วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ทัศนะเชิงพุทธศาสตร์ เกี่ยวกับ นิเวศวิทยา

ทัศนะเชิงพุทธศาสตร์ เกี่ยวกับ นิเวศวิทยา
จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์

ความสำคัญของปัญหา
ปัจจุบันนี้ ชุมชนต่าง ๆ ของโลก กำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ปัญหามลพิษ (Pollution) ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความไร้ระเบียบของที่อยู่อาศัย ในชุมชนของประชาชน การมีที่อยู่อย่างไม่ถูกสุขลักษณะและอนามัย ความหนาแน่นของประชากร การทำลายธรรมชาติ และ การทำความสกปรกโดยประชาชนปัญหามลพิษนี้ กำลังคุกคามชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อน จากผลแห่งมลพิษ อันแสดงออกมาในรูปอากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสีย และเสียงดังรบกวนเกินควร ปัญหาดังกล่าว มีสาเหตุร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ของชุมชนในด้านที่อยู่อาศัย และการอุตสาหกรรม จนถึงกับมีการทำลายสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ลำธาร และแร่ธาตุต่าง ๆ การพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกก็ดี หรือเพื่อการบริโภคภายในประเทศก็ดี ล้วนนำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการทำลายธรรมชาติด้วย ความเจริญทางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ล้วนมุ่งแต่เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ และข้อนี้ได้กลายเป็นดาบสองคม คือ ประการแรก ช่วยเอื้ออำนวยประโยชน์ แก่วิถีชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ทำให้มนุษย์มีการดำรงชีวิตที่สุขสบายยิ่งขึ้น ประการที่สอง การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมแบบใหม่ ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างฟุ่มเฟือย จนบางแห่ง มีปัญหาทางนิเวศวิทยา คือ การไร้ดุลยภาพของธรรมชาติ
จากการที่สังคมปัจจุบัน กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาดังกล่าวมานี้เอง จึงเป็นเหตุให้นักวิชาการต่าง ๆ หันความสนใจ มาศึกษาเรื่องนี้กันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเสนอแนววิธีการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการจัดระเบียบของสังคม และของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการขยายตัวของปัญหา จนกระทั่งแก้ไขอะไรไม่ได้เลยในที่สุด ซึ่งจะมีผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตของมนุษย์ โดยส่วนรวม

วัตถุประสงค์
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง พุทธศาสนากับนิเวศวิทยานี้ จำกัดขอบข่ายอยู่เฉพาะในหลักคำสอนบางอย่างของพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับหลักการทางนิเวศน์วิทยา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดเผยให้ทราบว่า พุทธศาสนาได้กล่าวถึงแบบอย่าง ความเป็นอยู่ของมนุษย์ และธรรมชาติโดยทั่วไปไว้อย่างไรบ้าง และพุทธศาสนา ได้เสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหามลพิษต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการไร้ความสมดุลของธรรมชาติ ไว้อย่างไรบ้าง วิธีการศึกษาส่วนใหญ่ จะมุ่งเปรียบเทียบหลักการทางทฤษฎีนิเวศน์วิทยา กับคำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา และข้อเขียนของนักปราชญ์ ทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายสังคมศาสตร์

ความหมายและขอบข่ายของ นิเวศวิทยา
นิเวศวิทยา แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า "Ecology" ตามพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า  "Ecology" หมายถึง
๑..  การศึกษาแบบอย่างของบริเวณใด บริเวณหนึ่งในด้านพื้นที่ กับการหน้าที่ เช่น บางแห่งใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัย บางแห่งใช้เป็นสถานที่ค้าขาย แบบอย่างนี้เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลง โดยทางกระบวนการกระทำระหว่างกัน ทางนิเวศวิทยา
๒..  การศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต กับถิ่นที่อยู่อาศัย
๓..  ตามความหมายเฉพาะทางมานุษยวิทยา นิเวศวิทยา หมายถึง การดัดแปลงวัฒนธรรมของมนุษย์ ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์
กล่าวโดยสรุป นิเวศวิทยามี ๓ ประการ คือ
๑..  มานุษยวิทยา คือ การศึกษาระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
๒..  นิเวศวิทยานคร คือ การศึกษาการกระจาย ในทางพื้นที่ของประชากร และสถาบันในชุมชนนคร
๓..  สมานชีวิตเชิงนิเวศวิทยา คือ การดำรงชีวิตร่วมกัน โดยการหาสมดุลทางนิเวศ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เป็นเชิงส่วนตัว ของผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกันในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะ ทรัพยากรธรรมชาติจำกัด และมีหน้าที่ที่จะต้องสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ และสัตว์อื่น ๆ ด้วย

เนื่องจากนิเวศวิทยามีขอบข่ายกว้างขวาง และมีหลายประการดังที่กล่าวไว้ข้างบนนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะกล่าวถึงนิเวศวิทยาในทุกลักษณะ ในที่นี้ได้โดยละเอียด เมื่อพิจารณาในส่วนที่สัมพันธ์กับหลักคำสอนของพุทธศาสนา ก็เห็นว่า มานุษยนิเวศวิทยาน่าจะนำมาวิเคราะห์ เป็นพิเศษในที่นี้ เพราะ ดูเหมือนว่า พุทธศาสนามีคำสอนหลายประการ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและมนุษย์ ดังนั้น การศึกษาในที่นี้จะมุ่งเฉพาะ มานุษยนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นวิชาการอย่างหนึ่ง ที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีนิเวศวิทยา เกี่ยวกับต้นไม้และสัตว์ ในการศึกษาชุมชนของมนุษย์

ความหมายของ มานุษยนิเวศวิทยา
๑..  George A. Theodorsan และ Archilles Theodorsan ให้คำจำกัดความมานุษยนิเวศวิทยาไว้ ๒ ประการ คือ
- มานุษยนิเวศวิทยา คือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
- มานุษยนิเวศวิทยา คือ การศึกษาโครงสร้างของชุมชน โดยการวิเคราะห์ถึง การกระจายของบุคคลและบริการต่าง ๆ ตามสถานที่ เวลา และ ภายใต้สภาพการณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ รวมทั้งทำการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบบแผนการกระจายของบุคคล กลุ่มและบริการต่าง ๆ

๒..  Amos H. Hawley กล่าวไว้ว่า มานุษยนิเวศวิทยา คือ การศึกษา ระดับสังคมย่อย คือ ระดับปัจเจกภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นระดับที่เป็นผลมาจากการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด และอยู่บนพื้นฐานของการร่วมมือกันแบบแข่งขัน อย่างไม่เป็นกันเอง และไม่มีการวางแผนกันมาก่อน
๓..  Robert E. Park จำกัดความไว้ว่า มานุษยนิเวศวิทยา คือ ความพยายามที่จะศึกษากระบวนการ ที่ช่วยดำรงไว้ซึ่งความสมดุลตามธรรมชาติ และความสมดุลทางสังคม ก็จะช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงจาก ระเบียบกฏเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง
อธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
คำนิยามศัพท์มานุษยนิเวศวิทยา ที่ว่าเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นการวิเคราะห์ถึง ความเกี่ยวข้องกันระหว่าง ความเป็นอยู่ของกลุ่มชน กับ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่กลุ่มชนอาศัยอยู่ กลุ่มชนนั้นหมายถึง ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทางสังคม อย่างเป็นแบบแผนของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป จนกลายเป็นระบบทางสังคมอย่างหนึ่ง เช่น ครอบครัว ละแวกบ้าน ชุมชน เป็นต้น
สำหรับสิ่งแวดล้อมหมายถึง
- สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ บรรยากาศ และ แรงถ่วงของโลก เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อมทางสังคม และ วัฒนธรรม แบ่งเป็น มนุษย์ พืช และสัตว์เลี้ยงทั่วไป, วัฒนธรรมทางวัตถุ อันเป็นผลผลิตของมนุษย์ และ วัฒนธรรมทางนามธรรม เช่น ทัศนคติ ความคิด ความต้องการ ค่านิยม ประเพณี กฏหมาย จริยธรรม และวัฒนธรรมทางนามธรรมอย่างอื่น ทุกอย่าง

คำนิยามที่สองของ Theodorsan นั้น มุ่งถึงการศึกษาโครงสร้างของชุมชน เป็นการวิเคราะห์ถึง ความสัมพันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ทางสังคม รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ความสัมพันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ การวิเคราะห์ดำเนินไปในชุมชนใด ชุมชนหนึ่ง ในปีใดปีหนึ่ง โดยเฉพาะ และภายใต้สภาพการณ์ตามปกติ ข้อนี้สัมพันธ์กับกระจายหน่วยงานต่าง ๆ ทางสังคม และปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับ การกระจายหน่วยต่าง ๆ ทางสังคม ภายใต้โครงสร้างของชุมชนใด ชุมชนหนึ่ง โดยเฉพาะนั้นมีแบบแผนที่แน่นอน เช่น ที่ดินใจกลางเมืองมีราคาแพง เพราะเป็นเขตธุรกิจการค้า
คำนิยามที่แสดงโดย Hawley นั้น เป็นการวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยอยู่บนพื้นฐานของแนวความคิด ทางทฤษฎีชีวิวิทยาของ ชาร์ล ดาวิน คือ การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต ข้อนี้รวมเอาการต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่รอด ของกลุ่มชนในเมือง ในชนบท หรือในท้องถิ่น ทั่วไปในด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และสังคม เป็นต้น
การให้ความหมายโดย Park เกี่ยวกับมานุษยนิเวศวิทยานั้น เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ถึง ความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันระหว่าง กลุ่มชนหรือระบบสังคม กับ สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ อันประกอบด้วยสถานที่ตั้งของชุมชน ภูมิอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ดังกล่าวมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นอย่างมาก เช่น กลุ่มชนที่อยู่ในแถบหนาว ย่อมมีวิธีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของแถบหนาว ส่วนกลุ่มชนที่อยู่ในแถบร้อน ก็มีวิธีการปรับตัวให้เข้ากับ สิ่งแวดล้อมของแถบร้อน นอกจากนี้ กระบวนการปรับตัวอย่างอื่น ให้เข้ากับความเหมาะสมของธรรมชาติ ถือว่าเป็นความสมดุลของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ถ้าความสมดุลของธรรมชาติ ถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบกระเทือน กระบวนการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบ และจะส่งผลคือ ความเดือดร้อนให้แก่ผู้อาศัยโดยตรง


ไม่มีความคิดเห็น: