นัยยะธงจระเข้ในประเพณีทอดกฐิน
ในพิธีทอดกฐินจะมีการใช้ธงแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ธงจระเข้” นำขบวนแห่ โดยเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยางประมาณ 2 ศอก กว้าง 1 ศอก ปลายทั้ง 2ข้าง เย็บเป็นซองขวางผืนธง เพื่อสอดไม้ท่อนกลมโตชนาดนิ้วก้อย ยาวกว่าความกว้างของผืนธงออกมาข้างละ 1 นิ้ว สำหรับผูกแขวนธงตอนบนข้างหนึ่งกับใช้ถ่วงชายธงตอนล่างอีกข้างหนึ่ง ในผืนธงเขียนเป็นรูปจระเข้ตามความยาวของผืนผ้า เอาหัวไว้ข้างบน หางเหยียดไปทางปลายธง ปากคาบดอกบัว 3 ดอก ซึ่งธงจระเข้นี้ทำขึ้นตามคติความเชื่อหลายนัยยะด้วยกัน
ประการแรก ในสมัยโบราณชาวบ้านนิยมแห่ผ้ากฐินไปทอดตามวัดต่าง ๆ โดยอาศัยเรือเป็นสำคัญ แต่การเดินทางไปตามลำน้ำมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ เช่น จระเข้ขึ้มาหนุนเรือให้ล่มบ้าง ขบกัดผู้คนบ้าง คนสมัยก่อนหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือไว้เป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ เช่น จระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้ายกว่าสัตว์อื่น ๆ ในน้ำ ได้รับทราบถึงการบุญการกุศลจะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง ไม่คิดที่จะทำอันตรายแก่ผู้คนในขบวนซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนา
ประการต่อมา เนื่องจากถือกันว่าดาวจระเข้เป็นดาวสำคัญในการเคลื่อนขบวนทัพในสมัยโบราณต้องคอยดูดาวจระเข้ขึ้นซึ่งเป็นเวลาจวนสว่างแล้ว เช่นเดียวกับการทอดกฐินซึ่งเป็นพิธีทำบุญที่มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่เพราะทำในเวลาจำกัด มีความสำคัญเทียบเท่ากับการเคลื่อนขบวนทัพ โดยแต่เดิมนั้นผู้จะไปทอดกฐินต้องเตรียมเครื่องบริขาร และผ้าองค์กฐินไว้อย่างพร้อมเพรียง แล้วแห่ไปวัดในเวลาดาวจระเข้ขึ้นไปแจ้งเอาที่วัด ต่อมาภายหลังจึงมีผู้คิดทำธงจระเข้ขึ้นด้วยถือว่าดาวจระเข้เป็นดาวบอกเวลาเคลื่อนองค์กฐิน
ประการสุดท้าย มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่ามีอุบาสกคนหนึ่งนำองค์กฐินแห่ไปทางเรือ จระเข้ตัวหนึ่งเกิดอยากได้บุญในการทอดกฐินจึงว่ายน้ำตามอุบาสกนั้นไปด้วย แต่พอไปได้สักพักจระเข้ก็ได้บอกแก่อุบาสกว่าตนตามไปด้วยไม่ได้แล้วเพราะเหนื่อยอ่อนเต็มที ขอให้อุบาสกจ้างช่างเขียนภาพของตนที่ธงแล้วยกขึ้นไว้ในวัดที่ไปทอดกฐินด้วย อุบาสกจึงรับคำแล้วทำตามที่จระเข้ร้องขอ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาธงรูปจระเข้จึงปรากฏตามวัดต่าง ๆ ในเวลาที่มีการทอดกฐิน
ธงจระเข้จึงมีความสำคัญในฐานะของการเป็นเครื่องหมายการทอดกฐินในสมัยก่อนซึ่งเมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็จะต้องนำธงจระเข้นี้ไปปักไว้หน้าวัดเพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมารู้ว่าวัดนี้ได้ทอดกฐินแล้ว ผู้คนในสมัยก่อนก็ยกมือขึ้นอนุโมทนาในการกุศลกฐินด้วย
ที่มา:
จิราภรณ์ เชื้อไทย (2555 : 186)
จิราภรณ์ เชื้อไทย. (2555). “กฐิน : งานบุญแห่งปีในวิถีชาวพุทธ.”Thailand Geographic.
ปีที่ 8 ฉ. 133 : 156-189
เอกสารอ้างอิง
ศิลปากร,กรม. ประเพณีวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ศาสนา,กรม. ศาสนพิธี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
สมทรง ปุญญฤทธิ์. (2525). เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมไทย.
กรุงเทพฯ : ธรรมบูชา.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น