาเอาเป็นธุระร่วมงานด้วย ทรงเป็นกันเองในพระสงฆ์สาวกดังปางสนเข็มนี้ คือเมื่อพระสาวกร่วมกันตัดเย็บจีวร อันจะต้องให้แล้วเสร็จทันแก่เวลา เช่นในคราวทำผ้ากฐิน พระองค์ก็เสด็จไปร่วมเป็นประธานในงานนั้น เป็นที่ซาบซึ้งในพระเมตตาแก่พระสงฆ์ที่ร่วมงานนั้นเป็นอย่างมาก ทรงรับธุระช่วยสนเข็มให้ในขณะพระเย็บผ้าจีวรอยู่ รูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระองค์ก็ทรงสนเข็มประทาน

ข้อนี้เป็นเยี่ยงอย่างอันดีของผู้เป็นหัวหน้าในการงานทั่วไป หากไม่เพิกเฉยเอาเป็นธุระเข้าร่วมด้วยตามโอกาส ย่อมจะเป็นกำลังใจอย่างดีแก่คณะผู้ร่วมงานสามารถบันดาลงานนั้นให้พลันเสร็จเรียบร้อยด้วยดี เพราะอาศัยพระพุทธรูปปางสนเข็มนี้แหละ ทำให้คนใจบุญรักการทอดจุลกฐิน ซึ่งมีงานอันจะต้องจัดต้องทำจีวรให้สำเร็จในวันนั้น เป็นงานที่พระพุทธเจ้าทรงรัก ทรงพระเมตตาเสด็จร่วม ทรงพระกรุณารับหน้าที่สนเข็มเย็บจีวรถือว่าเป็นบุญมาก เพราะลงทุนลงแรงมาก มีความพร้อมเพรียงด้วยผู้คนญาติมิตรมากแม้จนบัดนี้ก็ยังนิยมทำจุลกฐินกันอยู่ แสดงว่ามีความเลื่อมใส พอใจงานที่พระพุทธเจ้าทรงโปรดเพื่อรักษาไว้เป็นเนตติสืบไป น่าอนุโมทนายิ่งนัก

พระพุทธรูปปางนี้ มีตำนานดังนี้


ครั้งหนึ่ง เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหารใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธรัฐ ประจวบด้วยเวลานั้น จีวรของพระอนุรุทธเถระเจ้าเก่าคร่ำ นอกจากจะได้รับการชุนเย็บปะ ด้วยน้ำมือของท่านมากครั้งแล้วเนื้อผ้าจีวรผืนนั้นก็หมดอายุอีกด้วย เพราะหมดดี จะใช้เป็นจีวรต่อไปอีกไม่ได้ แปลว่าจะต้องทำใหม่ และเบื้องต้นของการทำจีวร ก็จะต้องหาผ้าไว้เพียงพอก่อน

ดังนั้น พระอนุรุทธเถระเจ้า จึงเที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลตามกองหยากเยื่อที่บุลคลนำมาทิ้ง ด้วยเป็นเศษผ้าหรือเป็นผ้าปฏิกูลบ้าง ตามสุสานที่บุคคลเอาห่อศพมาทิ้งไว้ตามราวไพร หรือสุมทุมพุ่มไม้ ที่บุคคลศรัทธานำมาทอดทิ้งไว้ถวาย ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "ผ้าป่า" ในบัดนี้บ้าง เพื่อเอาไปผสมให้พอทำจีวรในสมัยจีวรกาล (คือเวลาทำจีวรตามพระพุทธบัญญัติที่เรียกว่าเวลาทอดกฐินซึ่งมีกำหนด ๑ เดือนเต็ม นับตั้งแต่ออกพรรษาแล้วไป คือวันแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ถึงกลางเดือน ๑๒) ตามนิสัยพระเถระเจ้า ซึ่งนิยมใช้ผ้าจีวรบังสุกุลเป็นปกติดังนั้น ท่านจึงได้เดินเที่ยวหาผ้าบังสุกุลในที่ต่างๆดังกล่าว

บังเอิญในเวลานั้น นางชาลินีเทพธิดา ในดาวดึงสพิภพ ซึ่งในอดีตชาติที่ ๓ นับแต่ชาตินั้นไป ได้เคยเป็นภรรยาที่ดีของพระอนุรุทธเถระเห็นพระเถระเที่ยวแสวงหาผ้าอยู่ จึงได้เอาผ้าอย่างดี ๓ ผืน กว้าง ๔ ศอก ยาว ๑๓ ศอก มาเพื่อตั้งใจถวายพระเถระเจ้า แต่พลันคิดได้ว่า หากถวายตรงๆ ดังที่คิดไว้ พระเถระเจ้าอาจไม่รับ เราจะจัดถวายแบบผ้าบังสุกุล ซึ่งเรียกว่าผ้าป่าเถิด คิดดังนั้นแล้ว ก็กำหนดดูทางที่พระเถระเจ้าจะเดินผ่านมา แล้วเอาผ้าทั้ง ๓ ผืนนั้นวางไว้ใกล้ทาง เอาหยากเยื่อถมไว้ เหลือชายผ้าไว้หน่อยหนึ่งพอที่พระเถระผ่านมาจะเห็นได้ แล้วหลีกไป

ครั้นพระอนุรุทธเถระเจ้าเดินแสวงหาผ้าผ่านมาทางนั้น เห็นชายผ้าที่หยากเยื่อทับถมอยู่ จึงได้ถือเอาโดยสำคัญว่าเป็นผ้าบังสุกุล และเมื่อเห็นว่าผ้ามีจำนวนมากพอจะทำจีวรได้แล้ว ก็เดินทางกลับพระเวฬุวันวิหาร บอกให้พระสงฆ์ทั้งหลายทราบว่า ท่านจะทำจีวรขอให้พระสงฆ์มาร่วมกันช่วยจัดช่วยทำ

เนื่องจากเวลานั้น การทำจีวรเป็นธุระของพระ จะต้องจัดต้องทำกันเองทั้งสิ้น คฤหัสถ์มิได้เกี่ยวข้อง คฤหัสถ์มีธุระเพียงจัดหาผ้าถวายเท่านั้นและก็ถวายเป็นผ้าขาว พระต้องเอาไปกะตัดเย็บย้อมเอาเอง ทั้งคฤหัสถ์ก็ไม่รู้ไม่เข้าใจในงานตัดเย็บจีวร ซึ่งผิดตรงข้ามกับในปัจจุบันนี้ ความจริงแม้ในเวลานี้ ถึงคฤหัสถ์ก็ดูเหมือนจะเข้าใจตัดเย็บจีวรแต่เฉพาะผู้เป็นช่างเท่านั้น มิได้ตัดเย็บเป็นทั่วไปทุกคน แต่พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลตัดเย็บเป็นทุกรูป เพราะเป็นหน้าที่ของท่านจะต้องตัดเย็บใช้เอง ไม่นิยมใช้ผ้าที่คฤหัสถ์ตัดเย็บถวาย

เมื่อพระสงฆ์สาวกได้ทราบว่า พระอนุรุทธเถระเจ้าจะทำจีวร ต่างก็มาพร้อมเพรียงกัน ตลอดพระมหาสาวก เช่น พระมหากัสสป พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ และพระอานนท์ ผู้ชำนาญในการกะตัดจีวรเป็นพิเศษ ก็ได้มาร่วมประชุมทำจีวรถวายพระอนุรุทธอย่างน่าสรรเสริญ ต่างรับแบ่งงานออกทำกันตามสามารถทุกองค์ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงพระเมตตาเสด็จมาประทับเป็นประธาน ทั้งรับธุระสนเข็มให้ พระที่ช่วยเย็บผ้ารูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวายพระศาสดาก็ทรงสนเข็มประทาน เป็นที่เบิกบานใจแก่มวลพระสงฆ์สาวกที่เข้ามาร่วมทำจีวรร่วมกัน

อนึ่ง ในการเลี้ยงดูพระสาวกที่มาร่วมทำจีวรครั้งนี้ นอกจากพระโมคคัลลานเถระ ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ ควบคุมกิจการทั่วไป จะพึงสอดส่องให้ความสะดวกแก่พระสาวกทั้งหลายแล้วยังนางชาลินีเทพธิดาเจ้าของผ้าบังสุกุล ก็ได้ติดตามพระอนุรุทธเถระมาถึงวิหาร ครั้นเห็นพระสงฆ์สาวกเป็นอันมาก มีพระสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข เสด็จมาประทับเป็นประธาน ทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระมีความยินดีมาก ได้จำแลงกายเป็นอุบาสิกาเข้าไปป่าวร้องในหมู่บ้านว่า เวลานี้พระสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกได้ประกอบพิธีทำจีวรถวายพระอนุรุทธเถระ ควรที่เราทั้งหลายจะจัดข้าวยาคูและขัชชโภชนาหารถวายพระสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เพื่อเราทั้งหลายจะพึงเป็นผู้มีส่วนบุญในการนี้ด้วย ต่อมาไม่ช้าก็มีคนใจบุญ นำอาหารอันประณีตมาถวายพระสงฆ์เป็นอันมากตามคำชักชวนของนางชาลินีเทพธิดา พระสงฆ์ทั้งหลายต่างก็มีความสะดวกสบายด้วยอาหารทั่วกัน ในวันนั้นเอง ผ้าจีวรอันประณีต มีค่ามากเกิดแต่ฝีมือของพระสงฆ์สาวกพร้อมกัน กะ ตัด เย็บ และย้อมด้วยน้ำฝาด ซึ่งมีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับเป็นประธานรับงานสนเข็มให้ ก็สำเร็จเรียบร้อยตกเป็นสมบัติอันมีค่าของพระอนุรุทธเถระเจ้าสมประสงค์.

จบตำนานพระพุทธรูปปางสนเข็มแต่เพียงนี้.



ที่มา :
http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=808:2009-07-17-16-46-05&catid=79:2009-07-17-16-15-34&Itemid=279