วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บุญกฐิน



พิธีทอดกฐิน
มีตำนานเล่าว่าในครั้งพุทธกาล ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ ๓๐ รูป ล้วนแต่เป็นผู้เคร่งครัดปฏิบัติธุดงค์และต่างมีความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะ ได้เฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี จึงพากันเดินทางไป พอไปถึงเมืองสาเกต อันมีระยะทางห่างจากเมืองสาวัตถีราว 6 โยชน์ ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี จึงต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นตามพระวินัย ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทางไปเฝ้า ระหว่างทางฝนตกหนักน้ำท่วม หนทางเป็นโคลนตม แม้จะต้องฝ่าแดดกรำฝน ลุยฝน อย่างไรก็ไม่ย่อท้อ  ไปจนถึงกรุงสาวัตถี ครั้งได้เฝ้าฯ พระพุทธองค์ทรงมี
ปฏิสันถารถึงเรื่องจำพรรษาและการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นก็ได้ทูลถึงความตั้งใจที่จะมาเฝ้า และความยากลำบากในการเดินทางให้ทรงทราบ ครั้นพระองค์ตรัสรู้ถามจึงได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมมิกถา ภิกษุเหล่านั้นก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ผลในลำดับนั้น พระบรมศาสดาดำริถึงความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้น   พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐิน ได้ และจะได้รับอานิสงส์จากพระวินัยบางข้อ ( กรานกฐิน เป็นพิธีฝ่ายภิกษุที่ได้รับมอบผ้ากฐิน แล้วนำผ้าที่ได้ไปตัดเย็บย้อมทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง ) นางวิสาขาได้ทราบพุทธานุญาตและได้เป็นผู้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรก
เขตกำหนดทอดกฐิน
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ หลังจากวันออกพรรษาเป็นเวลา ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ หรือจำง่าย ๆ ว่าตั้งแต่วันตักบาตรเทโวจนถึงวันลอยกระทง เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า " เทศกาลกฐิน " ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับไว้ก่อนได้
ความหมายคำว่า " กฐิน " มีความหมายเกี่ยวเนื่องถึง ๔ ประการ คือ
  ๑ . กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้             กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร  ซึ่งอาจเรียกว่า ” สะดึง” ก็ได้นั้นเนื่องจากในครั้งพุทธกาลทำจีวรให้  มีรูปลักษณะตามที่กำหนด กระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่า “จีวร” เป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียกผ้านุ่งว่า สบง ผ้าห่มว่า จีวร      ผ้าห่มซ้อนว่า สังฆาฏิ การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือทาบผ้าลงไปกับแม่แบบ แล้วตัดเย็บย้อมทำให้เสร็จในวันนั้นด้วยความสามัคคีของสงฆ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้นและเมื่อทำเสร็จหรือพ้นกำหนดกาล แล้ว แม่แบบ หรือกฐินนั้น ก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นอีกในปีต่อๆไป  การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่า เดาะ ฉะนั้นคำว่า  กฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน  จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า
          ๒ . กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึง ผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล ๑ เดือน นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒  ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุลคือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ถวายแก่สงฆ์แล้ว ก็เป็นอันใช้ได้
          ๓ . กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่ง หรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า “ทอดกฐิน” คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็นกาลทานคือการถวายทานที่ทำได้เฉพาะกาล ๑ เดือน ดังกล่าวในกฐินที่เป็นชื่อของผ้า ถ้าถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้น ไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือว่าหาโอกาสทำได้ยาก
          ๔ . กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความคิดเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่นขยายเวลาทำจีวรได้อีก ๔ เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยากไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน ๑๐ วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรม  เรื่องกฐินแล้ว อนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บผ้าไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
 ประเภทของกฐิน จะแยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ๑ . กฐินหลวง ๒ . กฐินราษฎร์
          ๑ . กฐินหลวง มีประวัติว่าเมื่อพระพุทธศาสนาได้แพร่หลายมาประดิษฐานในประเทศไทย และประชาชนชาวไทยได้นับถือพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ การทอดกฐินก็ได้กลายเป็นประเพณีของบ้านเมืองมาโดยลำดับ และพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองบ้านเมืองก็ได้ทรงรับเรื่องกฐินเป็นพระราชพิธี อย่างหนึ่ง การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐินเป็นพระราชพิธีดัง กล่าว เป็นเหตุให้เรียกกันว่า กฐินหลวง ดังนั้น วัดใดก็ตามไม่ว่าวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไป ทรงถวายผ้าพระกฐินแล้ว ก็เรียกว่า กฐินหลวงทั้งสิ้น แต่สมัยต่อมากฐินหลวงได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะการณ์ของบ้านเมือง เช่น ประชาชนมีศรัทธาเจริญรอยตามพระราชศรัทธาของพระเจ้าแผ่นดินและได้รับพระกรุณา ให้ถวายผ้าพระกฐินตามควรแก่ฐานะ กฐินหลวงปัจจุบันจึงได้แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
                    ๑ . ๑ กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองเป็นประจำ ณ วัด สำคัญ ๆ ซึ่งทางราชการกำหนดขึ้น มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างเรียบร้อย กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักพระราชวังออกหมาย กำหนดการเป็นประจำปี จึงไม่มีการจองล่วงหน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จ พระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง แต่มิได้เสด็จไปทั้ง ๑๖ วัดหลวง ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือองคมนตรี หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็น ผู้แทนพระองค์ไปถวาย วัดหลวง ๑๖ วัด คือ
           (๑) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กทม.
           (๒) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กทม.
           (๓) วัดสุทัศน์เทพวราราม กทม.
           (๔) วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
           (๕) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กทม.
           (๖) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.
           (๗) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กทม.
           (๘) วัดเทพศิรินทราวาส กทม.
           (๙) วัดราชาธิวาส กทม.
           (๑๐) วัดมกุฎกษัตริยาราม กทม.
           (๑๑) วัดอรุณราชวราราม กทม.
           (๑๒) วัดราชโอรสาราม กทม.
           (๑๓) วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม
           (๑๔) วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา
           (๑๕) วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระนครศรีอยุธยา
           (๑๖) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก
  ๑ . ๒ กฐินต้น หมายถึง กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดที่มิใช่วัดหลวงและมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการหรืออย่างเป็นพระราชพิธี แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
           * เป็นวัดที่ยังไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินมาก่อน
           * ประชาชนมีความเลื่อมใสในวัดนั้นมาก
           * ประชาชนในท้องถิ่นนั้นไม่ค่อยมีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไป จะได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิดด้วย
                    ๑ . ๓ กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระ ราชทานไปถวายยังวัดหลวง ที่นอกเหนือไปจากวัดสำคัญ ๑๖ วัดที่กำหนดไว้ เหตุที่มี กฐินพระราชทาน ก็เพราะปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตลอดจนคณะบุคคลต่าง ๆ ที่สมควรขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายได้ ซึ่งกฐินดังกล่าวส่วนใหญ่ก็คือกฐินที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ นำไปถวายนั่นเอง ทั้งนี้ ผู้ที่จะรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย ณ วัดหลวงวัดใดต้องติดต่อไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ตามระเบียบเพื่อเป็นการจองไว้ก่อนด้วย
          ๒ . กฐินราษฎร์ หมายถึง กฐินที่ราษฎรหรือประชาชนผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปถวายตามวัดต่าง ๆ ยกเว้นวัดหลวง ๑๖ วัดที่กล่าวไว้แล้ว ซึ่งจะมีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามลักษณะของการทอด คือ
                    ๒ . ๑ กฐินหรือมหากฐิน เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะกล่าวคือ ท่านผู้ใดมี ศรัทธาจะทอดกฐิน ณ วัดใด ก็นำผ้ากฐินจัดเป็นองค์กฐิน อาจถวายของอื่น ๆ ไปพร้อมกับองค์ กฐินเรียกกันว่า บริวารกฐิน ตามที่นิยมกันมีปัจจัย ๔ คือ เครื่องอาศัยของพระภิกษุสามเณร มีไตรจีวร บริขารอื่น ๆ ที่จำเป็น เป็นของที่สมควรแก่พระภิกษุสามเณรจะบริโภค นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมที่เจ้าภาพจะต้องมีผ้าห่มพระประธาน และเทียนสำหรับจุดในเวลาที่พระภิกษุ สวดพระปาติโมกข์ที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า เทียนปาติโมกข์ จำนวน ๒๔ เล่ม และมีธงผ้าขาวเขียน รูปจระเข้หรือสัตว์น้ำอื่น เช่น ปลา นางเงือก สำหรับปักหน้าวัดที่อยู่ตามริดมน้ำ เมื่อทอดกฐิน เสร็จแล้ว และมีธงผ้าขาวเขียนเป็นรูปตะขาบ ปักไว้หน้าวัดสำหรับวัดที่ตั้งอยู่บนดอยไกลแม่น้ำ เพื่อแสดงให้ทราบว่า วัดนั้น ๆ ได้รับกฐินแล้วและอนุโมทนาร่วมกุศลด้วยได้
           อนึ่ง ยังมีประเพณีนิยมอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวลาของการทอดกฐินถ้าเป็นเวลาเช้าจะ มีการ ทำบุญถวายอาหารเพลแก่พระภิกษุสามเณรในวัด
                    ๒ . ๒ จุลกฐิน เดิมเรียว่า กฐินแล่น เป็นกบินที่ต้องทำด้วยความเร่งรีบ เจ้าภาพผู้ที่จะทอดกฐินเช่นนี้ได้ต้องมี พวกมาก มีกำลังมาก เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การทำผ้าที่นำไปทอดตั้งแต่ต้น คือ เริ่มตั้งแต่นำฝ้าย ที่แก่ใช้ได้แล้ว แต่ยังอยู่ในฝักมีปริมาณให้พอแก่การที่จะทำเป็นผ้าจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ แล้วทำ พิธีสมมติว่าฝ้ายจำนวนนั้นได้มีการหว่าน แตกงอกออกต้น เติบโต ผลิดอก ออกฝัก แก่ สุก แล้ว เก็บมาอิ้วเอาเมล็ดออก ดีดเป็นผง ทำเป็นเส้นด้าย เปียออกเป็นใจ กรอออกเป็นเข็ด แล้วฆ่าด้วย น้ำข้าว ตากแห้ง ใส่กงปั่นเส้นหลอด ใส่กระสวยเครือ แล้วทอเป็นแผ่นผ้าตามขนาดที่ต้องการ นำไปทอดเป็นผ้ากฐิน เมื่อพระสงฆ์รับผ้านั้นแล้ว มอบแก่พระภิกษุผู้เป็นองค์ครอง ซึ่งพระองค์ ครองจะจัดการต่อไปตามพระวินัย หลังจากนั้นผู้ทอดต้องช่วยทำต่อ คือนำผ้านั้นมาขยำทุบซัก แล้วตากให้แห้ง นำมาตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วเย็บย้อม ตากแห้ง พับ รีดเสร็จเรียบร้อย แล้วนำไปถวายองค์ครองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านทำพินทุอธิษฐาน เสร็จแล้วจะมีการประชุม สงฆ์แจ้งให้ทราบ พระภิกษุทั้งหมดจะอนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี
           ในกรณีผู้ทอดจุลกฐินไม่มีกำลังมากพอ จะตัดตอนพิธีการในตอนต้น ๆ ออกเสียก็ได้ โดยเริ่ม ด้วยการเอาผ้าขาวผืนใหญ่มากะประมาณให้พอที่จะตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งแล้ว นำไปทอด เมื่อพระภิกษุสงฆ์ ท่านนำไปดำเนินการตามพระวินัยแล้วก็ช่วยทำต่อจากท่าน คือ ซัก ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จ แล้วนำกลับไปถวายองค์ครองเพื่อพินทุอธิษฐานต่อไป เหมือนวิธีที่กล่าวมาแล้ว อนึ่ง ข้อที่ควรกำหนดคือ จุลกฐินจะเป็นวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม จะต้องทำให้เสร็จในวันเดียว เริ่มต้น ตั้งแต่เวลาเช้าถึงย่ำรุ่งของวันรุ่งขึ้นคือ ต้องทำให้เสร็จก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ไม่เช่นนั้นแล้ว กฐินนั้นไม่เป็นกฐินส่วนบริวารของจุลกฐิน ผ้าห่มพระประธานและเทียนปาติโมกข์ ตลอดจนธง จระเข้ ธงตะขาบ ก็คงเป็นเช่นที่กล่าวมาแล้วในเรื่อง กฐินหรือมหากฐิน
  ๒ . ๓ กฐินสามัคคี เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน ไม่จำเป็นว่าใครบริจาคมากน้อย แต่มักตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการและมีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น เมื่อได้ปัจจัยมาเท่าไรก็จัดผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้ง บริวารไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งที่จองไว้ ซึ่งกฐินชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพราะนอกจากทำบุญกฐินแล้ว ยังนำปัจจัยที่เหลือไปช่วยทำนุบำรุงวัด เช่น ก่อสร้างศาสนสถาน บูรณะปฎิสังขรณ์โบสถ์ เจดีย์ เป็นต้น
                    ๒ . ๔ กฐินตกค้าง กฐินนี้มีชื่อเรียกอีกว่า กฐินตก กฐินโจร ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวถึง เหตุผลที่เกิดกฐินนี้ว่า "แต่ที่ทำกันเช่นนี้ ทำกันอยู่ในท้องถิ่นที่มีวัดมาก ซึ่งอาจมีวัดตกค้าง ไม่มีใครทอดก็ได้ จึงมักมีผู้ศรัทธาไปสืบเสาะหาวัดอย่างนี้เพื่อทอดกฐิน ตามปกติในวันใกล้ ๆ จะสิ้นหน้าทอดกฐินหรือในวันสุดท้าย คือวันก่อนแรมค่ำหนึ่งของเดือน ๑๒ ทอดกฐินอย่างนี้ เรียกกันว่า กฐินตกค้าง หรือเรียกว่า กฐินตก บางถิ่นก็เรียก กฐินโจร เพราะกิริยาอาการที่ ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว จู่ ๆ ก็ไปทอด ไม่บอกกล่าวเล่าสิบล่วงหน้าไว้ให้วัดรู้ เพื่อเตรียมตัวกัน ได้พร้อมและเรียบร้อย การทอดกฐินตกถือว่าได้บุญ อานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินตามธรรมดา บางทีเตรียมข้าวของไปทอดกฐินหลาย ๆ วัด แต่ได้วัดทอดน้อยวัด เครื่องไทยธรรมที่ตระเตรียม เอาไปทอด ยังมีเหลืออยู่หรือทางวัดทอดไม่ได้ก็เอาเครื่องไทยธรรมเหล่านั้นจัดทำเป็น ผ้าป่า เรียกกันว่า "ผ้าป่าแถมกฐิน"
           การแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้าง
           ในกรณีที่วัดใดวัดหนึ่ง ไม่มีผู้จองกฐิน วิธีแก้ปัญหาคือ ใครก็ได้ท่มีศรัทธาและมีทุนไม่มาก ไปซื้อผ้าสำเร็จรูปผืนใดผืนหนึ่งนำมาถวาย ก็เรียกว่า ทอดกฐินแล้ว หรือในกรณีที่บางวัดมี ประเพณีให้ตัดเย็บ ย้อมให้เสร็จในวันนั้น ก็ซื้อผ้าขาวผืนเดียวมาถวายก็จัดเป็นการทอดกฐิน ที่สมบูรณ์ตามพระวินัย เป็นอันแก้ปัญหาเรื่องกฐินตกค้างอย่างง่ายเพียงเท่านี้

การเตรียมการ
เมื่อได้หมายกำหนดการทอดกฐินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นเจ้าภาพจองกฐิน จะต้องจัดเตรียมเครื่องกฐินเอาไว้ ได้แก่ ผ้ากฐิน คือ ไตรจีวร พร้อมทั้งเครื่องบริขารอื่นๆ ตามแต่ศรัทธา (ถ้าจัดเต็มที่มัก มี ๓ ไตร คือ องค์ครอง ๑ ไตร คู่สวดองค์ละ ๑ ไตร)
สำหรับทางวัดก็ต้องบอก แก่กรรมการวัดและญาติโยมผู้มีศรัทธาทั้งหลาย ให้ทราบหมายกำหนดการ เพื่อที่จะได้มาร่วมแรงร่วมใจกันตกแต่งสถานที่ จัดเตรียมงาน และทำอาหารเลี้ยงแขกที่มาทำการทอดกฐิน
        ครั้นก่อนถึงวันทำพิธีทอดกฐิน ๑ วัน เรียกว่าวันสุกดิบ ทุกคนจะมาพร้อมกันที่วัด จัดการตกแต่งสถานที่ ปักธงชาติ ธงธรรมจักร และธงจระเข้ จัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้สำหรับถวายพระ และใช้ในพิธี
 วันงาน 
พิธี ทอดกฐินเป็นบุญใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น โดยมากจึงจัดงานเป็น 2 วัน วันต้นตั้งองค์พระกฐินที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้ จะไปตั้งที่วัดก็ได้ เพื่อให้เพื่อนบ้านได้มีโอกาสร่วมอนุโมทนาและบริจาคร่วมบุญกุศล  กลางคืนมีการมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องและมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นที่วัดทอด ถ้าไปทางบก ก็มีแห่ทางขบวนรถหรือเดินขบวนกันไป มีแตรวงหรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้น ถ้าไปทางเรือก็มีแห่งทางขบวนเรือสนุกสนาน โดยมากมักแห่ไปตอนเช้า และเลี้ยงพระเพล การทอดกฐิน จะทอดในตอนเช้านั้นก็ได้ ทอดเพลแล้วก็ได้ สุดแล้วแต่สะดวก การเลี้ยงพระ ถ้าเป็นอย่างในชนบท ชาวบ้านจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วย อาหารมากมายเหลือเฟือ แม้ข้อนี้ ก็สุดแต่กาละเทศะแห่งท้องถิ่น อนึ่ง ถ้าตั้งองค์กฐินในวัดที่จะทอดนั้น เช่น ในชนบทตอนเย็น ก็แห่งองค์พระกฐินไปตั้งที่วัด กลางคืนมีการฉลองรุ่งขึ้น เลี้ยงพระเช้าแล้ว ทอดกฐิน ถวายภัตตาหารเพล   หากเป็นกฐินสามัคคี คือ มีหลายเจ้าภาพ แยกกันตั้งองค์กฐิน ณ บ้านของเจ้าภาพ ในวันรุ่งขึ้นแห่มาทอดรวมกันที่วัด ทั้งนี้เพราะในแต่ละวัดจะรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น บางที เจ้าภาพหลายรายยื่นความประสงค์จะจองกฐิน จึงต้องให้ร่วมกันทอดเป็นกฐินสามัคคี
        การถวายผ้ากฐิน การถวายผ้ากฐินนั้น คือ เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ ถ้าเป็นกฐินสามัคคีก็มักเอาด้วยสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกัน แล้วหัวหน้านำว่าคำถวาย ครั้นจบแล้ว พระสงฆ์รับว่า สาธุ เจ้าภาพก็ประเคนผาไตรกฐินแก่ภิกษุผู้เถระ ครั้นแล้วประเคนเครื่องบริขารอื่น ๆ เสร็จแล้ว พระสงฆ์ก็ทำพิธีมอบผ้าให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นพระเถระ มีจีวรเก่า รู้ธรรมวินัย ครั้นเสร็จแล้ว พระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำรับพร ก็เป็นอันเสร็จพิธีการทอดกฐินเพียงนี้
พิธิกรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐิน นั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร  เสร็จแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง ขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนา กล่าวคือเรื่องประวัติกฐินและอานิสงส์ครั้งแล้วภิกษุผู้รับผ้ากฐิน นั่งคุกเข่าตั้งนะโม 3 จบ แล้วเปล่งวาจาในท่ามกลางชุมนุมนั้น ตามลักษณะผ้าที่กรานดังนี้
        ถ้าเป็นผ้าสังฆาฏิ เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมายสงฺฆาฏิยา กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่า ข้าพเจ้ากรานกฐินด้วยผ้าสัมฆาฎินี้ (ในเวลาว่านั้นไม่ต้องว่าคำแปลนี้) 3 จบ
        ถ้าเป็นผ้าอุตตราสงค์เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินาอุตฺตราสงฺเคน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าจ้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอุตตราสงค์นี้ 3 จบ ถ้าเป็นผ้าอันตรวาสก (สบง) เปล่งวาจากรานกฐินว่า "อิมินา อนฺตรวาสเกน กฐินํ อตฺถรามิ" แปลว่าข้าพเจ้ากรานกฐิน ด้วยผ้าอันครวาสกนี้ 3 จบ
        ลำดับนั้น สงฆ์นั่งคุกเข่าพร้อมกันแล้วกรานพระ 3 หนเสร้จแล้ว ตั้งนโมพร้อมกัน 3 จบ แล้วท่านผู้ได้รับผ้ากฐินหันหน้ามายังกลุ่มภิกษุสงษ์ กล่าวคำอนุโมทนาประกาศดังนี้
        "อตฺถตํ อาวุโส สงฺฆสฺส กฐินํ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบ (แปลว่า อาวุโส! กฐินสงฆ์กราบแล้ว การกรานกฐินเป็นธรรม ข้าพเจ้าขออนุโมทนา)
        คำว่า อาวุโส นั้น ถ้ามีภิกษุอื่นซึ่งมีพรรษามากกว่าภิกษุผู้ครองกฐินแม้เพียงรูปเดียวก็ตาม ให้เปลี่ยนเป็น ภนฺเต ต่อนั้น สงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ พร้อมกันแล้วให้ภิกษุทั้งปวง อนุโมทนาเรียงองค์กันไปทีละรูป ๆ ว่า "อตฺถตํ ภนฺเต สงฺฆสฺส กฐินฺ ธมฺมิโก กฐินตฺถาโร อนุโมทามิ" 3 จบสงฆ์ทั้งปวงรับว่า สาธุ ทำดังนี้ จนหมดภิกษุผู้ประชุมอนุโมทนา
        (ถ้าผู้อนุโมทนา มีพรรษษแก่กว่าสงฆ์ทั่งปวง ให้เปลี่ยนคำว่า ภนฺเต เป็น อาวุโส) ในการว่าคำอนุโมทนานี้พึงนั่งคุกเข่าประนมมือเสร้จแล้วจึงนั่งพับเพียงลง เมื่อเสร็จแล้ว ให้นั่งพร้อมกันคุกเข่าประนมมือ หันหน้าตรงต่อพระพุทธปฏิมา ว่าพร้อมกันอีก 3 จบ แต่ให้เปลี่ยนคำว่า อนุโมทามิ เป็น อนุโมทาม เป็นอันเสร็จไปชั้นหนึ่ง ต่อแต่นั้นกราบพระ 3 หน นั่งพับเพียบ สวดปาฐะและคาถาเนื่องด้วยกรานกฐิน จบแล้วก็เป็นเสร็จพิธีการกรานกฐิน

คำถวายผ้ากฐิน
อิมัง ภันเต, สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, สังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุโน ภันเต, สังโฆ,
        อิมัง, สะปะริวารัง, กะฐินะทุสสัง, ปะฎิคคัณหาตุ, ปะฎิคคะเหตวา จะ, อิมินา ทุสเสนะ,
        กะฐินัง, อัตถะระตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะ,
        สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ด้วยคำนำเพิ่มว่า ทุติยัมปี...(นอกนั้นคำสวดเหมือนเดิมตั้งแต่ต้น)
        สวดซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ด้วยคำนำเพิ่มว่า ตะติยัมปี... (นอกนั้นคำสวดเหมือนเดิมตั้งแต่ต้น) 
        คำแปล ข้าแต่พระสงค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้ากฐินจีวร กับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน กับบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย รับแล้วจงกรานกฐิน ด้วยผ้านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ.
ธงจระเข้
ปัญหาที่ว่าเพราะเหตุไรจึงมีธงจระเข้ยกขึ้นในวัดที่ทอดกฐิน แล้ว ยังไม่ปรากฎหลักฐาน และข้อวิจารณ์ อันสมบูรณ์โดยมิต้องสงสัย เท่าที่รู้กันมี 2 มติ คือ
        1. ในโบราณสมัย การจะเดินทางต้องอาศัยดาวช่วยประกอบเหมือน เช่น การยกทัพเคลื่อนขบวนในตอนจวนจะสว่าง จะต้องอาศัยดาวจระเข้นี้ เพราะดาวจระเข้นี้ขึ้นในจวนจะสว่าง การทอดกฐิน มีภาระมาก บางทีต้องไปทอด ณ วัดซึ่งอยู่ไกลบ้าน ฉะนั้น การดูเวลาจึงต้องอาศัยดาว พอดาวจระเข้ขี้น ก็เคลี่อนองค์กฐินไปสว่างเอาที่วัดพอดี และต่อมาก็คงมีผู้คิดทำธงในงานกฐิน ในชั้นต้น ก็คงทำธงประดับองค์กฐินให้สวยงามรวมทั้งประดับบริเวณวัด จึงคิดทำธงรูปจระเข้ เสมือนประกาศให้รู้ว่าทอดกฐินแล้ว
        2. อีกมติหนึ่งเล่าเป็นนิทานโบราณว่า ในการแห่กฐินในทางเรือของอุบาสกผู้หนึ่ง มีจระเข้ตัวหนึ่งอยากได้บุญจึงอุตส่าห์ว่ายตามเรือไปด้วย แต่ยังไม่ทันถึงวัดก็หมดกำลังว่ายตามต่อไปอีกไม่ไหว จึงร้องบอกอุบาสกว่า เหนื่อยนักแล้ว ไม่สามารถจะว่ายตามไปร่วมกองการกุศล วานท่านเมตตาช่วยเขียนรูปข้าพเจ้า เพื่อเป็นสักขีพยานว่าได้ไปร่วมการกุศลด้วยเถิด อุบาสกผู้นั้นจึงได้เขียนรูปจระเข้ยกเป็นธงขึ้นในวัดเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนบัดนี้
ข้อกำหนดเกี่ยวกับกฐิน มีดังต่อไปนี้
            ๑.  จำนวนพระสงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐินได้ ถ้ากล่าวตามหลักฐานในพระไตรปิฎก (เล่ม ๕ หน้า ๒๕๘ ) ซึ่งเป็นพระพุทธภาษิต กล่าวว่าสงฆ์ ๔ รูป ทำกรรมได้ทุกอย่างเว้นการปวารณา คือการอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนได้   การอุปสมบทและการสวดถอนจากอาบัติบางประการ(อัพภาร)จึงหมายถึงว่าจำนวนพระ สงฆ์ในวัดที่จะทอดกฐิน ได้จะต้องมีตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป แต่หนังสืออธิบายชั้นหลังที่เรียกว่าอรรถกถา กล่าวว่า  ต้อง ๕ รูป ขึ้นไป เมื่อหนังสืออธิบายชั้นหลังขัดแย้งกับพระไตรปิฏกเป็นสำคัญ
                ๒. คุณสมบัติของพระสงฆ์ที่มีสิทธิรับกฐิน คือพระสงฆ์ที่จำพรรษาในวัดนั้นครบ ๓ เดือน ปัญหาที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่าจะนำพระสงฆ์ที่อื่นมาสมทบ จะใช้ได้หรือไม่ ตอบว่าถ้าพระสงฆ์วัดที่จะทอดกฐินนั้น มีจำนวนครบ ๔ รูปแล้ว    จะนำพระสงฆ์วัดอื่นมาสมทบก็สมทบได้ แต่จะอ้างสิทธิไม่ได้ ผู้มีสิทธิมีเฉพาะผู้จำพรรษาครบ ๓ เดือน ในวัดนั้นเท่านั้น การนำพระภิกษุมาจากวัดอื่น คงมีสิทธิเฉพาะที่ทายกจะถวายอะไรเป็นพิเศษเท่านั้นไม่มีสิทธิในการออกเสียง เรื่องจะถวายผ้าแก่ภิกษุรูปนั้นรูปนี้
            ๓. กำหนดกาลที่จะทอดกฐินได้ ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่าการทอดกฐินนั้นทำได้ภายในเวลาจำกัด คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่นับเป็นกฐิน
            ๔.  ข้อควรทราบเกี่ยวกับกฐินไม่เป็นอันทอดหรือเป็นโมฆะ เรื่องนี้สำคัญมากควรทราบทั้งผู้ทอดและทั้งฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับเพราะเป็น เรื่องทางพระวินัย (วินัยปิฎก เล่ม ๕ หน้า ๑๓๗) คือ มักจะมีพระในวัดเที่ยวขอโดยตรงหรือโดยอ้อม ด้วยวาจาบ้าง  ด้วยหนังสือบ้าง เชิญชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตน การทำเช่นนั้นผิดพระวินัย กฐินไม่เป็นอันกรานนับเป็นโมฆะ ทอดก็ไม่เป็นอันทอด พระผู้รับก็ไม่ได้อานิสงส์ จึงควรระมัดระวังทำให้ถูกต้องและแนะนำผู้เข้าใจผิดปฏิบัติทำให้ถูกต้องเรียบร้อย

อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน
          การทอดกฐินถือเป็นการทำบุญพิเศษที่ทำได้เพียงปีละครั้ง และต้องอยู่ภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนตามพุทธบัญญัติ ดังนั้น อานิสงส์ หรือผลดีจึงมีหลายประการ กล่าวคือ ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผ้านุ่งห่มใหม่ ได้ชื่อว่าทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างกุศลจิตแก่ผู้ทำบุญเพราะทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธา อีกทั้งการทอดกฐินยังก่อให้เกิดความสามัคคี เป็นการร่วมมือกันทำคุณงามความดี และหากการถวายกฐินนั้นมีส่วนในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม ก็จะได้ชื่อว่ามีส่วนช่วยรักษาศาสนสถานและศาสนวัตถุให้ยั่งยืนต่อไป ซึ่งผู้ทอดก็ต้องตระเตรียมจัดทำเป็นงานใหญ่ ต้องมีผู้ช่วยเหลือหลายคน จึงนิยมกันว่าเป็นพิธีบุญที่อานิสงส์แรง น่าคิดอีกทางหนึ่งว่า พิธีเช่นนี้ได้ทั้งโภคสมบัติ เพราะเราเองบริจาค ได้ทั่งบริวารสมบัติเพราะได้บอกบุญแก่ญาติมิตรใหมาร่วมการกุศล กาลทานเช่นนี้ เรียกว่า ทานทางพระวินัย
อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน
- ผลดีฝ่ายผู้ทอดและคณะ        อานิสงส์หรือผลดีของฝ่ายผู้ทอดและคณะมีดังนี้
            (๑)  ชื่อว่าได้ถวายทานภายในกำหนดที่เรียกว่า  กาลทาน คือ ในปีหนึ่งถวายได้เพียงในระยะเวลา ๑ เดือนเท่านั้นในข้อถวายทานตามพุทธภาษิตว่าผู้ให้ทานตามกาล ความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลของผู้นั้น ย่อมสำเร็จได้
            (๒) ชื่อว่าได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วน รวม มีพระพุทธภาษิตว่าผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ
            (๓) ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติดีปฎิบัติชอบให้เป็นหลัก เป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีของประชาชนสืบไป
            (๔) จิตใจของผู้ทอดกฐินทั้ง ๓ กาล คือก่อนทอด กำลังทอดและทอดแล้วที่เสื่อมใสศรัทธา และปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่มีจิตเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ
            (๕) การทอดกฐินทำให้เกิดสามัคคีธรรม คือการร่วมมือกันทำคุณงามความดี และถ้าการถวายกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วย ก็เป็นการร่วมสามัคคี เพื่อรักษาศาสนวัตถุ ศาสนสถานให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป
- ผลดีฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานฐิน     อานิสงส์หรือผลดีของฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานกฐินมีดังนี้
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ (ในวินัยปิฎก เล่ม ๕  หน้า ๑๓๖) ว่าภิกษุผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้รับประโยชน์ ๕ ประการ
            (๑)  รับนิมนต์ฉันไว้แล้วไปไหนไม่ต้องบอกลาภิกษุในวัดตามความในสิกขาบทที่ ๖ แห่ง อเจลกวรรคปาจิตตีย์
            (๒) ไปไหนไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ
            (๓)  เก็บผ้าที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษไว้ได้ตามปรารถนา
            (๔)  จีวรอันเกิดในที่นั้นเป็นสิทธิของภิกษุเหล่านั้น
            (๕)  ขยายเขตแห่งการทำจีวรหรือการเก็บจีวรไว้ได้จนถึงสิ้นฤดูหนาว (คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ เป็นวันสุดท้าย)
 ข้อเสนอแนะ
          ความมุ่งหมายของการทอดกฐินเดิม คือ การบำเพ็ญกุศล ด้วยการถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนตามพุทธานุญาต แต่ปัจจุบันประเพณีกฐินได้มีการเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์เดิม และก่อให้เกิดความลำบากใจแก่ผู้ทำบุญเป็นอย่างมาก เพราะกลายเป็นการเน้นการสร้างถาวรวัตถุ จนทำให้หลายคนถูกเรี่ยไรหลายวัดหลายซองทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ เกิดความเอือมระอา เป็นบุญที่คนเบือนหน้าหนี ทั้งๆ ที่ “ กฐิน ” เป็นการสร้างบุญกุศลที่ดีและมีกำหนดเวลาแน่นอน ดังนั้น วัดและพุทธศาสนิกชนที่จะทำบุญกฐิน จึงควรเน้นไปยังความหมายเดิม แต่น่าจะปรับเปลี่ยนแนวคิดบางเรื่องให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างการบริจาคปัจจัย หากจะมี ก็ควรเพื่อการปฏิสังขรณ์ศาสนสถานที่ชำรุดทรุดโทรม หรือจะสร้างใหม่ก็ให้พอเหมาะพอควร ไม่มุ่งความใหญ่โต หรูหรา ขณะเดียวกัน ก็อาจนำปัจจัยที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆต่อชุมชน และสังคมบ้าง เช่น ตั้งเป็นกองทุนเพื่อการศึกษาพระ เณร หรือเด็กวัดที่ขาดแคลน เป็นต้น ข้อสำคัญ ควรตัดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นออกไป ส่วนการฉลองหรือสมโภชองค์กฐิน ไม่ควรมุ่งความสนุกสนาน เพราะมิใช่วัตถุประสงค์ของการจัดกฐิน และที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การงดเลี้ยงสุราเมรัย และเล่นอบายมุขอื่นๆระหว่างการเดินทางหรือในระหว่างมีงาน สรุปได้ดังนี้
           ๑. พุทธศาสนิกชนควรทอดกฐินให้ถูกต้องตามความมุ่งหมายของกฐิน ได้แก่ การบำเพ็ญกุศลด้วยการถวายผ้ากฐิน แก่ภิกษุซึ่งอยู่จำพรรษาครบสามเดือนตามพุทธานุญาต
           ๒. การรวบรวมทุนที่มีผู้บริจาคเพื่อบำรุงวัดหรือสถานศึกษาในวัด ควรให้เป็นไปตามความ ศรัทธาของผู้บริจาค โดยมีเหตุผลอันสมควรเช่น ช่วยปฏิสังขรณ์วัดที่ทรุดโทรมให้มั่นคงถาวร สืบไป
           ๓. ในการเดินทางไปทอดกฐิน ณ วัดที่อยู่ห่างไกลซึ่งผู้จัดมักจะพ่วงวัตถุประสงค์ของการ ท่องเที่ยวไว้ด้วยนั้น ควรมีมาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้ที่จะเดินทางไปเป็นหมู่คณะ ทั้งนี้เพื่อความ ไม่ประมาท
           ๔. ควรงดเว้นการเลี้ยงสุราเมรัยในระหว่างเดินทางหรือระหว่างที่มีงานทอดกฐิน ทั้งนี้เพื่อให้การ บำเพ็ญกุศลเป็นไปด้วยความมีระเบียบเรียบร้อย
           ๕. ควรงดการใช้จ่ายในสิ่งที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น โดยยึดถือการจัดให้ประหยัดเป็นหลักสำคัญ
           ๖. การฉลองหรือสมโภชกฐินก่อนทอดนั้น ควรทำเพียงเพื่อประโยชน์ของการนัดหมายให้พร้อม เพรียงกัน และเพื่อเป็นการส่งเสริมศรัทธาของผู้มาร่วมงานเท่านั้น ไม่ควรมุ่งความสนุกสนาน อันมิใช่วัตถุประสงค์ของการทอดกฐิน ถ้ามีขบวนแห่เชิญผ้าพระกฐินไป ผู้เข้าขบวนควรแต่งกาย ให้เรียบร้อย ถ้ามีชบวนฟ้อนรำควรเลือกการแต่งกายชุดสุภาพเพื่อเป็นงานทางพระพุทธศาสนา
           ๗. การพิมพ์หนังสือแจกในงานกฐินนั้น จะมีหรือไม่ก็ได้ไม่เป็นการบังคับ แต่ถ้ามีควรเลือกพิมพ์ หนังสือที่มีสาระประโยชน์
           ๘. ในการพิมพ์ใบบอกบุญหรือฎีกาเพื่อเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธามาร่วมทำบญนั้น ไม่ควรพิมพ์ชื่อ บุคคลเป็นกรรมการโดยไม่รับอนุญาตจากเจ้าของก่อน
หากปฏิบัติได้ดังกล่าว เชื่อว่า การทำบุญทอดกฐินคงจะมีส่วนช่วยเสริมความงดงามทั้งศาสนสถาน และความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของพุทธศาสนิกชน สมกับ เป็นการทำบุญปีละครั้งที่มีคุณค่า ความหมายในทางพุทธศาสนาของเรา

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในเทศกาลกฐิน
 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา ความหมาย คุณค่า ความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน ตลอดจนจัดกิจกรรมได้ถูกต้องไม่เบี่ยงเบน
 ๑. จัดประชุมสัมมนา/เสวนา
           - ให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา ความหมาย คุณค่า ความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน
 ๒. รณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์
           - ให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา คุณค่า ความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน ตลอดถึง กิจกรรมที่เบี่ยงเบนออกไป
๓. ถ้ามีโอกาสได้จัดกิจกรรมในการทอดกฐิน
           - ควรจัดให้ถูกต้องตามประเพณีและเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง สำหรับกิจกรรมที่เสริมประเพณี ทอดกฐินควรจัดให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นและเอื้อต่อกันอย่างมี ประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ที่มา  :
http://www.culture.go.th/cday/index.php?option=com_content&view=article&id=660:2011-02-20-10-46-22&catid=252:2011-04-02-07-44-38&Itemid=82



























































วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พัดรองของหลวงพระราชทานงานฉลองวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม





           พัดรองของหลวงพระราชทานงานฉลองวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม พ.ศ. ๒๔๒๘
           ลักษณะ เป็นพัดหน้านางพื้นแพรสีแสด ตรงกลางพัดปักภาพพระมหามงกุฎ มีรัศมีประดับอุณาโลม ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า หรือพานทองสองชั้น เบื้องหน้าพานล่างพาดพระแสงขรรค์พระราชสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พานแว่นฟ้าขนาบด้วยฉัตรเก้าชั้นซึ่ขนาบด้วยพานเชิญพัดเบื้องซ้าย และเชิญผ้าจีวรอยู่เบื้องขวา พื้นพัดปักลายเครือเถาองุ่นวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ปีระกา สปตศก จศ ๑๒๔๗ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๔๘๒

ที่มา :

นิตรสารศิลปากร ปีที่ ๕๒ ฉบับที่ ๑ ม.ค. – ก.พ. ๒๕๕๒ หน้า ๑๐๕
 

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เขมรถิ่นไทย



เขมร Khmer ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic Language Family)

เขมรถิ่นไทยเป็นชื่อทางวิชาการ ได้กำหนดขึ้นเพื่อเรียกผู้ที่พูดภาษาเขมรซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย (ประกอบ 2538, น.1) โดยทั่วไปชาวเขมรถิ่นไทยเรียกตัวเองว่า “คแมร” หรือ “คแมร-ลือ” แปลว่าเขมรสูง เรียกภาษาเขมร และชาวเขมรในกัมพูชา ว่า “คแมร-กรอม” แปลว่า เขมรต่ำ และเรียกคนไทยว่า “ซีม” ซึ่งตรงกับคำว่า “สยาม” ใน ภาษาไทย (ประกอบ 2538, น.1) เมื่อพิจารณาเขตการปกครอง นักภาษาศาสตร์ได้แบ่งภาษาเขมรเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ภาษาเขมรเหนือหรือเขมรสูง (เขมรถิ่นไทย) 2) ภาษาเขมรกลางเป็นภาษาของผู้ที่ อยู่ในกัมพูชา 3) ภาษาเขมรใต้เป็น ภาษาของคนเวียดนามเชื้อสายเขมร ปัจจุบันพบชาวเขมรถิ่นไทยอาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ปราจีนบุรี ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว

นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าบริเวณที่ราบสูงโคราชเคยเป็นที่อยู่ของชาวขอมหรือชาวเขมรโบราณ ดูจากกลุ่มปราสาทขอมโบราณ ศิลาจารึก ประติมากรรม ที่พบมากในบริเวณดังกล่าว เช่น ปราสาทภูมิโปน ปราสาทไปรมัดน้อย ปราสาทพนาวัน ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น ชาวเขมรถิ่นไทยน่าจะอพยพมาสมัยหลังในช่วง พ.ศ.2324-2325 (ประกอบ 2538, น.15-16)

ครอบครัวของชาวเขมรถิ่นไทยมีความคล้ายคลึงกับครอบครัวไทยพื้นเมืองคือ พ่อบ้านเป็นหัวหน้าครอบครัวแม่บ้านดูแล กิจกรรมภายในบ้าน ชาวเขมรถิ่นไทยให้เกียรติแก่เพศชาย ในการดำเนิน กิจกรรม หรือตัดสินเรื่องต่าง ๆ ครอบครัวเขมรถิ่นไทยมี การอยู่รวมกันหลายครอบครัว อาจประกอบด้วยปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา พ่อแม่ ลูกหลาน พี่น้องจำนวนมาก ครอบครัวใดที่มีลูก สาวหลายคน สมาชิกก็มีแนวโน้มขยายมากขึ้น การแต่งงาน (แซนการ) ของชาวเขมรถิ่นไทยนี้ ผู้เป็นฝ่ายชายต้องเสียเงินและ บรรณาการให้ฝ่ายหญิง เพื่อเป็น การเปิดปาก (เบิกเมือด) ฝ่ายชายต้องจัดขันหมากไปให้ฝ่ายหญิง ประกอบด้วยหมู เหล้า ขนม ข้าวต้ม ผลไม้และ เงินทอง ฝ่ายหญิงต้องล้างเท้าให้ฝ่ายชายก่อนขึ้นบ้าน (ประกอบ 2538, น.27)

เขมรถิ่นไทยมีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ อาหารหลักของชาวเขมรถิ่นไทยคือ ข้าวเจ้า ปลาร้า เขมร ปลาจ่อม ปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาต้ม น้ำพริกจิ้มผัก ผลไม้ได้แก่ กล้วย น้อยหน่า มะม่วง มะพร้าวและขนม ได้แก่ ขนมโชค ขนมเนียล ขนมกันตาราง ขนมกระมอล ขนมมุก เป็นต้น

ชาวเขมรถิ่นไทยนับถือศาสนาพุทธ ช่วงเข้าพรรษาจะมีประเพณี “กันซง” ซึ่งเป็นประเพณีการถือศีล นำอาหารไปทำบุญ ที่วัด 8 วัน หรือ 15 วัน นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องผี บรรพบุรุษ จะมีประเพณีไหว้บรรพบุรุษ เรียกว่า ประเพณีเบ็นหรืองาน แคเบ็น ซึ่งตรงกับสารทไทย พิธีมงก็วลจองได เป็นพิธีสู่ขวัญแบบพื้นบ้าน นิยมจัดในงานมงคล เช่น งาน มงคลสมรส ขวัญนาค โกนจุก ยกเสาเอก ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น พิธีมอม็วด เป็นพิธีที่ทำเพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย โดยผู้เข้าทรงจะเชิญวิญญาณมาเข้าสู่ร่าง และจะมีผู้คอยซักถาม ว่าเหตุใดถึงได้เจ็บป่วย นอกจากนั้น ชาวเขมรถิ่นไทยยังเชื่อเรื่องโชคราง ของขลัง ฤกษ์ยามเครื่องราง ของขลังบางอย่างสามารถป้องกันภัยและรักษาโรคได้ (ประกอบ 2538, น.27)

การแต่งกายของชาวเขมรถิ่นไทย ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง (ซำป๊วด) ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีชื่อคือ ผ้าโฮล ผ้าอำปรุม ผ้าซิน ผ้าซาคู ส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง สำหรับเสื้อ ผู้หญิงใส่เสื้อ แขน กระบอก ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม เครื่องประดับจะเป็นเครื่องเงิน เรียกว่า ประเกือ็ม (ประคำ) นำมาร้อยเป็นสร้อย ต่างหู เป็นต้น (ประกอบ 2538, น.22) เขมรถิ่นไทย มีการละเล่น พื้น บ้านได้แก่ จเรียง เป็นการขับร้องหรือแหล่กลอนสด เนียะจเรียง หมายถึง ผู้ขับร้อง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเขมร จเรียงมีด้วยกันหลายประเภท เช่น จเรียงนอรแกว เป็นการร้องโต้ ตอบ ระหว่าง ชายหญิง จเรียงอาไย มีการรำประกอบการร้อง จเรียงซันตูจ เป็นการสนุกสนานของหนุ่มสาวซึ่งไปช่วยแต่งงานและงานมงคลในยาม ค่ำคืน จเรียงตรัว จะเป็นการร้อง ประกอบเสียงซอ จเรียงจรวง เป็นการร้อง ประกอบเสียงปี่ นอกจากนั้นยังมี กันตรึม เป็นการละเล่นประกอบดนตรี รำตรุษ เล่นในเทศกาลสงกรานต์ (แคแจด) รำสาก เป็นการรำ ประกอบเสียงดนตรี และเสียงกระทบสาก ผู้รำประกอบด้วยชายหญิงรำเป็นคู่ ๆ รอบวงกระทบสาก (ประกอบ 2538, น.29-30)

บรรณานุกรม
  • กาญจนา นาคสกุล. อ่านภาษาเขมร. กรุงเทพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524.
  • คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา. แซมซายฉบับพิเศษ. รวมประเพณีและพิธีกรรมท้องถิ่นในจังหวัดสุรินทร์, บุรีรัมย์ : เรวัตรการพิมพ์, 2533.
  • จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2519.
  • ------------. ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ไม้งาม, 2525.
  • ฉ่ำ ทองคำวรรณ. หลักภาษาเขมร. พิมพ์ครั้งที่ 1 พระนคร : ราชบัณฑิตยสถาน, 2503.
  • ปัญญา บริสุทธิ์. ชนชาติต่างๆ ในแหลมอินโดจีน. แปลจาก Les Peuples de la P?ninsula Indochinoise ของ G. Co?des (1962) กรุงเทพ : ไทยวัฒนาพานิช, 2525.
  • ไพฑูรย์ มีกุศล. “วัฒนธรรมแมน้ำมูลเชิงชาติพันธุ์วิทยาและประวัติสาสตร์ กรณีการผสมผสานกลมกลืนของกลุ่มชาติพันธุ์กวย เขมร และลาว.” วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล. กรุงเทพ : สารมวลชน, 2533.
  • มานิต วัลลิโภดม. สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน. สำนักพิมพ์การเวก, 2521.
  • สมคิด ศรีสิงห์. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์พิฆเนศ, 2533.
  • สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. ปราสาทเขาพนมรุ้ง. กรุงเทพ : พิฆเนศ, 2531.
  • สุรนี แก้วกลม. อักษรขอมที่ใช้บันทึกภาษาไทย. กรุงเทพ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2526.
  • สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. ระบบการเขียน (อ่าน) ภาษาเขมรถิ่นไทย. นครปฐม : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531.
  • Briggs,Lawrence Palmer. 1951. The Ancient Khmer empire. Philadelphia : American Philosophical Society. Vol. 41. 1951.
  • Chandler, David P. A History of Cambodia. San Francisco : West view Press.1992.
  • Coed?s.G. The Indianized States of Southeast Asia. Translated by Susan Brown Cowing, University of Malapa Press.1968.
  • Henderson, E.J.A. “TheMain Feature of Cambodian Pronuciation,” Bulletin of the School of Oriental and African Study 14:149-174. 1952.
  • Jacob, Judith M. Introduction to Cambodian. London : Oxford University Press.
  • Smalley, William A. “The problem of vowels : northern Khmer” Phonemes and orthography Language Planning in ten minority languages of Thailand. Pacific Linguistics, Series C 43: 43-48. 1976.

http://www.sac.or.th/databases/ethnic/Content/Information/khmer.html

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

โทรทัศน์ กับ อิทธิพลที่มีต่อสังคมไทย



                                โทรทัศน์ กับ อิทธิพลที่มีต่อสังคมไทย


                 มติชน วัน เสาร์ ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 02:03 น.


โดย กาลัญ วรพิทยุต

ถ้าย้อนกลับไปดูวิวัฒนาการของสังคมไทยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่า โทรทัศน์ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่โน้มน้าว และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต รวมถึงมีอิทธิพลต่อการกำหนดรูปแบบและทิศทางของผู้คนในสังคมไทย
วิวัฒนาการของโทรทัศน์เริ่มเข้าสู่สังคม ในช่วงสมัยที่มนุษย์ยังคงคุ้นเคยกับการสื่อสารด้วย การอ่าน จากสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นประกาศ หนังสือเล่ม หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนให้ความบันเทิง และเสริมสร้างจินตนาการให้กับคนในสังคมมาอย่างยาวนาน
จนวันหนึ่ง เมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้น เครื่องมือ ที่สามารถเป็นช่องทางในการสื่อสารได้ทั้ง ภาพและเสียง การสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของคนในสังคมก็เริ่มมีช่องทาง และทางเลือกมากขึ้น จากการที่มนุษย์ต้องอาศัยทักษะด้านการอ่านที่มีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน มนุษย์ก็สามารถมี ทางเลือกใหม่ ในการเปิดรับข่าวสารและความบันเทิงได้จากการ ดู ทางโทรทัศน์
แต่เดิมโทรทัศน์เป็นเครื่องมือที่ใช้ในด้านของการให้ข้อมูลข่าวสาร และความบันเทิง และมีกลุ่มผู้ชมอยู่ในวงจำกัด เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของ ราคา และ ช่องทางการรับสัญญาณ ที่เทคโนโลยีสมัยก่อนยังไม่เอื้ออำนวย สมัยก่อนโทรทัศน์ เปรียบเสมือน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง
ซึ่งแน่นอน เครื่องรับโทรทัศน์มีจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีฐานะเท่านั้น ไม่ได้แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน
จุดเปลี่ยนของโทรทัศน์จริงๆ เริ่มขึ้นหลังจากการเข้ามาของเครื่องรับ โทรทัศน์สี ที่ให้ความสมจริงของภาพ และสร้างความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมากเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ความสมจริงของโทรทัศน์สีนำมาซึ่งการตื่นตัวครั้งใหญ่ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางโทรทัศน์ให้แพร่หลายได้รับการยอมรับมากขึ้น มีสถานีโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น พร้อมกับใส่คำว่า โทรทัศน์สี เพื่อบ่งบอกถึงความทันสมัยเป็นอย่างยิ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โทรทัศน์ปรับตัว และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการออกอากาศรายการสด การรายงานข่าวด้วยรถถ่ายทอดที่ทันต่อเหตุการณ์ หรือการถ่ายทอดสดกีฬาต่างประเทศ ซึ่งมา ณ วันนี้สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ในสังคมไปแล้วจนไม่ สามารถแยกออกจากกันได้
ความรู้และความบันเทิงที่ผู้คนในสังคมได้รับจาก โทรทัศน์ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มหาศาล ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นโทษที่ไม่สามารถประเมินก็ได้ โทรทัศน์กลายเป็นสื่อแห่งการลอกเลียนแบบ พฤติกรรม ที่เป็นทั้งด้านดีและด้านลบ เช่น วัฒนธรรม ความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติและมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อมนุษย์ในยุค ปัจจุบัน
ประโยชน์ที่สำคัญของโทรทัศน์ คือ การให้ความรู้ในงานของข่าวสาร การชี้ให้สังคมตระหนักถึงโทษและอันตรายต่างๆ การสร้างความสามัคคีของคนในชาติ การปลูกฝังค่านิยมอันดีงามให้กับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย สิ่งเหล่านี้คือหน้าที่หลักและเป็นประโยชน์ที่โทรทัศน์ให้กับสังคม เมื่อมีด้านดีก็ต้องมีด้านที่ตรงกันข้าม
บ่อยครั้งที่โทรทัศน์ก็สร้างและเป็นตัวอย่างของพฤติกรรมที่ไม่ดีในสังคม เช่น ผลกระทบของเด็กที่เกิดจากการดูโทรทัศน์ การลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีงามจากรายการและละครทางโทรทัศน์ เช่น การชิงดีชิงเด่น การแก้แค้น การพูดจาด้วยภาษาที่ไม่สุภาพ การแต่งกายที่ล่อแหลม เป็นต้น
ในความเป็นจริงแล้ว ด้านสว่างและด้านมืดของโทรทัศน์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมจะไม่รุนแรงเท่าที่ เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้าโทรทัศน์ยังเป็นเพียง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เหมือนในอดีต เพราะในปัจจุบันโทรทัศน์ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เฉลี่ยในแต่ละบ้านจะมีเครื่องรับโทรทัศน์มากกว่าหนึ่งเครื่องมีพฤติกรรมการ ชมโทรทัศน์ในลักษณะเฉพาะบุคคล
ประกอบกับเครื่องรับโทรทัศน์มีราคาถูกลงและหาซื้อได้ง่ายขึ้น ผลกระทบของโทรทัศน์จึงมีมากเช่นกัน
หลายปีก่อนเราคงเคยได้ยิน พฤติกรรมการลอกเลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่กระโดดจากที่สูงเพราะเลียนแบบจากโทรทัศน์ พฤติกรรมทางเพศ เช่น การเบี่ยงเบนทางเพศ การแต่งกายที่ล่อแหลม ภาษาที่ใช้ที่ไม่เหมาะสมกับวัย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สังคมส่วนหนึ่งเริ่มตระหนักถึง และพยายามหาทางป้องกัน
สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ นอกจากความบันเทิงที่ได้รับจากโทรทัศน์ ละคร รายการสนทนา เกมโชว์ หรือรายการที่ให้ความรู้ไม่ว่าจะเป็นข่าว สารคดี และกีฬา สิ่งเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการนำเสนอตลอดเวลา โดยมีเพียงเหตุผลเดียว คือ การสร้าง ความพอใจสูงสุด สำหรับกลุ่มผู้ชมรายการ โดยบางครั้งอาจขาดซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
รายการโทรทัศน์รูปแบบใหม่ๆ จึงถูกนำเสนอออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรายการสารคดีกึ่งบันเทิงรายการเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย รายการ Reality Shows รายการท่องเที่ยว รวมถึงละครซิทคอมที่เริ่มแพร่หลายในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ารายการทางโทรทัศน์ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพล หรือ แรงบันดาลใจ มาจากรายการโทรทัศน์ในต่างประเทศ ซึ่งบางรายการก็เหมาะสมกับรสนิยมของคนไทย บางรายการก็มีผลที่ตรงกันข้าม
สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่สามารถตัดขาดจากการชมโทรทัศน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ความรู้มาก หรือน้อยแค่ไหน โทรทัศน์เป็นเครื่องมือที่สร้างความบันเทิงให้กับคนทุกเพศทุกวัย และเข้าถึงคนจำนวนมาก อย่างไม่มีสื่อชนิดอื่นใดมาทดแทนได้
โทรทัศน์จึงกลายเป็นความบันเทิงที่สามารถเข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนทางสังคมไทย ตั้งแต่อดีตปัจจุบัน และก้าวต่อไปสู่อนาคต ถึงแม้จะเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ
แต่อย่างไรก็ตามคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าโทรทัศน์เป็นสิ่งที่สร้างและทำลาย สังคมได้ ถ้าผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ขาดความรับผิดชอบ และตระหนักถึงความสำคัญที่โทรทัศน์มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก สามารถเปลี่ยนแปลงและกำหนดให้สังคมเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อนั้นโทรทัศน์ก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ให้ประโยชน์อย่างสูงสุด
ต่างจากสิ่งที่คนในสังคมส่วนหนึ่งตั้งคำถามถึงแต่เพียงโทษของโทรทัศน์เหมือนในปัจจุบันนั่นเอง



 ที่มา : http://news.sanook.com/scoop/0/scoop_100982.php

 9 พฤษภาคม 2557

วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พุทธศาสนากับสิ่งแวดล้อมทางสังคม


พุทธศาสนา กับ สิ่งแวดล้อมทางสังคม

 สิ่งแวดล้อมนั้น มิได้หมายความเอาเฉพาะสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เท่านั้น แต่ยังหมายถึง สิ่งแวดล้อมทางสังคม อันรวมถึงกลุ่มบุคคล สถาบันสังคม แบบอย่างทางวัฒนธรรม และ กระบวนการทางวัฒนธรรม ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทางสังคมนี้ มีนานัปการ เช่น
๑. เป็นแหล่งพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ช่วยทำให้ชีวิตอยู่รอด ถ้าปราศจากกลุ่มคน มนุษย์ไม่สามารถเกิดมา มีชีวิตอยู่รอดได้
๒. ช่วยกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกัน ได้อย่างเหมาะสม สถาบันสังคมแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว สถาบันเศรษฐกิจสถาบันศาสนา สถาบันการเมือง และสถาบันการศึกษา ต่างก็มีความสำคัญในแง่ที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบ ความสัมพันธ์ระหว่าง สมาชิกในสถาบันเดียวกันและต่างสถาบัน กล่าวคือ แต่ละสถาบันก็มีระเบียบ กำหนดบทบาทและสถานภาพของบุคคล แตกต่างกันออกไป ขณะเดียวกันก็มี การแนะนำบทบาทที่ถูกต้อง ให้แก่สมาชิกในแต่ละสถานภาพด้วย เช่น กำหนดบทบาทของครูกับนักเรียน ผู้กำกับ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นต้น
๓. ช่วยกำหนดวิถีชีวิต ค่านิยม และทัศนคติต่าง ๆ วัฒนธรรมในฐานะที่เป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคม อย่างหนึ่ง มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการกำหนดวางรูปแบบวิถีชีวิต รวมทั้งค่านิยมและทัศนคติ วัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งสะสมมานาน เป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างสมาชิก ดังนั้น ยังมีอิทธิพลต่อบุคคลเป็นอย่างมาก ความสำคัญของวัฒนธรรมนี้ อาจเห็นได้ในบทบาทที่วัฒนธรรมมีต่อสังคม และชีวิตในด้านอื่น ๆ อีก เช่น เป็นสํญลักษณ์ประจำชาติ ควบคุมความประพฤติของสมาชิก ทำให้สมาชิกเป็นปึกแผ่น ช่วยหล่อหลอมอุปนิสัยใจคอของบุคคล และช่วยสนองตอบความต้องการในขั้นสูงขึ้นไปอีก ทางจิตวิญญาณและทางอุดมคติ
ในบรรดาสิ่งแวดล้อมทางสังคม ดังกล่าวมานี้ หากสรุปให้สั้นลงแล้ว ก็รวมอยู่ในเรื่องของมนุษย์หรือบุคคล กับสิ่งที่มนุษย์ผลิตออกมานั่นเอง กลุ่มมนุษย์ จัดเป้นสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เป็นกัลยาณมิตร และอกัลยาณมิตร ตามหลักพระพุทธศาสนา สิ่งแวดล้อมที่เป็นกัลยาณมิตร เป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่จำเป็น และมีคุณประโยชน์ยิ่ง สำหรับการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่สังคม ลักษณะสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่เป็นมนุษย์ในฐานะเป็นกัลยาณมิตร พอสรุปได้ ดังนี้
๑. ช่วยเหลือปัองกันมิตรสหาย เมื่อมีความประมาท ๒. ไม่ทอดทิ้งกันและกัน ๓. แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๔. มีความจริงใจ
นอกจากนี้ องค์ประกอบของกัลยาณมิตร ยังหมายถึง คุณลักษณะของบุคคลที่มีลักษณะ ให้คำแนะนำ สั่งสอน เป็นที่ปรึกษา เป็นเพื่อน ตลอดจนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม มีการรู้จักเกื้อกูล สงเคราะห์ กระตุ้นเตือนให้เกิดปัญญา ด้วยการสนทนา การฟัง การอ่าน การซักถาม และยังประโยชน์ด้วยคุณสมบัติประจำตัวที่ดี คือ มีการดำเนินชีวิตที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความด่างพร้อย เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น เช่น พระพุทธองค์ พระสาวก และนักบุญทั้งหลาย
ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสังคม
ปัจจุบันนี้ เราพบว่า สิ่งแวดล้อมทางสังคม กำลังเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ซึ่งปรากฏตัวออกมาในรูปของ ปัญหาสังคมทั้งหลายนั่นเอง เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความยากจน ปัญหาการจราจร รวมทั้งปัญหาการเมือง และการศึกษา ที่ปรากฏออกมาในลักษณะต่าง ๆ เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวมานี้ หากวิเคราะห์โดยละเอียดแล้ว มีสาเหตุมาจาก บุคคล นั่นเอง เป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีสาเหตุจากแหล่งอื่นบ้าง ที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของคน แต่ก็เป็นส่วนน้อย บุคคลที่เป็นตัวก่อปัญหานี้ เรียกว่า เป็นอกัลยาณมิตรบ้าง ปาปมิตรบ้าง มีลักษณะตรงข้ามกับกัลยาณมิตร กลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเป็นปัญหา และก่อปัญหาแก่สังคมนี้ หากเป็นคนใกล้ชิด จะมีลักษณะดังนี้
- ชอบประจบสอพลอ
- มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว
- ไม่มีความจริงใจ
- มักจะทอดทิ้ง เมื่อไม่มีประโยชน์ หรือจะพาตัวให้เดือดร้อนไปด้วย
- มักพาไปในทางเสื่อมเสีย
- ต่อหน้ายกย่อง ลับหลังนินทา หรือวิจารณ์ในทางเสื่อมเสีย ฯลฯ
บุคคลที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสังคมนี้ มักจะเป็นคนประเภทรกโลก อาจทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิด เสียหายไม่เจริญก้าวหน้า และเป็นที่รังเกียจแก่คนอื่น
วิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสังคม
พุทธศาสนาสอนว่า เหตุเกิดจากอะไร ควรดับที่ต้นเหตุนั้น ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นลูกโซ่ตามมา ก็จะค่อย ๆ บรรเทาลงไปได้ ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า ตัวคน สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสังคม ก็คือ มนุษย์ หรือ คน เพราะมนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดมลภาวะของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ มนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคม มนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดการล่วงละเมิด และเสียระเบียบทางธรรมชาติและทางสังคม ดังนั้น การแก้ปัญหาอันดับแรก คือ ต้องแก้ที่ตัวบุคคล และการแก้ปัญหาตัวบุคคล ก็คือ การที่จิตใจและอุปนิสัยใจคอของบุคคลเสียก่อน
พุทธศาสนา ยังเน้นการพัฒนาบุคคลให้มีจิตใจที่ดี สุขภาพที่ดี มีความรับผิดชอบ ตระหนักถึงภารกิจ หน้าที่ที่จะต้องทำ รู้จักแยกแยะว่า อะไรผิดอะไรถูก นั่นก็คือ การสร้างบุคคลให้มีจิตใจที่เป็นสัมมาทิฏฐิ สลัดทิ้งมิจฉาทิฏฐิทั้งมวลออกไป ผู้ที่จะต้องปฏิบัติตน ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม อันดับแรกคือ ผู้นำสังคม ในระดับต่าง ๆ ถ้าหากผู้นำสังคมทั้งหลาย ปฏิบัติงานให้เป็นตัวอย่างแก่สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำตนเป็นกัลยาณมิตรอย่างจริงจังแล้ว คนอื่นก็จะปฏิบัติตาม ในแต่ละสถาบันของสังคมก็มีผู้นำ ซึ่งได้รับการยกย่องจากสมาชิก
สถาบันครอบครัว  มี  พ่อ แม่ เป็นผู้นำ
สถาบันการเมือง  มี  ผู้บริหารบ้านเมือง เป็นผู้นำ
สถาบันการศึกษา  มี  ครู อาจารย์ เป็นผู้นำ
สถาบันเศรษฐกิจ  มี  พ่อค้า นักธุรกิจ เป็นผู้นำ
สถาบันสื่อมวลชน  มี  นักหนังสือพิมพ์ นักประพันธ์ และผู้สื่อข่าว เป็นผู้นำ
สถาบันบันเทิง  มี  ดารา นักร้อง นักสร้าง เป็นผู้นำ
สถาบันศาสนา  มี  พระสงฆ์ เป็นผู้นำ
สถาบันวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มี นักคิด และปัญญาชน เป็นผู้นำ

ผู้นำดังกล่าว จะต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบ และควรจะทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม ผู้นำในทุกสถาบัน จะต้องทำตัวให้เหมือนทองที่บริสุทธิ์อยู่เสมอ เพราะ
"หากทองคำ กลายเป็นสนิมเสียเองได้แล้ว จะหวังไม่ให้ตะกั่ว และเหล็กทั้งหลาย ไม่เป็นสนิมได้อย่างไร"
Geoffrey Chaucer
สรุป
นิเวศวิทยา เป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่ง ทางสังคมวิทยา พุทธศาสนาสัมพันธ์กับนิเวศวิทยา ในด้านจริยธรรมต่อธรรมชาติ โดยสนับสนุน มิให้มีการทำลายธรรมชาติ และให้พยายามรักษาสภาพธรรมชาติ ไว้ให้มาก ทั้งนี้เพราะพุทธศาสนาถือว่า สิ่งที่ได้จากธรรมชาติ มีมากมายเกินกว่าจะประมาณค่าได้ ธรรมชาติให้ความสงบใจ และความรื่นรมย์แก่มนุษย์ การใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีผลช่วยให้บุคคลมีแนวโน้มที่จะพัฒนาความรู้สึกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ และรู้สึกรักธรรมชาติ ธรรมชาติทำให้บุคคลมีจิตใจบริสุทธิ์ และสะอาด และให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิต และนอกจากนี้ พุทธศาสนา ยังเน้นความสำคัญของบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ซึ่งจะมีผลช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมทางสังคม มีสภาพที่น่าอยู่ ปราศจากมลพิษทางสังคม


 ที่มา : http://www.gotoknow.org/posts/359541

8 พฤษภาคม 2557

ความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ กับ ธรรมชาติ ในทัศนะพุทธศาสนา


ความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ กับ ธรรมชาติ ในทัศนะพุทธศาสนา

ในทัศนะของพุทธศาสนา มนุษย์สัมพันธ์กับธรรมชาติในสองลักษณะ คือ
๑. การพยายามเอาชนะธรรมชาติ เพื่อนำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้
๒. การพยายามกำหนดความสำคัญของธรรมชาติ อย่างลุ่มลึก และมีทัศนคติโน้มน้าวในทางไม่ทำลายธรรมชาติ โดยมองเห็นว่า ในธรรมชาตินั้น มนุษย์สามารถมองเห็นความสงบและความร่มเย็น
ถ้าธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา และโลภจะได้ครอบครอง ธรรมชาติจะตกเป็นเหยื่อแห่งความปรารถนา มนุษย์จะพัฒนาทัศนคติในเชิงรุกราน และรุนแรงต่อธรรมชาติ มนุษย์จะมีความโลภ เพื่อใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงผลร้าย อันจะเกิดขึ้นในระยะยาว ไม่ว่าจะมีต่อตัวเขาเอง หรืออนุชนรุ่นหลัง ปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อม ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจนหมดสิ้น ปัญหาพลังงานวิกฤต ปัญหาความเสื่อมสลายของชุมชนในชนบท และ ปัญหาการเจริญเติบโตของชุมชนเมือง ที่เต็มไปด้วยอันตราย ปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่เนื่องจากมนุษย์ขาดจิตสำนึกที่ดีต่อธรรมชาติ
E.F. Schumacher เมื่อทำการเสาะหาจริยธรรม สันติภาพอันถาวร ได้มองเห็นความหวังบางอย่าง ในกิจกรรมของนักอนุรักษ์นิยม นักนิเวศวิทยา นักคุ้มครอง ชีวิตสัตว์ป่า และนักสนับสนุนเกษตรกรรม ที่เป็นระบบแบบแผนในการให้ข้อเสนอแนะ วิธีการแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างรุนแรงนี้ เขากล่าวว่า ผู้ที่มีทัศนะกว้างไกล มองเห็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เช่น อาชีพเกษตรกรรม เป็นต้นว่า สนองงานที่สำคัญอย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อให้มนุษย์มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติที่เป็นอยู่
๒. เพื่อให้มนุษย์มีความรักและความสุภาพ ต่อสิ่งมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติ
๓. เพื่อให้มนุษย์ มีอาหารและสิ่งของจำเป็นอย่างอื่น สำหรับการดำรงชีวิต
มโนทัศน์ของพุทธศาสนาที่มีต่อโลกของธรรมชาตินั้น มีขอบข่ายครอบคลุมถึงจักรวาลนี้ทั้งหมด ไม่ได้จำกัดแคบ ๆ อยู่เฉพาะกับโลกนี้เท่านั้นไม่ ในจักรวาลนี้มีกฏหลายอย่าง ที่ทำให้โลกดำเนินไปได้ เช่น กฏของโลกทางกายภาพ (อุตุนิยาม) กฏทางชีววิทยา (พีชนิยาม) กฏทางจิตวิทยา (จิตนิยาม) กฏทางศีลธรรม (กัมมนิยาม) และ กฏการยกจิตให้สูงขึ้น (ธัมมนิยาม) โดยการทำใจและการค้นพบกฏแห่งเหตุผลเหล่านี้ มนุษย์สามารถมีอิสรภาพและดำเนินชีวิตได้ อย่างถูกต้องและเหมาะสม พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงพิจารณามนุษย์ว่า เป็นผู้เกิดมาโดยบังเอิญ หรือกำหนดให้เกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ แต่มนุษย์มีอิสรภาพที่จะสร้างโลกในธรรมชาติของตน รวมทั้งชีวิตทางศีลธรรม และชีวิตชั้นสูงให้สอดคล้องกับกฏ แต่ความมีเหตุผลดังกล่าว ถ้ามนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างไม่สอดคล้องกับกฏดังกล่าวแล้ว มนุษย์ก็จะได้ชื่อว่าทำลายตนเอง ในที่สุด
คำสอนของพุทธศาสนามีขอบข่ายกว้างขวางมาก สามารถจะโยงไปถึงวิชาการต่าง ๆ ในโลกนี้ ได้อย่างเป็นระบบ แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับแนวทางศึกษาของผู้ที่สนใจ ในวิชาการทางนิเวศวิทยานี้ก็เช่นกัน มีหลักการทางพุทธศาสนาอย่างอื่น ที่สมควรจะนำมาพิจารณาเพิ่มเติมดังนี้
๑. การเข้าพรรษา
ถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในตอนเริ่มแรกสมัยพุทธกาลนั้น พระสาวกอธิษฐานเข้าพรรษาตามโคนต้นไม้ และตามป่า ไม่มีกุฎีที่อยู่ถาวรเหมือนเช่นปัจจุบัน วัตถุประสงค์ของการเข้าพรรษาก็คือ ให้พระภิกษุสงฆ์หยุดสัญจรในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลทำไร่นาของประชาชน ถ้าไม่มีการบัญญัติห้ามการสัญจร ในช่วงฤดูกาลดังกล่าว พระสงฆ์อาจจะเที่ยวย่ำยีไร่นาของประชาชน จนเกิดความเสียหายได้ ดังมีอุทาหรณ์บัญญัติเรื่องการเข้าพรรษานี้แล้ว
เหตุผลอีกข้อหนึ่ง สำหรับการเข้าพรรษา คือ การเปิดโอกาสให้พระสาวก หยุดสำรวจตัวเอง เพื่อจะได้ค้นพบว่า กิจที่ตนควรทำคืออะไร การเข้าพรรษาช่วยทำให้พระสาวกหยุดอยู่กับที่ สำรวจดูธรรมชาติ อันสงบร่มเย็นในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อจะได้บทเรียนจากธรรมชาติ แล้วอาศัยธรรมชาติรอบตัวนั้น เรียนรู้สภาพความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้กฏของธรรมชาตินั่นเอง เพราะฉะนั้น การเข้าพรรษาโดยไม่สัญจรไปที่อื่น เป็นเวลาสามเดือน จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พระสาวก มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด และมีโอกาสพิจารณากฏของธรรมชาติ รวมทั้งอาศัยความร่มรื่น และสงบเงียบ จากธรรมชาติในการแสวงหาสัจธรรมด้วย การทำเช่นนี้ ช่วยให้ได้พบกับสัจธรรมเร็วขึ้น และช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นด้วย แต่การเข้าพรรษาในปัจจุบัน อาจจะไม่ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างบนนี้ก็ได้ ถึงกระนั้นก็มีข้อที่ควรเปรียบเทียบกับอดีตไว้หลายประการ จริงอยู่ ปัจจุบันนี้ การเข้าพรรษาอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่ตามโคนต้นไม้ หรือตามป่าเช่นในสมัยก่อน แต่ก็อาจถือได้ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ หยุดสำรวจตัวเอง รวมทั้งธรรมชาติรอบด้าน ทั้งนี้เพื่อเป็นการขัดเกลากิเลส และอุปนิสัยใจคอ และมีเวลาในการปฏิบัติธรรมได้เต็มที่
การเข้าพรรษา ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับพระสงฆ์ เท่านั้นไม่ แต่มีความสำคัญสำหรับประชาชนทั้งหลายด้วย คือ ประชาชนได้มีพระภิกษุสงฆ์ที่จะทำบุญ ด้วยกันเป็นประจำในวัดตลอด อย่างน้อยสามเดือน ข้อนี้มีความสำคัญมากในท้องถิ่น ที่ไม่ค่อยมีพระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำในเวลาอื่น ฉะนั้น เวลาเข้าพรรษาจึงช่วยให้มีพระสงฆ์อยู่ประจำเป็นที่ และประชาชนก็ได้บำเพ็ญกุศลกับพระภิกษุอย่างสม่ำเสมอ ในเวลาเดียวกัน พระสงฆ์ก็สนองตอบศรัทธาของประชาชน โดยการอบรมสั่งสอน ให้ประชาชนงดเว้นจากการทำความชั่ว ประกอบแต่คุณงามความดีอย่างเดียว มีประชาชนไม่น้อยที่อธิษฐานตนงดเว้นจากการทำความชั่ว และจากการมัวเมาในอบายมุข เช่น ดื่มน้ำเมา เป็นต้น บางคนสามารถงดเว้นอบายมุขได้ตลอดไปเลย แม้จะออกพรรษาแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้น วาระเข้าพรรษาจึงเป็นการเกื้อหนุน ให้ประชาชนรักษาศีล ชำระจิตใจให้สะอาด มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติมากที่สุด
๒. อาราม และ ความสำคัญของอาราม
อาราม คือ สถานที่ให้ความรื่นรมย์ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อารามเป็นภาษาบาลี ในภาษาไทยก็คือ วัด นั่นเอง ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุสงฆ์มักจะอยู่ตามวัด ซึ่งมักจะเป็นสวน หรือป่าชานเมือง ไม่ได้อยู่ในชุมชนเช่นวัดในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ดังนั้น จึงมีชื่อว่า อาราม ซึ่งหมายถึง สถานที่ให้ความสงบ รื่นเริง และเป็นสุขแก่ผู้อยู่อาศัย
อาราม มีความสำคัญมาก สำหรับการบำเพ็ญสมณธรรมของพระสาวก การศึกษาพุทธประวัติ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับอารามหลายประการ กล่าวคือ อารามนอกจากจะเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์แล้ว ยังเป็นที่พักผ่อนฟังธรรมของประชาชนทั้งหลายอีกด้วย หลังจากเลิกงานในตอนเย็นแล้ว ประชาชนจะถือดอกไม้และของหอม (คันธมาลา) ไปบูชาธรรมและฟังเทศน์ ซึ่งอาจแสดงโดยพระสาวก หรือไม่ก็โดยพระพุทธเจ้าเอง ผู้ไปฟังธรรมมาจากทุกชั้นในสังคม ตั้งแต่ชั้นสูงสุด คือ ประมุขของประเทศจนถึงคนใช้ และคนยากจนเข็ญใจทั้งหลาย ด้วยบรรยากาศเงียบสงบ ห่างไกลจากความพลุกพล่านของธุรกิจ แต่ไม่ไกลชุมชนเท่าไรนัก อารามจึงกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของประชาชนอย่างดีที่สุด ซึ่งจะต้องมีความสะอาด เงียบสงบร่มรื่น วัดป่าบางแห่งในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ สืบเนื่องจากอารามหรือวัดป่าในสมัยพุทธกาลนั่นเอง
ปัจจุบัน อารามหรือวัดในเมืองไทยมี ๒ ประเภท คือ
- คามวาสี ได้แก่ วัดบ้านหรือวัดในชุมชน
- อรัญวาสี ได้แก่ วัดป่าหรือวัดที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน
วัดแบบแรก ดูจะไม่ค่อยหลงเหลือความรื่นรมย์ทางกาย เท่าไรนัก และไกลจากคำว่าอารามไปทุกที เพราะมีสิ่งปลูกสร้างแวดล้อมเต็มไปหมด ทั้งในบริเวณวัดและนอกกำแพงวัด


 ที่มา : http://www.gotoknow.org/posts/356876


 8 พฤษภาคม 2557


ทัศนะเชิงพุทธศาสตร์ เกี่ยวกับ นิเวศวิทยา

ทัศนะเชิงพุทธศาสตร์ เกี่ยวกับ นิเวศวิทยา
จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์

ความสำคัญของปัญหา
ปัจจุบันนี้ ชุมชนต่าง ๆ ของโลก กำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ปัญหามลพิษ (Pollution) ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ ความไร้ระเบียบของที่อยู่อาศัย ในชุมชนของประชาชน การมีที่อยู่อย่างไม่ถูกสุขลักษณะและอนามัย ความหนาแน่นของประชากร การทำลายธรรมชาติ และ การทำความสกปรกโดยประชาชนปัญหามลพิษนี้ กำลังคุกคามชุมชนเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อน จากผลแห่งมลพิษ อันแสดงออกมาในรูปอากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสีย และเสียงดังรบกวนเกินควร ปัญหาดังกล่าว มีสาเหตุร่วมกันอีกอย่างหนึ่ง คือ ความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ของชุมชนในด้านที่อยู่อาศัย และการอุตสาหกรรม จนถึงกับมีการทำลายสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ลำธาร และแร่ธาตุต่าง ๆ การพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกก็ดี หรือเพื่อการบริโภคภายในประเทศก็ดี ล้วนนำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และในขณะเดียวกัน ก็เป็นการทำลายธรรมชาติด้วย ความเจริญทางอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ล้วนมุ่งแต่เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ และข้อนี้ได้กลายเป็นดาบสองคม คือ ประการแรก ช่วยเอื้ออำนวยประโยชน์ แก่วิถีชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ทำให้มนุษย์มีการดำรงชีวิตที่สุขสบายยิ่งขึ้น ประการที่สอง การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมแบบใหม่ ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างฟุ่มเฟือย จนบางแห่ง มีปัญหาทางนิเวศวิทยา คือ การไร้ดุลยภาพของธรรมชาติ
จากการที่สังคมปัจจุบัน กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาดังกล่าวมานี้เอง จึงเป็นเหตุให้นักวิชาการต่าง ๆ หันความสนใจ มาศึกษาเรื่องนี้กันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเสนอแนววิธีการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการจัดระเบียบของสังคม และของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ถูกต้องเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อป้องกันการขยายตัวของปัญหา จนกระทั่งแก้ไขอะไรไม่ได้เลยในที่สุด ซึ่งจะมีผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตของมนุษย์ โดยส่วนรวม

วัตถุประสงค์
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง พุทธศาสนากับนิเวศวิทยานี้ จำกัดขอบข่ายอยู่เฉพาะในหลักคำสอนบางอย่างของพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับหลักการทางนิเวศน์วิทยา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเปิดเผยให้ทราบว่า พุทธศาสนาได้กล่าวถึงแบบอย่าง ความเป็นอยู่ของมนุษย์ และธรรมชาติโดยทั่วไปไว้อย่างไรบ้าง และพุทธศาสนา ได้เสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหามลพิษต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการไร้ความสมดุลของธรรมชาติ ไว้อย่างไรบ้าง วิธีการศึกษาส่วนใหญ่ จะมุ่งเปรียบเทียบหลักการทางทฤษฎีนิเวศน์วิทยา กับคำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา และข้อเขียนของนักปราชญ์ ทั้งฝ่ายพุทธและฝ่ายสังคมศาสตร์

ความหมายและขอบข่ายของ นิเวศวิทยา
นิเวศวิทยา แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า "Ecology" ตามพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยา อังกฤษไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า  "Ecology" หมายถึง
๑..  การศึกษาแบบอย่างของบริเวณใด บริเวณหนึ่งในด้านพื้นที่ กับการหน้าที่ เช่น บางแห่งใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัย บางแห่งใช้เป็นสถานที่ค้าขาย แบบอย่างนี้เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลง โดยทางกระบวนการกระทำระหว่างกัน ทางนิเวศวิทยา
๒..  การศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต กับถิ่นที่อยู่อาศัย
๓..  ตามความหมายเฉพาะทางมานุษยวิทยา นิเวศวิทยา หมายถึง การดัดแปลงวัฒนธรรมของมนุษย์ ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์
กล่าวโดยสรุป นิเวศวิทยามี ๓ ประการ คือ
๑..  มานุษยวิทยา คือ การศึกษาระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
๒..  นิเวศวิทยานคร คือ การศึกษาการกระจาย ในทางพื้นที่ของประชากร และสถาบันในชุมชนนคร
๓..  สมานชีวิตเชิงนิเวศวิทยา คือ การดำรงชีวิตร่วมกัน โดยการหาสมดุลทางนิเวศ เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เป็นเชิงส่วนตัว ของผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกันในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะ ทรัพยากรธรรมชาติจำกัด และมีหน้าที่ที่จะต้องสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของมนุษย์ และสัตว์อื่น ๆ ด้วย

เนื่องจากนิเวศวิทยามีขอบข่ายกว้างขวาง และมีหลายประการดังที่กล่าวไว้ข้างบนนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะกล่าวถึงนิเวศวิทยาในทุกลักษณะ ในที่นี้ได้โดยละเอียด เมื่อพิจารณาในส่วนที่สัมพันธ์กับหลักคำสอนของพุทธศาสนา ก็เห็นว่า มานุษยนิเวศวิทยาน่าจะนำมาวิเคราะห์ เป็นพิเศษในที่นี้ เพราะ ดูเหมือนว่า พุทธศาสนามีคำสอนหลายประการ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและมนุษย์ ดังนั้น การศึกษาในที่นี้จะมุ่งเฉพาะ มานุษยนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นวิชาการอย่างหนึ่ง ที่ประยุกต์ใช้ทฤษฎีนิเวศวิทยา เกี่ยวกับต้นไม้และสัตว์ ในการศึกษาชุมชนของมนุษย์

ความหมายของ มานุษยนิเวศวิทยา
๑..  George A. Theodorsan และ Archilles Theodorsan ให้คำจำกัดความมานุษยนิเวศวิทยาไว้ ๒ ประการ คือ
- มานุษยนิเวศวิทยา คือ การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
- มานุษยนิเวศวิทยา คือ การศึกษาโครงสร้างของชุมชน โดยการวิเคราะห์ถึง การกระจายของบุคคลและบริการต่าง ๆ ตามสถานที่ เวลา และ ภายใต้สภาพการณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ รวมทั้งทำการศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบบแผนการกระจายของบุคคล กลุ่มและบริการต่าง ๆ

๒..  Amos H. Hawley กล่าวไว้ว่า มานุษยนิเวศวิทยา คือ การศึกษา ระดับสังคมย่อย คือ ระดับปัจเจกภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นระดับที่เป็นผลมาจากการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด และอยู่บนพื้นฐานของการร่วมมือกันแบบแข่งขัน อย่างไม่เป็นกันเอง และไม่มีการวางแผนกันมาก่อน
๓..  Robert E. Park จำกัดความไว้ว่า มานุษยนิเวศวิทยา คือ ความพยายามที่จะศึกษากระบวนการ ที่ช่วยดำรงไว้ซึ่งความสมดุลตามธรรมชาติ และความสมดุลทางสังคม ก็จะช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงจาก ระเบียบกฏเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เป็นอีกอย่างหนึ่ง
อธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
คำนิยามศัพท์มานุษยนิเวศวิทยา ที่ว่าเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นการวิเคราะห์ถึง ความเกี่ยวข้องกันระหว่าง ความเป็นอยู่ของกลุ่มชน กับ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่กลุ่มชนอาศัยอยู่ กลุ่มชนนั้นหมายถึง ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทางสังคม อย่างเป็นแบบแผนของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป จนกลายเป็นระบบทางสังคมอย่างหนึ่ง เช่น ครอบครัว ละแวกบ้าน ชุมชน เป็นต้น
สำหรับสิ่งแวดล้อมหมายถึง
- สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ บรรยากาศ และ แรงถ่วงของโลก เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อมทางสังคม และ วัฒนธรรม แบ่งเป็น มนุษย์ พืช และสัตว์เลี้ยงทั่วไป, วัฒนธรรมทางวัตถุ อันเป็นผลผลิตของมนุษย์ และ วัฒนธรรมทางนามธรรม เช่น ทัศนคติ ความคิด ความต้องการ ค่านิยม ประเพณี กฏหมาย จริยธรรม และวัฒนธรรมทางนามธรรมอย่างอื่น ทุกอย่าง

คำนิยามที่สองของ Theodorsan นั้น มุ่งถึงการศึกษาโครงสร้างของชุมชน เป็นการวิเคราะห์ถึง ความสัมพันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ทางสังคม รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ความสัมพันธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ การวิเคราะห์ดำเนินไปในชุมชนใด ชุมชนหนึ่ง ในปีใดปีหนึ่ง โดยเฉพาะ และภายใต้สภาพการณ์ตามปกติ ข้อนี้สัมพันธ์กับกระจายหน่วยงานต่าง ๆ ทางสังคม และปัจจัยต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับ การกระจายหน่วยต่าง ๆ ทางสังคม ภายใต้โครงสร้างของชุมชนใด ชุมชนหนึ่ง โดยเฉพาะนั้นมีแบบแผนที่แน่นอน เช่น ที่ดินใจกลางเมืองมีราคาแพง เพราะเป็นเขตธุรกิจการค้า
คำนิยามที่แสดงโดย Hawley นั้น เป็นการวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยอยู่บนพื้นฐานของแนวความคิด ทางทฤษฎีชีวิวิทยาของ ชาร์ล ดาวิน คือ การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต ข้อนี้รวมเอาการต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่รอด ของกลุ่มชนในเมือง ในชนบท หรือในท้องถิ่น ทั่วไปในด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และสังคม เป็นต้น
การให้ความหมายโดย Park เกี่ยวกับมานุษยนิเวศวิทยานั้น เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ถึง ความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันระหว่าง กลุ่มชนหรือระบบสังคม กับ สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ อันประกอบด้วยสถานที่ตั้งของชุมชน ภูมิอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ดังกล่าวมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เป็นอย่างมาก เช่น กลุ่มชนที่อยู่ในแถบหนาว ย่อมมีวิธีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของแถบหนาว ส่วนกลุ่มชนที่อยู่ในแถบร้อน ก็มีวิธีการปรับตัวให้เข้ากับ สิ่งแวดล้อมของแถบร้อน นอกจากนี้ กระบวนการปรับตัวอย่างอื่น ให้เข้ากับความเหมาะสมของธรรมชาติ ถือว่าเป็นความสมดุลของธรรมชาติอย่างหนึ่ง ถ้าความสมดุลของธรรมชาติ ถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบกระเทือน กระบวนการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบ และจะส่งผลคือ ความเดือดร้อนให้แก่ผู้อาศัยโดยตรง