วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

กฐิน งานบุญแห่งปีในวิถีชาวพุทธ

กฐิน : งานบุญแห่งปีในวิถีชาวพุทธ
                                                                 เรื่อง...จิราภรณ์ เชื้อไทย
                                                                 ภาพ...ยงยุทธ รุกขชาติสุวรรณ, สุจินต์ เจตน์เกษตรกรณ์

ย่างเข้าเดือนสิบเอ็ด
คืนวันที่ฟ้าฉ่ำฝนผ่านเลยไปแล้ว อากาศเริ่มเย็นยะเยือกเมื่อสายลมเหนือพัดโลกหอมเอาความหนาวเหน็บมาเยี่ยมเยือน จำได้ว่าทุก ๆ ปี ในช่วงปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้ คุณย่าซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นในแดนอีสานจะเป็นเจ้าภาพนำกฐินไปทอดถวายยังวัดโน้นวัดนี้อยู่ไม่ขาดด้วยเชื่อว่าเป็นงานบุญแห่งปีที่ได้บุญกุศลแรง เพราะปีหนึ่ง ๆ จะมีเพียงครั้งเดียวและมีฤดูทอดที่เรียกว่า “กฐินกาล”ในช่วงเวลาระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น
ที่มางานบุญ และอานิสงส์ที่ได้รับ
หากท้าวความไป การทอดกฐินเป็นสิ่งที่ฉันพบเห็น และคุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็ก ๆ คุย่าเคยเล่าให้ฟังว่า เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องไทยธรรมอื่น ๆ บูชาแด่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ซึ่งในเอกสารหลายฉบับมีการสันนิษฐานตรงกันว่าประเพณีการทอดกฐินน่าจะเริ่มมีมาแต่แรกที่รับพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาในดินแดนไทย ซึ่งอาจยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยทวารวดี แต่ประกฎหลักฐานชัดเจนว่าชาวไทยได้ถือปฏิบัติบำเพ็ญบุญกุศลในเทศกาลกฐินเมื่อครั้งที่กรุงสุโขทัยเปนราชธานีดังปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่1 ว่า
“...คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทังชาว แม่ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทังสิ้นทังหลาย ทังผู้ชายผู้ญิง ฝูงท่วยมีศรัทาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อโอกพรรษา กรานกฐิน เดือนญื่งจี่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่ง หมอนโนน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัตกฐิน เถิงอไร ญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียง เรียงกันแต่อไร ญิกพู้น เท้าหัวลาน ดมบังคมกลอง ด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวงเที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก...”
ในศิลาจารึกดังกล่าวปรากฏทั้งคำว่า“กรานกฐิน” “บริวารกฐิน” (บริพานกฐิน) “สวดญัตติกฐิน” (สูดญัตกฐิน)ซึ่งคำดังกล่าวก็ยังคงใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าประเพณีการทอดกฐินนั้น อยู่คู่กับสังคมไทย ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชนมาช้านาน ดังปรากฏว่าชาวพุทธในประเทศไทยให้ความสำคัญกับงานทอดกฐินที่จัดขึ้นตามวัดต่าง ๆ มาก โดยถือว่าเป็นงานบุญสำคัญที่สุดงานหนึ่งในรอบปี บางวัดที่มีผู้ศรัทธามากอาจมีผู้จองเป็นเจ้าภาพทอดกฐินล่วงหน้ายาวเป็นสิบ ๆ ปี แสดงให้เห็นถึงศรัทธาของชาวพุทธในประเทศไทยที่ร่วมใจกันสืบทอดประเพณีนี้มาจนปัจจุบัน
โดยคำว่า “กฐิน” ตามภาษาบาลีนั้น แปลว่า “ไม้สะดึง”เป็นกรอบไม้สำหรับขึงผ้าให้ตึงเพื่อเย็บจีวรของพระภิกษุสงฆ์ได้สะดวกขึ้น เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีจักรเย็บผ้า หรือเครื่องมือที่จะใช้เย็บผ้าอย่างในปัจจุบัน ขณะเดียวกันการเย็บจีวรต้องเย็บหลาย ๆ ชิ้น ต่อกันและประสานกันให้มีรูปเหมือนคันนา จึงต้องอาศัยไม้สะดึงช่วยในการขึงผ้า ฉะนั้นผ้าที่ทำด้วยไม้สะดึงเพื่อการนี้โดยเฉพาะจึงเรียกว่า “ผ้าเพื่อกฐิน”และยังเรียกผ้ากฐินตามความหมายเดิมเรื่อยมาจนปัจจุบัน แม้ว่ามีผ้าสำเร็จรูปที่ทำเพื่อทอดกฐินโดยไม่ต้องอาศัยไม้สะดึงแล้วก็ตาม ซึ่งแต่เดิมนั้นกฐินเป็นเรื่องของสงฆ์โดยเฉพาะ พระภิกษุสงฆ์ต้องไปหาผ้ามาเองจากสถานที่ต่าง ๆ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วยวิธีบังสุกุลแล้วนำผ้านั้นมาเย็บย้อมเอง กว่าจะได้มาซึ่งจีวรที่นุ่งห่มจึงเป็นเรื่องยุ่งยากและลำบากอยู่ไม่น้อยกระทั่งครั้งหนึ่งมีพระภิกษุสงฆ์ชาวเมืองปาฐาซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศลจำนวน30 รูป ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถีก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อนพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ซึ่งมีระยะห่างไปราว 6 โยชน์ และเมื่อถึงวันออกพรรษาแล้วก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีโดยไม่มีการรั้งรอ แม้จะเป็นช่วงที่ฝนตกหนักน้ำท่วมอยู่ทั่วไป แม้จะต้องฝ่าแดด กรำฝน ลุยโคลน จีวรเปรอะเปื้อนอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ กระทั่งได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสมความตั้งใจ
เมื่อพระพุทธองค์ทราบถึงความลำบากของพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถรับผ้ากฐินได้ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วไป1เดือน (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)โดยพระภิกษุสงฆ์ผู้กรานกฐินแล้วคือนำผ้าที่มีผู้ถวายนั้นไปตัดเป็นจีวร หรือเครื่องนุ่งห่มอย่างใดอย่างหนึ่ง เย็บย้อมให้เสร็จภายในวันเดียว แล้วทำพิธีอนุโมทนาจะได้อานิสงส์ คือ ยกเว้นในการผิดวินัย 5ประการภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4)โดยสามารถเที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา ไม่ต้อถือไตรจีวรให้ครบสำรับ ฉันอาหารล้อมวงกันได้ ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา(ในพระวินัยกำหนดให้พระภิกษุสงฆ์เก็บผ้าจีวรเกินจากสำรับที่นุ่งไม่ได้ เก็บได้เพียงแค่ 10 วัน หลังจากนี้ต้องสละให้ผู้อื่นไป แต่ถ้ากรานกฐินแล้วเก็บได้เกินกว่านี้) และลาภที่เกิดขึ้นให้เป็นของพระภิกษุสงฆ์ผู้จำพรรษาในวัดนั้นซึ่งได้กรานกฐินแล้ว ทั้งนี้การที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดไว้ในพระวินัยว่าให้พระภิกษุสงฆ์ผู้กรานกฐินแล้วได้รับการยกเว้นเพราะเกิดปัญหา และข้อขัดข้องบางประการซึ่งก่อให้เกิดความลำบากแก่พระภิกษุสงฆ์ เช่น ต้องบอกลาถ้าอยู่คนเดียวก็บอกลาไม่ได้ การต้องเอาจีวรไปให้ครบ การฉันอาหารล้อมวงกันไม่ได้ เก็บจีวรสำรองไว้ไม่ได้ นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุสงฆ์ จึงมีพุทธานุญาตให้กรานกฐินได้ ซึ่งนับเป็นความดีความชอบประการหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของสงฆ์ต้องร่วมมือร่วมใจกัน พระพุทธองค์จึงทรงกำหนดข้อยกเว้นไว้ให้
ส่วนอานิสงส์สำหรับผู้ทอดกฐินนั้นเชื่อกันว่าได้บุญกุศลแรง เพราะปีหนึ่ง ๆ จะมีเพียงครั้งเดียว และมีฤดูกาลทอด เป็นผลให้ผู้ทอดมีจิตใจแจ่มใสและปีติยินดีในบุญกุศลที่ตนได้ทำไว้ นอกจากนี้ยังสามารถขจัดความโลภ โกรธ หลง โดยทางอ้อมได้อีกด้วย กล่าวคือ กำจัดความโลภในวัตถุทานที่ได้บริจาคแล้วนั้น กำจัดความโกรธ เพราะได้ฟังอนุโมทนาบุญนั้น กำจัดความหลงเข้าใจผิดเพราะทำด้วยมือของตนเองในบุญนั้นได้
กฐินหลวง กฐินราษฎร์
ด้วยอานิสงส์ที่เกิดขึ้นประเพณีการทอดกฐินจึงได้รับการยึดถือปฏิบัติเรื่อยมาในหมู่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ซึ่งในแต่ละปีวัดต่าง ๆ จะสามารถรับกฐินได้เพียงหนเดียวเท่านั้น และในปีหนึ่ง ๆ พระภิกษุสงฆ์ก็รับผ้ากฐินได้ครั้งเดียวเช่นกัน โดยผู้มีจิตศรัทธาจะนำเอาผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย5 รูป โดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะถวายแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งตามพระวินัยนั้นไม่ได้จำแนกการทอดกฐินออเป็นประเภทไว้แต่อย่างใด กล่าวแต่เพียงในส่วนการทำหรือรับผ้ามากรานกฐินของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาจากประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันในปัจจุบันแล้วก็อาจจำแนกประเภทของการทอดกฐินได้เป็น2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ กฐินหลวง และกฐินราษฎร์
กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดถวาย หรือ พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปทอดถวาย โดยเมื่อถึงกำหนดเทศกาลทอดกฐิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินยังพระอารามหลวง ในเขตที่ใกล้กับพระนครเป็นส่วนมาก โดยเริ่มพระกฐินหลวงตั้งแต่วันแรม 6 ค่ำ เดือน11 เป็นวันแรก แล้วกำหนดเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 2 วัด หรือ 3 วัด วันรุ่งขึ้น แรม 7 ค่ำ เดือน 11 พักหนึ่งวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไม่เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เจ้าพนักงานได้เตรียมการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินเป้นกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมาค จะต้องกำหนดในวันแรม 9 ค่ำ เดือน 11เนื่องจากวันนี้ทางจันทรคติปรากฏว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงพระนครจะขึ้นมากและนิ่ง ไม่ไหลขึ้นลง สะดวกในการที่จะจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สับเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี โดยพระอารามหลวงที่ทางราชการกำหนดเป็นวัดที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็นประจำปี ในปัจจุบันมี 16 วัด ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเทพศิรินทราวาส วัดราชาธิวาส วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดอรุณราชวราราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดโอรสาราม ในกรุงเทพฯ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม วัดสุวรรณดาราราม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
ส่วนพระอารามหลวงที่นอกเหนือไปจากทั้ง16 วัดนี้ เป้นหน้าที่ของกรมการศาสนา กล่าวคือ หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ขอพระราทานผ่านกรมการศาสนาเพื่อจัดบริวารกฐินพระราชทาน แล้วผู้ได้รับพระราชทานจัดเพิ่มเติม หรือจัดจตุปัจจัยสมทบเรียกกันว่า “กฐินพระราชทาน”แต่ถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปถวายวัดใด ๆ ตามพระราชอัธยาศัยจะเป็นพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์ก็ตาม เรียกว่า “กฐินต้น”ซึ่งโดยมากแล้วมักจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินยังวัดราษฎร์ที่ขาดการบูรณะ และถ้าหากสมเด็จพระสังฆราชประทับประจำที่วัดนอกจาก 16 วัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดนั้นเป็นประจำ การทอดกบินจึงเป็นพระราชประเพณีอย่างหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธุระบำเพ็ญพระราชกุศลสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินในสมัยก่อนนั้นจะมีการเสด็จพระราชดำเนินโดยพระบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารค และชลมารค ซึ่งจุดมุ่งหมายเดิมของการแห่พระกฐินด้วยกระบวนพยุหยาตรานี้ก็เพื่อตรวจตราพลรบ อาวุธยุทธภัณฑ์ และฝึกซ้อมรบทั้งทางบกและทางน้ำ
สำหรับ “กฐินราษฎร์” เป็นกฐินที่ราษฎรจัดทำขึ้น แบ่งออกเป็น มหากฐิน และจุลกฐิน โดยมหากฐินนั้น คือการนำผ้าสำเร็จรูปแล้วไปถวายพระภิกษุสงฆ์ดังที่นิยมทำกันอยู่ทุกวันนี้ มักนิยมเรียกกันว่า กฐิน ถ้ารวมกันออกทุนทรัพย์ร่วมกันจัดทอดเรียกว่า กฐินสามัคคี ส่วน จุลกฐิน เป็นกฐินอย่างหนึ่งที่ราษฎรจัดทำขึ้นเป็นพิเศษต่างจากกฐินธรรมดาทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายมาปั่น ทอเป็นผืน กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จภายในวันเดียว จุลกฐินจึงหมายถึงผ้าที่ทำสำเร็จมาจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในบ้างท้องถิ่นเรียกว่า กฐินแล่น ซึ่งแปลว่า รีบด่วน จึงเข้าความหมาย เพราะจุลกฐินเป็นกฐินที่ต้องเร่งทำให้เสร็จในวันนั้น มักจะทำในระยะเวลาจวนหมดเขตการทอดกฐิน เช่น ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือน 12โดยที่มาของจุลกฐินได้เริ่มขึ้นสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ทรงเห็นด้วยพระพุทธญาณว่าพระอนุรุทธเถระเจ้ามีจีวรที่เก่าคร่ำคร่าใช้การเกือบไม่ได้และก็เป็นเวลาจวนจะสิ้นสุดกฐินกาลแล้วจึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์ก็ออกไปช่วยหาผ้าบังสุกุลตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มีคนนำมาทิ้งไว้บ้าง ตามสุสานที่ชาวบ้านห่อศพมาทิ้งตามทางบ้าง หรือตามสุมทุมพุ่มไม้ ที่มีผู้ศรัทธานำมาทิ้งถวาย ซึ่งนิยมเรียกกันว่า ผ้าป่า ในปัจจุบันบ้าง เพื่อรวบรวมผ้าไปเย็บเป็นจีวรแต่ก็ยังได้ผ้าไม่เพียงพอ เมื่อทราบถึงนางเทพธิดา ซึ่งเคยเป็นปราณทุติยิกา (ภรรยาเก่า) ของพระเถระในชาติก่อน นางจึงได้เนรมิตผ้าทิพย์หมกไว้ในกองขยะ เมื่อพระอนุรุทธะผ่านมาพบเข้าจึงซักผ้าบังสุกุลแล้วนำไปสมทบในการทำจีวร ซึ่งการทำจีวรในครั้งนั้นพระพุทธองค์เสด็จเป็นประธาน และสนเข็ม พระสงฆ์สาวกพร้อมทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงได้ช่วยกันโดยพร้อมเพรียงนับว่าเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง โดยพระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ทำผ้าแล้วเสร็จในวันนั้นก่อนอรุณจะรุ่ง เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของหมู่พระภิกษุสงฆ์ หากชักช้าจะทำให้ผู้ครองผ้ากฐินไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่สามรถในการกรานกฐิน นอกจากนี้เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์จากที่พระพุทธองค์เสด็จเป็นประธานในที่นั้นด้วยซึ่งในอดีตความยากลำบากในการทำจุลกฐินตกอยู่กบพระภิกษุสงฆ์ แต่ปัจจุบันความยากลำบากนี้ตกอยู่กับผู้ทอด เพราะต้องจัดการทุกสิ่งทุกอย่างพระภิกษุสงฆ์จะเป็นเพียงผู้รับกฐินและนำไปกรานกฐินเท่านั้น ฉะนั้นจุลกฐินนี้คงมีเค้ามาจากการที่บางวัดไม่ได้รับกฐินหลงเหลืออยู่ และจวนหมดเขตทอดกฐินแล้ว ชาวบ้านจึงช่วยกันขวนขวายจัดทำเมื่อระยะเวลากระชั้นชิด อีกประการหนึ่ง สมัยก่อนผ้าสำเร็จรูปยังไม่มีขายประกอบกับลักษณะความเป็นอยู่แบบเลี้ยงตนเอง และเมื่อครอบครัวมีกิจการงานอย่างใดก็ร่วมมือกัน เมื่อต้องการผ้ากฐินอย่างรีบด่วนเช่นนี้จึงต้องหาทางและร่วมแรงร่วมใจกันให้เป็นผลสำเร็จ
จุลกฐินนี้ นิยมทอดกันในภาคเหนือ แพร่หลายมายังภาคกลางทางจังหวัดสุโขทัย และมาที่กรุงเทพฯในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1ซึ่งน่าจะนำมาจากราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โปรดให้ทำจุลกฐิน โดยการทำจุลกฐินนั้นถือว่าได้อานิสงส์มากกว่าการทอดกฐินธรรมดาหลายเท่าเพราะทำในช่วงเวลาจำกัด คือตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ ต้องใช้กำลังคนและทุนทรัพย์มาก ถ้าทำไม่ทันก็เป็นอันเสียพิธี ฉะนั้นเมื่อทำเสร็จทันเวลาจึงส่งผลต่อจิตใจของผู้ทำบุญเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีกฐินอีกประเภทหนึ่งเรียกว่ากฐินโจร ที่ราษฎรจัดทำขึ้นในเวลาจวนจะหมดเขตกฐินกาล คือในราว ๆ วันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือน 12ด้วยการสืบหาวัดที่ยังไม่ได้รับการทอดกฐิน และจัดหาผ้ากฐินไปทอด เรียกว่า กฐินตก กฐินตกค้าง หรือ กฐินจร ก็มี เพราะเป็นวัดที่ตกค้าง ไม่มีผู้ใดมาจองกฐินไว้ ซึ่งตามปกติการทอดกฐินต้องบอกกล่าวให้พระภิกษุสงฆ์วันนั้นทราบล่วงหน้า จะได้เตรียมการต้อนรับ และเพื่อไม่ให้มีการทอดกฐินซ้ำ แต่กฐินโจรนี้ไม่มีการบอกล่วงหน้า จู่ ๆ ก็ไปทอดเฉย ๆ เป็นการจู่โจมไม่ให้พระภิกษุสงฆ์รู้ แต่ก็ได้อานิสงส์แรงกว่าการทอดกฐินธรรมดามาก เพราะเป็นการอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ให้มีโอกาสกรานกฐินในระยะเวลาจวนจะหมดเขตการทอดกฐินอยู่แล้ว
ธรรมเนียมปฏิบัติประเพณีทอดกฐิน
ทุกวันนี้ นอกจากกฐินโจรแล้ว โดยธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อจะไปทอดกฐินยังวัดใดก็จำเป็นต้องแสดงความจำนงให้วัดนั้นทราบล่วงหน้าก่อน เรียกว่า “การจองกฐิน” ซึ่งจองได้เฉพาะวัดราษฎร์เท่านั้น สำหรับวัดหลวงจะต้องขอพระราชทานผ่านกรมการศาสนาก่อน และเมื่อจองแล้วก็จะมีการปิดประกาศไว้เพื่อให้รู้ทั่วกันว่าวัดนี้มีการจองกฐินแล้ว ถือกันว่าใครจองก่อนก็ได้ทอดก่อน แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธามากกว่าเป็นผู้ทอดก่อน ดังนั้นในคำจองจึงปรากฏชื่อผู้ทอด เป็นต้น
ทั้งนี้การจองกฐินก็เพื่อให้ทางวัดและชาวบ้านในละแวกนั้นเตรียมการต้อนรับ ทั้งเรื่องความสะดวกสบายและอาหารการกิน ครั้นถึงกำหนดวันงานเจ้าภาพจะต้องนำผ้าซึ่งจะนำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง อาจเป็นผ้าขาวที่ยังไม่ได้เย็บ เย็บแล้วยังไม่ได้ย้อม หรือย้อมแล้วก็ได้ เรียกว่า “องค์กฐิน”และ “บริวารกฐิน” ได้แก่ จตุปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องมีมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้มักจะมีผ้าห่มพระประธานในโบสถ์อย่างน้อยผืนหนึ่ง เทียนสำหรับจุดในการสวดพระปาติโมกข์ 24 เล่ม นำไปยังวัดที่จะทอด จะมีการสมโภชก่อนก็ได้ และเมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วจะฉลองต่ออีกก็ได้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ ซึ่งโดยมากแล้วการทอดกฐินจะกำหนดจัดงานกัน 2 วัน คือ วันตั้งองค์กฐินจะทำที่บ้านเจ้าภาพ หรือจะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นวันนำกฐินไปทอดที่วัด หากไปทางบกมักจะแห่งกฐินทางขบวนรถ หรือเดินขบวนกันไป มีแตรวง หรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้นถ้าไปทางเรือก็จะแห่กฐินทางขวนเรือสนุกสนานดังที่มีการกล่าวไว้ใน“นิราศเดือน” ว่า
“...เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระพรรษา ชาวพาราเซ้งแซ่แห่กฐิน ลงเรือเพียบพายยกเหมือนนกบิน กระแสสันธุ์สาดปรายกระจายฟอง สนุกสนานขานยาวฉาวสนั่น บ้างแข่งกันต่อสู้เป็นคู่สอง แพ้ชนะปะตาพูดจาลอง ตามทำนองเล่นกฐินสิ้นทุกปี...”
ในการแห่กฐินนั้น ไม่ว่าจะแห่ทางบกหรือทางน้ำมักจะแห่กันในตอนเช้าและเลี้ยงพระเพล ส่วนการทอดกฐินจะทอดในตอนเข้านั้นก็ได้ หรือทอดเพลแล้วก็ได้สุดแล้วแต่สะดวก สำหรับการเลี้ยงพระถ้าเป็นในชนบทชาวบ้านจะจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วยมีอาหารมากมายเหลือเฟือ เกี่ยวกับเรื่องนี้คุณย่าของฉันได้เล่าให้ฟังว่า
“พอมีงานบุญกฐินทีก็จะได้ยินเสียงครกตำน้ำพริกดังโป๊ก ๆ จากบ้านโน้น บ้านนี้ ตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสางแม่บ้านหลายบ้านต่างลุกขึ้นเข้าครัวทำกับข้าวกับปลาอย่างแข็งขัน ครั้นไก่โห่ พระย่ำกลอง พอฟ้าสว่างเห็นหน้าเห็นตากันถนัด ชาวบ้านก็จะนำข้าวปลาอาหารผลหมากรากไม้ไปร่วมบุญกฐิน ซึ่งทุกคนล้วนแต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่หลากสีสันสดใส หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเจรจาทักทายกัน”
สำหรับการถวายกฐิน เมื่อคณะสงฆ์มาประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพจะอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระภิกษุสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ หากเป็นกฐินสามัคคีก็มักจะเอาด้ายสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกันแล้วหัวหน้าผู้ทอดจะกล่าวนำคำถวายครั้นจบแล้วพระภิกษุสงฆ์จะรับว่า“สาธุ” เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งหรืออาจวางไว้ข้างหน้าคณะสงฆ์ก็ได้ จากนั้นจะถวายบริวารกฐินเลยก็ได้ พระภิกษุสงฆ์อนุโมทนาก็เป็นอันเสร็จพิธี หรือจะรอฟังพระภิกษุสงฆ์ “อปโลกนกรรรม” จึงจะถวายบริวารกฐินก็ได้
การทำอปโกลนกรรมที่ว่า คือการประกาศมอบผ้ากฐินแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งมีจีวรเก่า มีพรรษามาก สามารถกรานกฐินได้ถูกต้อง ฉลาด มีความรอบรู้ธรรมวินัย เป็นต้น โดยพระภิกษุสงฆ์ 2 รูป จะสวดออกนามพระภิกษุสงฆ์ที่จะเป็นผู้รับผ้ากฐินเพื่อเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมสงฆ์ เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านพระภิกษุสงฆ์อีก 2 รูป ก็จะสวดประกาศซ้ำเป็นภาษาบาลี เรียกว่า “ญัตติทุติยกรรม”เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านก็เป็นอันว่า พระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับการเสนอนามเป็ฯผู้รับผ้ากฐินไป เมื่อเสร็จแล้วพระภิกษุสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันหมดภาระหน้าที่ของเจ้าภาพ
เมื่อเสร็จพิธีแล้วอาจมีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอานิสงส์กฐินหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งบางแห่งอาจจัดให้มีการสนุกสนานรื่นเริง มีการแข่งเรือ เล่นเพลงเรือ เป็นต้น หลังจากนี้ก็เป็นพิธีกรานกฐินซึ่งเป็นหน้าที่ของสงฆ์โดยเฉพาะ และเมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วมักจะปักธงรูปจระเข้ไว้ที่วัดด้วย จะเป็นที่ศาลาวัด หน้าโบสถ์ หรือที่ใด ๆ ที่เห็นง่ายเพื่อแสดงว่าวัดนั้นทอดกฐินแล้ว

ที่มา:
จิราภรณ์ เชื้อไทย. (2555). “กฐิน : งานบุญแห่งปีในวิถีชาวพุทธ.”Thailand Geographic.
ปีที่ 8 ฉ. 133 : 156-189
เอกสารอ้างอิง
ศิลปากร,กรม. ประเพณีวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ศาสนา,กรม. ศาสนพิธี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
สมทรง ปุญญฤทธิ์. (2525). เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมไทย.
กรุงเทพฯ : ธรรมบูชา.
http://www.photogangs.com/webboard/index.php?showtopic=8544&st=0&p=169401&
ขอขอบคุณ
สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อนุเคราะห์ภาพประเพณีทอดผ้าป่าประกอบสารคคดี
โรงเรียนลานกระบือวิทยา อนุเคราะห์ภาพกิจกรรม ทอดผ้าป่าสามัคคี ประกอบสารคดี

ไม่มีความคิดเห็น: