วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2555

ความเป็นมาของกฐิน


           แม่ชีวิไล ลักษ์แก้วมณีศรี  (2550 : 3) กล่าวถึงการทอดกฐินมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลโดยพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบสามเดือนรับผ้ากฐินเพื่อผลัดเปลี่ยนจีวรใหม่ ส่วนการทอดกฐินในประเทศไทยนิยมปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาถึงราษฎรได้เชิดชูการทอดกฐินว่าเป็นบุญพิเศษที่สำคัญประจำปีตลอดมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินที่พระอารามหลวงเป็นประจำทุกปีส่วนราษฎรมีการรวมตัวกันจัดนำกฐินไปทอดตามวัดที่ตนศรัทธาเลื่อมใสในสถานที่ต่าง ๆ แม้ว่าพิธีกรรมการทอดกฐินจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แต่แก่นแท้หรือจุดประสงค์หลัก คือการนำผ้ากฐินมาถวายแก่พระสงฆ์นั้นไม่เปลี่ยนแปลง ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญต่อประเพณีการทอดกฐิน มีความเชื่อความศรัทธาในผลบุญที่ได้รับจากการทอดกฐิน

แม่ชีวิไล ลักษ์แก้วมณีศรี.  (2550).  รูปแบบ และพิธีกรรมในประเพณีการทอดกฐินของไทย.  ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

ประเภทของการทำบุญกฐิน


           สมชาย ใจดี และยรรยง ศรีวิริยาภรณ์ (2536 : 76) กล่าวถึงการทำบุญกฐินพิเศษกว่าการทำบุญอย่างอื่นประการ คือ 1.กฐินจำกัดประเภททาน คือ ต้องเป็นสังฆทานอย่างเดียวเท่านั้น เจาะจงรพระรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้ 2.กฐินจำกัดเวลา คือ ต้องถวายภายในเวลาจำกัดภายใน 29 วันนับแต่วันออกพรรษาคือ เริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 ตรงกับวันลอยกระทงซึ่งเป็นวันสุดท้ายของฤดูกาลถวายกฐิน 3.กฐินจำกัดงาน คือ พระรับผ้า ต้อง ตัด เย็บ และครองในวันนั้นให้เสร็จภายในวันนั้น 4.กฐิน จำกัดของ คือถวายผ้าจีวรสงบหรือสังฆาฎิผิใดผืนหนึ่งจึงจะเป็นกฐิน ถ้าถวายของอื่นไม่เป็นกฐินจัดเป็นบริวารกฐิน 5.กฐินจำกัดผู้รับ พระที่รับต้องเป็นพระจำพรรษาวัดนั้น พรรษาไม่ขาดตลอด 3 เดือน และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูปขึ้นไป ต้องลงรับกฐินโดยพร้อมเพรียงกัน 6.กฐินจำกัดคราว คือ การรับกฐินวัดหนึ่ง ๆ รับกฐินได้ครั้งเดียวใน 1 ปี 

สมชาย ใจดี และยรรยง ศรีวิริยาภรณ์.  (2536).  ประเพณีและวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพมหานคร สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

อานิสงส์กฐิน


ปพิชญา วรสารพิสุทธิ์  (2550 : 50-51) กล่าวถึง อานิสงส์กฐิน ตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ พระบรมศาสดาที่มีพระนามว่า พระปทุมมุตตระ เทศนาไว้ว่า อานิสงส์ของกฐินมีมากเป็นกรณีพิเศษ ทั้งคนถวายกฐินและร่วมถวายกฐินทานจะให้ผลดังนี้1.เมื่อตายจากความเป็นคนจะไปเกิดเป็นเทวดาและลงมาจุติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองประเทศทั่วโลก มีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต 500 ชาติ2.เมื่อบุญแห่งความเป็นจักรพรรดิสิ้นไป บุญหย่อนลงมาจะเป็นพระมหากษัตริย์ 500 ชาติ 3.เมื่อบุญแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์หมดไป ก็เกิดเป็นเศรษฐี 500 ชาติ 4.เมื่อบุญแห่งความเป็นเศรษฐีหมดไป ก็เกิดเป็นอนุเศรษฐี 500 ชาติ 5.เมื่อบุญแห่งความเป็นอนุเศรษฐีหมดไป ก็เกิดเป็นคหบดี 500 ชาติ

ปพิชญา วรสารพิสุทธิ์.  (2550).  การสื่อสารเพื่อสร้างความสามัคคีของชุมชนผ่านการทำงานบนเครือข่ายการสื่อสารและสื่อพิธีกรรมบุญจุลกฐิน.  ปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตรพัฒนาการ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วันทอดกฐิน


          ธนากิต  (2541 : 240)  กล่าวถึง  เมื่อก่อนถึงวันทอดกฐิน เจ้าภาพ ก็จัดเตรียมเครื่องกฐินไว้ให้พร้อม ตั้งองค์กฐินไว้ที่บ้านหรือสถานที่กำหนด เพื่อให้เพื่อนบ้านได้มีโอกาสร่วมอนุโมทนา และบริจาคร่วมบุญกุศล ครั้นถึงวันสุกดิบ จึงแห่ขบวนกฐินไปตั้งที่วัดในตอนเย็น มีมหรสพเฉลิมฉลอง หรือบางแห่งอาจทำการเฉลิมฉลองกันที่บ้านเจ้าภาพซึ่งเป็นที่ตั้งองค์กฐิน แล้วในตอนเช้าของวันทำพิธีทอด จึงแห่ไปที่วัด ในการแห่กฐินนี้ ทำได้ทั้งทางบกและทางน้ำหากบ้านหรือวัดอยู่ใกล้แม่น้ำ จะมีขบวนแห่เถิดเทิงกลองยาวเป็นที่ครึกครื้นในคืนวันสุกดิบ จะมีการนิมนต์พระมาสวดพุทธมนต์เป็นการฉลองกฐิน เสร็จแล้วจึงมีมหรสพสมโภชหรือการละเล่นของชาวบ้าน


ธนากิต.  (2541).  วันสำคัญของไทย.  กรุงเทพฯ ชมรมเด็ก.

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเภทของประเพณีไทย


          สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์ (2536 : 16-18) ได้แบ่งประเพณีไทย เป็น 3 ประเภท คือ
           1. จารีตประเพณี หรือกฏศีลธรรม หมายถึงสิ่งที่สังคมยึดถือ และปฏิบัติสืบทอดกันมาโดยมีเรื่องของศีลธรรมเข้ามาร่วมด้วย
           2. ขนบประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่สังคมได้กำหนดไว้แล้วมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาทั้งทางตรง และทางอ้อม กล่าวคือทางตรง ได้แก่ ประเพณีที่มีการกำหนดระเบียบแบบแผน และทางอ้อม ได้แก่ ประเพณีที่รู้กันทั่วไป
           3. ธรรมเนียมประเพณี หมายถึง ประเพณีที่เกี่ยวกับเรื่องธรรมดาสามัญ เป็นเรื่องที่นิยมทำและถือปฏิบัติสืบต่อกันในแต่ละสังคม เช่น การแต่งกาย การเข้าสังคม และการพูด

สมปราชญ์ อัมมะพันธุ์. (2536). ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดีไทย.
           กรุงเทพฯ โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์.

ความหมายของประเพณี


          สุมานิการ์ จันทร์บรรเจิด  (2551 : 158-159) กล่าวว่า ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำจำกัดความของประเพณีว่าหมายถึง สิ่งที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาจนเป็นแบบแผน สวนพระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงความหมายของประเพณีไว้ในหนังสืออนุสรณ์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช (2513 : 13) ว่า ประเพณี หมายถึง ความเชื่อ ความคิด การกระทำ ค่านิยม ทัศนคติ ศีลธรรม จารีต ระเบียบแบบแผน และวิธีการกระทำหรือการประกอบพิธีกรรมในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งเชื่อถือและปฏิบัติสืบทอดกันมานานจนกลายเป็นแบบอย่างของความคิด ความเชื่อ และการกระทำนั้น จากความหมายของประเพณีดังกล่าวข้างต้น อาจสรุปได้ว่า ประเพณี คือ แนวทางปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา จนกลายเป็นแบบอย่างของความคิด และการกระทำของสังคมนั้น

สุมานิการ์ จันทร์บรรเจิด.  (2551).  พื้นฐานอารยธรรมไทย.  กรุงเทพฯ : ทริปเพิ้ล
           เอ็ดดูเคชั่น.

ประเภทของกฐินในประเทศไทย


      เสนาะ ผดุงฉัตร  (2544 : 5-7) ตามพระวินัยบัญญัติ กฐินมีเพียงอย่างเดียวแต่ในประเทศไทยปัจจุบันจัดกฐินเป็นประเภท 4 ประเภท คือ 1.กฐินหลวง ได้แก่ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้ากฐินทั้งวัดหลวงและวัดราษฎร์ 2.กฐินต้น ได้แก่ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเส็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน วัดราษฎร์โดยไม่ได้เสด็จไปเป็นทางการหรืออย่างเป็นพระราชพิธี 3.กฐินพระราชทาน ได้แก่ กฐินที่พระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานผ้าของหลวง แก่ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพื่อไปถวายยังพระอารามหลวง 4.กฐินราษฎร์ ได้แก่ กฐินที่ราษฎรหรือประชาชนทั่วไปผู้มีจิตศรัทธา นำผ้ากฐินของตนไปทอดถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งทั้งในและนอกราชอาณาจักร ยกเว้นวัดที่กล่าวไว้ในรายการของกฐินหลวง

เสนาะ ผดุงฉัตร  (2544).  ศัพท์ที่ควรรู้สำหรับชาวพุทธ.  กรุงเทพฯ โรงพิมพ์การศาสนา.

ระยะเวลาของกฐิน


           พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ : 2546) ได้อธิบายเรื่องของกฐิน เป็นสังฆทาน แต่พิเศษกว่าสังฆทานธรรมดาอีกมาก เพราะกฐินเป็นกาลทานทอดได้เฉพาะกาลซึ่งมีกำหนดเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น วัดหนึ่ง ๆ ในปีหนึ่งก็ทอดได้เพียงหนเดียว การทอดกฐินเป็นการต่ออายุพระสงฆ์ให้ยืดยาวออกไปอีก คือช่วยรักษาสิกขาวินัยของพระเป็นเหตุให้พระได้รับอานิสงส์ 5 ประการ มีการอยู่ปราศจากไตรจีวรได้ เป็นต้น คือจะไปค้างคืนที่ไหนไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับก็ไม่ต้องอาบัติ กฐินเป็นสังฆกรรมอันสำคัญมากเพราะพระสงฆ์ตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไปจึงจะรับกฐินได้ พระสงฆ์ทุก ๆ รูปจะต้องช่วยกันทำจีวรให้เสร็จภายในวันนั้น กฐินนี้จะสำเร็จได้ต้องอาศัยการสวดญัตติทุติยกรรมวาจา ภายในสีมาเท่านั้น

พระธรรมธีรราชมหามุนี (2546).  กฐิน ผ้าป่า อานิสงส์ กรุงเทพฯ วัดมหาธาตุ.

ความเข้าใจเรื่องบุญกฐินของชาวพุทธ


          อุดร จันทวัน (2546) ได้ศึกษาเรื่องความเข้าใจเรื่องบุญกฐินของชาวพุทธ ศึกษากรณีจังหวัดขอนแก่นได้สาระสังเขปว่า การทำบุญกฐินเป็นบุญที่ชาวพุทธไทยนิยมและเต็มใจทำอย่างยิ่งไม่แพ้บุญบวชหรือบุญผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต เพราะมีความเชื่อว่าเป็นบุญที่ทำได้ยากมิใช่จะทำได้บ่อย ๆ ด้วยมีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งด้านปฏิคาหก (ผู้รับ) และทายก (ผู้ให้หรือผู้เป็นเจ้าภาพจัดทำ) และมีความเชื่อว่าถ้าได้ทำบุญกฐินแล้วจะไม่ตกนรก เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วจะไม่ได้ไปสู่ภพที่ต่ำ บุญกฐินเป็นกาลทานผู้ทำจะได้รับอานิสงส์มากเวลาที่ทำกฐินได้คือระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 เดือน 12 ของแต่ละปี

อุดร จันทวัน. (2546).  บทศึกษาวิจัยย่อย เรื่องความเข้าใจเรื่อบุญกฐินของ ชาวพุทธ.  ขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น.

การทำบุญทอดกฐิน


           สมชัย ใจดีและยรรยง ศรีวิริยาภรณ์ (2535 : 76)  ได้กล่าวถึงการทำบุญทอดกฐินว่ามีความแตกต่างจากการทำบุญอื่น ๆ กล่าวคือ.กฐินจำกัดประเภททาน คือต้องถวายเป็นสังฆทานอย่างเดียวเท่านั้น จะเจาะจงถวายพระรูปหนึ่งรูปใดไม่ได้ กฐินจำกัดเวลา คือต้องถวายภายในเวลาจำกัด คือเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงกลางเดือน 12 ตรงกับวันลอยกระทง กฐินจำกัดของถวาย คือต้องถวายเป็นผ้าจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่งจึงจะเป็นกฐิน ถ้าถวายของอื่นไม่เป็นกฐิน กฐินจำกัดผู้รับ คือพระที่รับกฐินต้องเป็นพระที่จำพรรษาวัดนั้น พรรษาไม่ขาดและต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป และต้องลงรับกฐินโดยพร้อมเพรียงกัน และกฐินจำกัดคราว คือวัดหนึ่ง ๆ รับกฐินได้ครั้งเดียวใน 1 ปี

สมชัย ใจดีและยรรยง ศรีวิริยาภรณ์.   (2535).  ประเพณี และวัฒนธรรมไทย.  พิมพ์ครั้งที่ 6.  
กรุงเทพฯ ไทยวัฒนาพานิช.

ประเพณีเกี่ยวกับการทำบุญของภาคอีสาน


           ไพฑูรย์ มีกุศล. (2532 : 183-187) กล่าวว่า ประเพณีเกี่ยวกับการทำบุญของภาคอีสาน หรือฮีตคลอง เป็นประเพณีที่มุ่งหมายเพื่อทำบุญและการพบปะกัน ชุมนุมกันในสังคม ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักมักคุ้นกันดี เช่นเดือนอ้าย บุญเข้ากรรม  เดือนยี่ ทำบุญคูณข้าว เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่ เดือนสี่ ทำบุญพระเวส เดือนห้า ตรุษสงกรานต์ เดือนหก ทำบุญบั้งไฟและบุญวันวิสาขบูชาการทำบุญบั้งไฟ เดือนเจ็ด ทำบุญซำฮะ เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบ ทำบุญข้าวสาก (สลากภัตร) เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา พระสงฆ์จะแสดงอาบัติ ทำการปวารณา คือการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้เดือนสิบสอง ทำบุญกฐินเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 จนถึงวันเพ็ญเดือน 12 เรียกว่าบุญเดือน 12 

ไพฑูรย์ มีกุศล. (2532). ประวัติศาสตร์อารยธรรมอีสาน.  มหาสารคาม :
           โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม

ความเป็นมาของกฐิน


         คูณ โทขันธ์  (2545 : 200).  กล่าวถึงกฐิน ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่ม 5 ตอนว่าด้วยกฐินขันธกะว่า พระภิกษุชาวปาฐาจำนวน 30 รูป เดินทางจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถีบังเอิญไปไม่ทันเข้าพรรษาจึงจำใจจำพรรษาที่เมืองสาเกตุ โดยมีใจระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ออกพรรษาแล้วจึงรีบพากันออกเดินทางกรำฝนทนแดดเฝ้า ทั้งที่จีวรเปียกชุ่มน้ำฝนและเปื้อนโคลนตมมอมแมม พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุการณ์เช่นนั้น จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้อยู่จำพรรษารับผ้ากฐินได้เมื่อออกพรรษาแล้วจะต้องรอรับกฐินที่วัดจำพรรษานั้นเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้สิ้นฤดูฝน เมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกาได้ทราบพุทธประสงค์เช่นนี้ ก็ได้จัดผ้ากฐินไปถวายพระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานนางวิสาขาจึงนับว่าเป็นคนแรกที่ถวายผ้ากฐิน ด้วยเหตุนี้การทำบุญทอดกฐินจึงถือเป็นประเพณีที่จะต้องกระทำสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้

คูณ โทขันธ์.  (2545).  พระพุทธศาสนากับสังคมและวัฒนธรรมไทย.  กรุงเทพฯ โอ.เอส. พริ้นติ้ง.เฮ้าส์

ความหมายของอติเรกจีวร


         พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม 5 2539 : 145-150
           อติเรกจีวร หมายถึง พระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุเก็บผ้าได้เกินกว่า 1ไตร มีปรากฏในกฐินขันธกะในพระไตรปิฎก มหาวิภังค์ ในนิสสัคคิยภัณฑ์ พระพุทธองค์ได้มีการประชุมสงฆ์และมีพระบรมพุทธานุญาตว่า
           “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาแล้วกรานกฐิน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กรานกฐินแล้วจะได้อานิสงส์ 5 อย่าง คือ เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา 2 ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ 3 ฉันคณะโภชนะได้ 4 ทรงอติเรกจีวรได้ตามต้องการ 5 พวกเธอจะได้จีวรที่เกิดขึ้นในที่นั้น ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้รับอานิสงส์ 5 อย่างนี้แล...”


พระไตรปิฎกภาษาไทย.  (2539).  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จประนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พุทธศักราช 2539 เล่ม 5. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ความหมายของกฐิน


           พระสราวุฒย์ ปัญญาวุฑฺโฒ  (2551 : 5-6) กล่าวถึงความหมายของกฐินมีความหมายเกี่ยวข้องกัน ๔ ประการด้วยกัน คือ  ๑) เป็นชื่อของกรอบไม้ อันเป็นแม่แบบ สำหรับทำจีวร หรืออาจเรียกว่า สะดึงก็ได้ ๒) เป็นชื่อของผ้า ที่ถวายแด่พระสงฆ์เพื่อทำจีวร ตามแบบหรือกรอบไม้นั้น ๓) เป็นชื่อของบุญกิริยา คือ การทำบุญ ในการถวายผ้ากฐินเพื่อให้สงฆ์ทำเป็นจีวร ๔) เป็นชื่อของสังฆกรรม คือ กิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง

พระสราวุฒย์ ปัญญาวุฑฺโฒ.  (2551).  การศึกษาแนวคิดของพระสังฆาธิการและ
            คฤหัสถ์ ในการรับกฐิน ของ ภิกษุที่อยู่จำพรรษาไม่ครบ รูป ในเขต
            อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย.  ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
            สาขาวิชาไทยศึกษาเพื่อ การพัฒนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย  
            ราชภัฏเลย.

วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์


          พระเทพปริยัติโมลี (2540 : 45-48) ได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ได้กำหนดภารกิจของวัดไว้ 6 ประการด้วยกัน คือ 1.ภารกิจด้านการปกครอง เป็นภารกิจในการสอดส่องดูแลเพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฏหมาย ข้อบังคับ ระเบียบของมหาเถรสมาคม  2.ภารกิจด้านการศาสนศึกษา คือ การศึกษาของพระภิกษุสงฆ์  3.ภารกิจด้านการศึกษาสงเคราะห์ เป็นการจัดการศึกษาเพื่อช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนของชาติ ทั้งด้านการศึกษา การอบรมสั่งสอน การให้ที่อยู่อาศัย และอาหาร 4.ภารกิจด้านการเผยแผ่ศาสนธรรม 5.ภารกิจด้านสาธารณูปการ เป็นการพัฒนาวัด ได้แก่ ปรับปรุงสภาพวัดและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด 6.ภารกิจด้านสาธารณสงเคราะห์ คือ กิจกรรมที่วัดหรือพระสงฆ์ดำเนินการ เพื่อให้เป็นประโยชน์ในด้านสังคมสงเคราะห์ ทั้งการสงเคราะห์บุคคลและการสาธารณสงเคราะห์ 

พระเทพปริยัติโมลี. (2540). ทำเนียบพระสังฆาธิการ ภาค 13. กรุงเทพฯ :
           สหธรรมิก.

บทบาทของวัด


         พระเทพปริยัติโมลี 250 : 45-48) ได้กล่าวถึงบทบาทของวัด ดังนี้
1.บทบาทในฐานะที่เป็นจิตและวิญญาณของชุมชนและสังคม วัดทำหน้าที่หล่อหลอม และยกระดับจิตใจของผู้คนในสังคมให้สูงขึ้น มีคุณธรรม จริยธรรม รักสันติ และสมานสามัคคีปรองดองกัน รวมถึงความมีเหตุผลในการดำรงชีวิต 2.บทบาทในฐานะที่เป็นหน่วยงานพัฒนาและสังคมสงเคราะห์ชุมชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บทบาทที่สำคัญของวัดในประเทศไทย มิได้มีหน้าที่เป็นเพียงจิตวิญญาณของชุมชนเท่านั้นแต่ยังเป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนในทุกเรื่อง 3.บทบาทในฐานะที่เป็นหน่วยงานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ในชนบทยังทำหน้าที่เป็นแนะแนวอาชีพต่าง ๆ แก่ชาวบ้านด้วย มีวัดเป็นจำนวนมากจัดตั้งสหกรณ์หมู่บ้าน ธนาคารข้าว จัดอบรมความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่ และเป็นสถานที่ฝึกอบรมอาชีพต่าง ๆ ซึ่งบทบาทดังกล่าวมีความเด่นชัดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 


พระเทพปริยัติโมลี. (2540). ทำเนียบพระสังฆาธิการ ภาค 13.
           กรุงเทพฯ สหธรรมิก.

วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

Kathina

Kathina
Kathina is a festival that takes place during the months of October and November. For 2500 years families have gathered to take part in the largest alms-giving ceremony of the Buddhist year. Friends, old and new, parents and children join together in a celebration on the theme of harmony. Kathina occurs at the end of the Vassa. During this three month retreat, the residents of the monastery have been obliged by their Rule not to travel unless absolutely necessary; now some of them will move on. This may mean resuming the life of a mendicant wanderer, or going to live in another monastery - so it's a time for leave-taking and extending a welcome. Also, as winter approaches, the supporters are checking to see that the basic needs of the samanas are being met. It is with regard to the offering of these requisites that this festival comes about.
Origins:According to the scriptures, a group of thirty bhikkhus (monks) were journeying together with the intention of spending the retreat season with the Buddha. However the Vassa began before they reached their destination and it was required that they stop travelling. Accordingly, although they lived harmoniously during the retreat, the bhikkhus were unhappy at not being able to be with the Master. When they were allowed to travel again, the bhikkhus continued on to see the Buddha. Hearing of their unhappy sojourn, he decided to cheer them up by allowing them to roam freely after the Rains Retreat to gather cloth for robes. The Buddha knew that nothing is so uplifting as sharing and generosity, and so then established a procedure whereby the bhikkhus could agree among themselves to make a gift of the cloth so acquired to one of their number. And so, when they had enough cloth, the bhikkhus set about sewing a robe. In those days the method used involved spreading the pieces of cloth on a frame and stitching them together. This frame was called a Kathina.
Today:
From that time until now, lay supporters have made a point of offering cloth at the end of the Vassa; it being allowed that this offering can take place at any time during the four weeks following the end of the retreat. The Sangha are not allowed to request the offering, so it is important that the initiation of the offering and its organisation be done entirely by the lay people. Actually, the ceremony is held in such high esteem that it is rare that the Kathina doesn't take place and supporters will usually agree on a date with the abbot of the monastery well in advance. The cloth, according to the Buddha's advice, must be offered to the whole Sangha, not to any particular individual, so that the bhikkhus have to formally agree as to which of them should receive the cloth. About three metres of cloth are needed: enough to make up at least one of the main robes. Once the cloth has been offered, the entire community tries to take part in the activity of sewing the new robe, it being stipulated that this robe be cut, sewn and finished before the dawn of the next day. Until recent times finishing always involved dyeing the robe as well, and even today, in traditional forest monasteries in Burma and Thailand, white cloth is given and whilst some of the bhikkhus are cutting and sewing, others are preparing the bath of natural dye.
The Ceremony:
Usually one person has undertaken the task of co-ordinating the occasion; this work may have started as far back as the Kathina of the previous year. Although all that is required is enough cloth to make up one robe, it's usually the case that all sorts of things are offered: everything from socks to tools to stamps and winter fuel. On the day of the festival people begin arriving at the monastery early - some may have come the night before. Bhikkhus and nuns from other monasteries will have been invited and be gathering also. By about 10:00 a.m. everyone is beginning to settle and at around 10.30 a.m. a meal is offered to the Sangha and then everyone helps themselves to the remainder of the food. About 1.00 p.m. the ceremonial offering of cloth and requisites takes place with one donor leading the assembly of lay people in taking the Refuges and Precepts and then announcing the offering using the following formula. This would be done in both Pali and English.
"May we venerable Sirs, present these robes together with the other requisites to the Sangha.
So, Venerable Sirs, please accept these robes and the other requisites from us, for our long-lasting welfare and happiness."
The cloth is formally presented to two bhikkhus who have been agreed upon by the Sangha. In turn they announce the donation of all the Kathina offerings and then nominate one senior and well-respected member of the community to receive the robe once it has been made up. The unanimous agreement in silence by the Sangha is strengthened by the collective utterance of "Sadhu" (it is well). At this point some of the bhikkhus leave and begin cutting the cloth. Later, others will join them. The formal Sangha Act (Sangha Kamma) of receiving a Kathina offering will be completed later in the evening (sometimes very late depending on whether or not the sewing goes smoothly) when the finished robe is ceremonially presented to the appointed bhikkhu.
Part of the acknowlegement of the offering by the two appointed bhikkhus:
Kale dadanti sappa๑๑a vada๑๑u vitamacchara
Kalena dinnam ariyesu ujubhutesu tadisu
Vipassannamana tassa vipula hoti dakkhina.
Ye tattha anumodanti veyyavaccam karonti va
Na tena dakkhina una tepi pu๑๑assa bhagino.
Tasma dade appativanacitto yattha dinnam mahapphalam
Pu๑๑ani paralokasmim patittha honti paninan'ti.
Those who are wise, generous and free from selfishness give at the appropriate times. Then what is given to those who are worthy and morally sound is an offering of great purity and substance. Those who likewise show appreciation or perform acts of service make no lesser offering and they also share in this merit. Thus in giving, the heart is unbounded, what is given is of great fruit and those meritorious deeds bring about good fortune in the life to come


The Kathina cloth has been offered and a blessing is chanted
for the welfare of all.
Having been offered and a blessing is chanted
the Kathina cloth is cut and prepared for sewing.

The Kathina cloth is carefully sewn into a robe, with
every member of the community helping in some way.
ที่มา:
http://www.buddhamind.info/leftside/lifesty-2/kathina.htm

กฐิน งานบุญแห่งปีในวิถีชาวพุทธ

กฐิน : งานบุญแห่งปีในวิถีชาวพุทธ
                                                                 เรื่อง...จิราภรณ์ เชื้อไทย
                                                                 ภาพ...ยงยุทธ รุกขชาติสุวรรณ, สุจินต์ เจตน์เกษตรกรณ์

ย่างเข้าเดือนสิบเอ็ด
คืนวันที่ฟ้าฉ่ำฝนผ่านเลยไปแล้ว อากาศเริ่มเย็นยะเยือกเมื่อสายลมเหนือพัดโลกหอมเอาความหนาวเหน็บมาเยี่ยมเยือน จำได้ว่าทุก ๆ ปี ในช่วงปลายฝนต้นหนาวเช่นนี้ คุณย่าซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นในแดนอีสานจะเป็นเจ้าภาพนำกฐินไปทอดถวายยังวัดโน้นวัดนี้อยู่ไม่ขาดด้วยเชื่อว่าเป็นงานบุญแห่งปีที่ได้บุญกุศลแรง เพราะปีหนึ่ง ๆ จะมีเพียงครั้งเดียวและมีฤดูทอดที่เรียกว่า “กฐินกาล”ในช่วงเวลาระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น
ที่มางานบุญ และอานิสงส์ที่ได้รับ
หากท้าวความไป การทอดกฐินเป็นสิ่งที่ฉันพบเห็น และคุ้นเคยมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นเด็ก ๆ คุย่าเคยเล่าให้ฟังว่า เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องไทยธรรมอื่น ๆ บูชาแด่พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ซึ่งในเอกสารหลายฉบับมีการสันนิษฐานตรงกันว่าประเพณีการทอดกฐินน่าจะเริ่มมีมาแต่แรกที่รับพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาในดินแดนไทย ซึ่งอาจยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยทวารวดี แต่ประกฎหลักฐานชัดเจนว่าชาวไทยได้ถือปฏิบัติบำเพ็ญบุญกุศลในเทศกาลกฐินเมื่อครั้งที่กรุงสุโขทัยเปนราชธานีดังปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่1 ว่า
“...คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทังชาว แม่ชาวเจ้าท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทังสิ้นทังหลาย ทังผู้ชายผู้ญิง ฝูงท่วยมีศรัทาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อโอกพรรษา กรานกฐิน เดือนญื่งจี่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่ง หมอนโนน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัตกฐิน เถิงอไร ญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียง เรียงกันแต่อไร ญิกพู้น เท้าหัวลาน ดมบังคมกลอง ด้วยเสียงพาทย์เสียงพิณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวงเที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก...”
ในศิลาจารึกดังกล่าวปรากฏทั้งคำว่า“กรานกฐิน” “บริวารกฐิน” (บริพานกฐิน) “สวดญัตติกฐิน” (สูดญัตกฐิน)ซึ่งคำดังกล่าวก็ยังคงใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าประเพณีการทอดกฐินนั้น อยู่คู่กับสังคมไทย ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชนมาช้านาน ดังปรากฏว่าชาวพุทธในประเทศไทยให้ความสำคัญกับงานทอดกฐินที่จัดขึ้นตามวัดต่าง ๆ มาก โดยถือว่าเป็นงานบุญสำคัญที่สุดงานหนึ่งในรอบปี บางวัดที่มีผู้ศรัทธามากอาจมีผู้จองเป็นเจ้าภาพทอดกฐินล่วงหน้ายาวเป็นสิบ ๆ ปี แสดงให้เห็นถึงศรัทธาของชาวพุทธในประเทศไทยที่ร่วมใจกันสืบทอดประเพณีนี้มาจนปัจจุบัน
โดยคำว่า “กฐิน” ตามภาษาบาลีนั้น แปลว่า “ไม้สะดึง”เป็นกรอบไม้สำหรับขึงผ้าให้ตึงเพื่อเย็บจีวรของพระภิกษุสงฆ์ได้สะดวกขึ้น เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีจักรเย็บผ้า หรือเครื่องมือที่จะใช้เย็บผ้าอย่างในปัจจุบัน ขณะเดียวกันการเย็บจีวรต้องเย็บหลาย ๆ ชิ้น ต่อกันและประสานกันให้มีรูปเหมือนคันนา จึงต้องอาศัยไม้สะดึงช่วยในการขึงผ้า ฉะนั้นผ้าที่ทำด้วยไม้สะดึงเพื่อการนี้โดยเฉพาะจึงเรียกว่า “ผ้าเพื่อกฐิน”และยังเรียกผ้ากฐินตามความหมายเดิมเรื่อยมาจนปัจจุบัน แม้ว่ามีผ้าสำเร็จรูปที่ทำเพื่อทอดกฐินโดยไม่ต้องอาศัยไม้สะดึงแล้วก็ตาม ซึ่งแต่เดิมนั้นกฐินเป็นเรื่องของสงฆ์โดยเฉพาะ พระภิกษุสงฆ์ต้องไปหาผ้ามาเองจากสถานที่ต่าง ๆ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วยวิธีบังสุกุลแล้วนำผ้านั้นมาเย็บย้อมเอง กว่าจะได้มาซึ่งจีวรที่นุ่งห่มจึงเป็นเรื่องยุ่งยากและลำบากอยู่ไม่น้อยกระทั่งครั้งหนึ่งมีพระภิกษุสงฆ์ชาวเมืองปาฐาซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกในแคว้นโกศลจำนวน30 รูป ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถีก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อนพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายจึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ซึ่งมีระยะห่างไปราว 6 โยชน์ และเมื่อถึงวันออกพรรษาแล้วก็รีบเดินทางไปยังเมืองสาวัตถีโดยไม่มีการรั้งรอ แม้จะเป็นช่วงที่ฝนตกหนักน้ำท่วมอยู่ทั่วไป แม้จะต้องฝ่าแดด กรำฝน ลุยโคลน จีวรเปรอะเปื้อนอย่างไรก็ไม่ย่อท้อ กระทั่งได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสมความตั้งใจ
เมื่อพระพุทธองค์ทราบถึงความลำบากของพระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถรับผ้ากฐินได้ในระยะเวลาภายหลังวันออกพรรษาแล้วไป1เดือน (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)โดยพระภิกษุสงฆ์ผู้กรานกฐินแล้วคือนำผ้าที่มีผู้ถวายนั้นไปตัดเป็นจีวร หรือเครื่องนุ่งห่มอย่างใดอย่างหนึ่ง เย็บย้อมให้เสร็จภายในวันเดียว แล้วทำพิธีอนุโมทนาจะได้อานิสงส์ คือ ยกเว้นในการผิดวินัย 5ประการภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4)โดยสามารถเที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา ไม่ต้อถือไตรจีวรให้ครบสำรับ ฉันอาหารล้อมวงกันได้ ทรงอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา(ในพระวินัยกำหนดให้พระภิกษุสงฆ์เก็บผ้าจีวรเกินจากสำรับที่นุ่งไม่ได้ เก็บได้เพียงแค่ 10 วัน หลังจากนี้ต้องสละให้ผู้อื่นไป แต่ถ้ากรานกฐินแล้วเก็บได้เกินกว่านี้) และลาภที่เกิดขึ้นให้เป็นของพระภิกษุสงฆ์ผู้จำพรรษาในวัดนั้นซึ่งได้กรานกฐินแล้ว ทั้งนี้การที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดไว้ในพระวินัยว่าให้พระภิกษุสงฆ์ผู้กรานกฐินแล้วได้รับการยกเว้นเพราะเกิดปัญหา และข้อขัดข้องบางประการซึ่งก่อให้เกิดความลำบากแก่พระภิกษุสงฆ์ เช่น ต้องบอกลาถ้าอยู่คนเดียวก็บอกลาไม่ได้ การต้องเอาจีวรไปให้ครบ การฉันอาหารล้อมวงกันไม่ได้ เก็บจีวรสำรองไว้ไม่ได้ นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุสงฆ์ จึงมีพุทธานุญาตให้กรานกฐินได้ ซึ่งนับเป็นความดีความชอบประการหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของสงฆ์ต้องร่วมมือร่วมใจกัน พระพุทธองค์จึงทรงกำหนดข้อยกเว้นไว้ให้
ส่วนอานิสงส์สำหรับผู้ทอดกฐินนั้นเชื่อกันว่าได้บุญกุศลแรง เพราะปีหนึ่ง ๆ จะมีเพียงครั้งเดียว และมีฤดูกาลทอด เป็นผลให้ผู้ทอดมีจิตใจแจ่มใสและปีติยินดีในบุญกุศลที่ตนได้ทำไว้ นอกจากนี้ยังสามารถขจัดความโลภ โกรธ หลง โดยทางอ้อมได้อีกด้วย กล่าวคือ กำจัดความโลภในวัตถุทานที่ได้บริจาคแล้วนั้น กำจัดความโกรธ เพราะได้ฟังอนุโมทนาบุญนั้น กำจัดความหลงเข้าใจผิดเพราะทำด้วยมือของตนเองในบุญนั้นได้
กฐินหลวง กฐินราษฎร์
ด้วยอานิสงส์ที่เกิดขึ้นประเพณีการทอดกฐินจึงได้รับการยึดถือปฏิบัติเรื่อยมาในหมู่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ซึ่งในแต่ละปีวัดต่าง ๆ จะสามารถรับกฐินได้เพียงหนเดียวเท่านั้น และในปีหนึ่ง ๆ พระภิกษุสงฆ์ก็รับผ้ากฐินได้ครั้งเดียวเช่นกัน โดยผู้มีจิตศรัทธาจะนำเอาผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย5 รูป โดยไม่ได้ตั้งใจว่าจะถวายแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งตามพระวินัยนั้นไม่ได้จำแนกการทอดกฐินออเป็นประเภทไว้แต่อย่างใด กล่าวแต่เพียงในส่วนการทำหรือรับผ้ามากรานกฐินของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาจากประเพณีที่นิยมปฏิบัติกันในปัจจุบันแล้วก็อาจจำแนกประเภทของการทอดกฐินได้เป็น2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ กฐินหลวง และกฐินราษฎร์
กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดถวาย หรือ พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปทอดถวาย โดยเมื่อถึงกำหนดเทศกาลทอดกฐิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินยังพระอารามหลวง ในเขตที่ใกล้กับพระนครเป็นส่วนมาก โดยเริ่มพระกฐินหลวงตั้งแต่วันแรม 6 ค่ำ เดือน11 เป็นวันแรก แล้วกำหนดเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน 2 วัด หรือ 3 วัด วันรุ่งขึ้น แรม 7 ค่ำ เดือน 11 พักหนึ่งวันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไม่เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เจ้าพนักงานได้เตรียมการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินเป้นกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมาค จะต้องกำหนดในวันแรม 9 ค่ำ เดือน 11เนื่องจากวันนี้ทางจันทรคติปรากฏว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงพระนครจะขึ้นมากและนิ่ง ไม่ไหลขึ้นลง สะดวกในการที่จะจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ สับเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี โดยพระอารามหลวงที่ทางราชการกำหนดเป็นวัดที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็นประจำปี ในปัจจุบันมี 16 วัด ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเทพศิรินทราวาส วัดราชาธิวาส วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดอรุณราชวราราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดโอรสาราม ในกรุงเทพฯ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม วัดสุวรรณดาราราม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก
ส่วนพระอารามหลวงที่นอกเหนือไปจากทั้ง16 วัดนี้ เป้นหน้าที่ของกรมการศาสนา กล่าวคือ หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ขอพระราทานผ่านกรมการศาสนาเพื่อจัดบริวารกฐินพระราชทาน แล้วผู้ได้รับพระราชทานจัดเพิ่มเติม หรือจัดจตุปัจจัยสมทบเรียกกันว่า “กฐินพระราชทาน”แต่ถ้าเสด็จพระราชดำเนินไปถวายวัดใด ๆ ตามพระราชอัธยาศัยจะเป็นพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์ก็ตาม เรียกว่า “กฐินต้น”ซึ่งโดยมากแล้วมักจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินยังวัดราษฎร์ที่ขาดการบูรณะ และถ้าหากสมเด็จพระสังฆราชประทับประจำที่วัดนอกจาก 16 วัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดนั้นเป็นประจำ การทอดกบินจึงเป็นพระราชประเพณีอย่างหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธุระบำเพ็ญพระราชกุศลสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินในสมัยก่อนนั้นจะมีการเสด็จพระราชดำเนินโดยพระบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารค และชลมารค ซึ่งจุดมุ่งหมายเดิมของการแห่พระกฐินด้วยกระบวนพยุหยาตรานี้ก็เพื่อตรวจตราพลรบ อาวุธยุทธภัณฑ์ และฝึกซ้อมรบทั้งทางบกและทางน้ำ
สำหรับ “กฐินราษฎร์” เป็นกฐินที่ราษฎรจัดทำขึ้น แบ่งออกเป็น มหากฐิน และจุลกฐิน โดยมหากฐินนั้น คือการนำผ้าสำเร็จรูปแล้วไปถวายพระภิกษุสงฆ์ดังที่นิยมทำกันอยู่ทุกวันนี้ มักนิยมเรียกกันว่า กฐิน ถ้ารวมกันออกทุนทรัพย์ร่วมกันจัดทอดเรียกว่า กฐินสามัคคี ส่วน จุลกฐิน เป็นกฐินอย่างหนึ่งที่ราษฎรจัดทำขึ้นเป็นพิเศษต่างจากกฐินธรรมดาทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่เก็บฝ้ายมาปั่น ทอเป็นผืน กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จภายในวันเดียว จุลกฐินจึงหมายถึงผ้าที่ทำสำเร็จมาจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ในบ้างท้องถิ่นเรียกว่า กฐินแล่น ซึ่งแปลว่า รีบด่วน จึงเข้าความหมาย เพราะจุลกฐินเป็นกฐินที่ต้องเร่งทำให้เสร็จในวันนั้น มักจะทำในระยะเวลาจวนหมดเขตการทอดกฐิน เช่น ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือน 12โดยที่มาของจุลกฐินได้เริ่มขึ้นสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ทรงเห็นด้วยพระพุทธญาณว่าพระอนุรุทธเถระเจ้ามีจีวรที่เก่าคร่ำคร่าใช้การเกือบไม่ได้และก็เป็นเวลาจวนจะสิ้นสุดกฐินกาลแล้วจึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์ก็ออกไปช่วยหาผ้าบังสุกุลตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มีคนนำมาทิ้งไว้บ้าง ตามสุสานที่ชาวบ้านห่อศพมาทิ้งตามทางบ้าง หรือตามสุมทุมพุ่มไม้ ที่มีผู้ศรัทธานำมาทิ้งถวาย ซึ่งนิยมเรียกกันว่า ผ้าป่า ในปัจจุบันบ้าง เพื่อรวบรวมผ้าไปเย็บเป็นจีวรแต่ก็ยังได้ผ้าไม่เพียงพอ เมื่อทราบถึงนางเทพธิดา ซึ่งเคยเป็นปราณทุติยิกา (ภรรยาเก่า) ของพระเถระในชาติก่อน นางจึงได้เนรมิตผ้าทิพย์หมกไว้ในกองขยะ เมื่อพระอนุรุทธะผ่านมาพบเข้าจึงซักผ้าบังสุกุลแล้วนำไปสมทบในการทำจีวร ซึ่งการทำจีวรในครั้งนั้นพระพุทธองค์เสด็จเป็นประธาน และสนเข็ม พระสงฆ์สาวกพร้อมทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงได้ช่วยกันโดยพร้อมเพรียงนับว่าเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง โดยพระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ทำผ้าแล้วเสร็จในวันนั้นก่อนอรุณจะรุ่ง เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันของหมู่พระภิกษุสงฆ์ หากชักช้าจะทำให้ผู้ครองผ้ากฐินไม่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่สามรถในการกรานกฐิน นอกจากนี้เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์จากที่พระพุทธองค์เสด็จเป็นประธานในที่นั้นด้วยซึ่งในอดีตความยากลำบากในการทำจุลกฐินตกอยู่กบพระภิกษุสงฆ์ แต่ปัจจุบันความยากลำบากนี้ตกอยู่กับผู้ทอด เพราะต้องจัดการทุกสิ่งทุกอย่างพระภิกษุสงฆ์จะเป็นเพียงผู้รับกฐินและนำไปกรานกฐินเท่านั้น ฉะนั้นจุลกฐินนี้คงมีเค้ามาจากการที่บางวัดไม่ได้รับกฐินหลงเหลืออยู่ และจวนหมดเขตทอดกฐินแล้ว ชาวบ้านจึงช่วยกันขวนขวายจัดทำเมื่อระยะเวลากระชั้นชิด อีกประการหนึ่ง สมัยก่อนผ้าสำเร็จรูปยังไม่มีขายประกอบกับลักษณะความเป็นอยู่แบบเลี้ยงตนเอง และเมื่อครอบครัวมีกิจการงานอย่างใดก็ร่วมมือกัน เมื่อต้องการผ้ากฐินอย่างรีบด่วนเช่นนี้จึงต้องหาทางและร่วมแรงร่วมใจกันให้เป็นผลสำเร็จ
จุลกฐินนี้ นิยมทอดกันในภาคเหนือ แพร่หลายมายังภาคกลางทางจังหวัดสุโขทัย และมาที่กรุงเทพฯในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1ซึ่งน่าจะนำมาจากราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 โปรดให้ทำจุลกฐิน โดยการทำจุลกฐินนั้นถือว่าได้อานิสงส์มากกว่าการทอดกฐินธรรมดาหลายเท่าเพราะทำในช่วงเวลาจำกัด คือตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ ต้องใช้กำลังคนและทุนทรัพย์มาก ถ้าทำไม่ทันก็เป็นอันเสียพิธี ฉะนั้นเมื่อทำเสร็จทันเวลาจึงส่งผลต่อจิตใจของผู้ทำบุญเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีกฐินอีกประเภทหนึ่งเรียกว่ากฐินโจร ที่ราษฎรจัดทำขึ้นในเวลาจวนจะหมดเขตกฐินกาล คือในราว ๆ วันขึ้น 14-15 ค่ำ เดือน 12ด้วยการสืบหาวัดที่ยังไม่ได้รับการทอดกฐิน และจัดหาผ้ากฐินไปทอด เรียกว่า กฐินตก กฐินตกค้าง หรือ กฐินจร ก็มี เพราะเป็นวัดที่ตกค้าง ไม่มีผู้ใดมาจองกฐินไว้ ซึ่งตามปกติการทอดกฐินต้องบอกกล่าวให้พระภิกษุสงฆ์วันนั้นทราบล่วงหน้า จะได้เตรียมการต้อนรับ และเพื่อไม่ให้มีการทอดกฐินซ้ำ แต่กฐินโจรนี้ไม่มีการบอกล่วงหน้า จู่ ๆ ก็ไปทอดเฉย ๆ เป็นการจู่โจมไม่ให้พระภิกษุสงฆ์รู้ แต่ก็ได้อานิสงส์แรงกว่าการทอดกฐินธรรมดามาก เพราะเป็นการอนุเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ให้มีโอกาสกรานกฐินในระยะเวลาจวนจะหมดเขตการทอดกฐินอยู่แล้ว
ธรรมเนียมปฏิบัติประเพณีทอดกฐิน
ทุกวันนี้ นอกจากกฐินโจรแล้ว โดยธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อจะไปทอดกฐินยังวัดใดก็จำเป็นต้องแสดงความจำนงให้วัดนั้นทราบล่วงหน้าก่อน เรียกว่า “การจองกฐิน” ซึ่งจองได้เฉพาะวัดราษฎร์เท่านั้น สำหรับวัดหลวงจะต้องขอพระราชทานผ่านกรมการศาสนาก่อน และเมื่อจองแล้วก็จะมีการปิดประกาศไว้เพื่อให้รู้ทั่วกันว่าวัดนี้มีการจองกฐินแล้ว ถือกันว่าใครจองก่อนก็ได้ทอดก่อน แต่ก็เปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธามากกว่าเป็นผู้ทอดก่อน ดังนั้นในคำจองจึงปรากฏชื่อผู้ทอด เป็นต้น
ทั้งนี้การจองกฐินก็เพื่อให้ทางวัดและชาวบ้านในละแวกนั้นเตรียมการต้อนรับ ทั้งเรื่องความสะดวกสบายและอาหารการกิน ครั้นถึงกำหนดวันงานเจ้าภาพจะต้องนำผ้าซึ่งจะนำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง อาจเป็นผ้าขาวที่ยังไม่ได้เย็บ เย็บแล้วยังไม่ได้ย้อม หรือย้อมแล้วก็ได้ เรียกว่า “องค์กฐิน”และ “บริวารกฐิน” ได้แก่ จตุปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องมีมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้มักจะมีผ้าห่มพระประธานในโบสถ์อย่างน้อยผืนหนึ่ง เทียนสำหรับจุดในการสวดพระปาติโมกข์ 24 เล่ม นำไปยังวัดที่จะทอด จะมีการสมโภชก่อนก็ได้ และเมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วจะฉลองต่ออีกก็ได้ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของเจ้าภาพ ซึ่งโดยมากแล้วการทอดกฐินจะกำหนดจัดงานกัน 2 วัน คือ วันตั้งองค์กฐินจะทำที่บ้านเจ้าภาพ หรือจะไปตั้งที่วัดก็ได้ กลางคืนมีมหรสพครึกครื้นสนุกสนาน ญาติพี่น้องมิตรสหายก็มักจะมาร่วมอนุโมทนา รุ่งขึ้นเป็นวันนำกฐินไปทอดที่วัด หากไปทางบกมักจะแห่งกฐินทางขบวนรถ หรือเดินขบวนกันไป มีแตรวง หรืออื่น ๆ เป็นการครึกครื้นถ้าไปทางเรือก็จะแห่กฐินทางขวนเรือสนุกสนานดังที่มีการกล่าวไว้ใน“นิราศเดือน” ว่า
“...เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระพรรษา ชาวพาราเซ้งแซ่แห่กฐิน ลงเรือเพียบพายยกเหมือนนกบิน กระแสสันธุ์สาดปรายกระจายฟอง สนุกสนานขานยาวฉาวสนั่น บ้างแข่งกันต่อสู้เป็นคู่สอง แพ้ชนะปะตาพูดจาลอง ตามทำนองเล่นกฐินสิ้นทุกปี...”
ในการแห่กฐินนั้น ไม่ว่าจะแห่ทางบกหรือทางน้ำมักจะแห่กันในตอนเช้าและเลี้ยงพระเพล ส่วนการทอดกฐินจะทอดในตอนเข้านั้นก็ได้ หรือทอดเพลแล้วก็ได้สุดแล้วแต่สะดวก สำหรับการเลี้ยงพระถ้าเป็นในชนบทชาวบ้านจะจัดภัตตาหารเลี้ยงด้วย เจ้าของงานกฐินก็จัดไปด้วยมีอาหารมากมายเหลือเฟือ เกี่ยวกับเรื่องนี้คุณย่าของฉันได้เล่าให้ฟังว่า
“พอมีงานบุญกฐินทีก็จะได้ยินเสียงครกตำน้ำพริกดังโป๊ก ๆ จากบ้านโน้น บ้านนี้ ตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสางแม่บ้านหลายบ้านต่างลุกขึ้นเข้าครัวทำกับข้าวกับปลาอย่างแข็งขัน ครั้นไก่โห่ พระย่ำกลอง พอฟ้าสว่างเห็นหน้าเห็นตากันถนัด ชาวบ้านก็จะนำข้าวปลาอาหารผลหมากรากไม้ไปร่วมบุญกฐิน ซึ่งทุกคนล้วนแต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่หลากสีสันสดใส หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเจรจาทักทายกัน”
สำหรับการถวายกฐิน เมื่อคณะสงฆ์มาประชุมพร้อมกันแล้ว เจ้าภาพจะอุ้มผ้ากฐินนั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม 3 จบ แล้วหันหน้ามาทางพระภิกษุสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน 3 จบ หากเป็นกฐินสามัคคีก็มักจะเอาด้ายสายสิญจน์โยงผ้ากฐิน เมื่อจับได้ทั่วถึงกันแล้วหัวหน้าผู้ทอดจะกล่าวนำคำถวายครั้นจบแล้วพระภิกษุสงฆ์จะรับว่า“สาธุ” เจ้าภาพก็ประเคนผ้าไตรกฐินแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งหรืออาจวางไว้ข้างหน้าคณะสงฆ์ก็ได้ จากนั้นจะถวายบริวารกฐินเลยก็ได้ พระภิกษุสงฆ์อนุโมทนาก็เป็นอันเสร็จพิธี หรือจะรอฟังพระภิกษุสงฆ์ “อปโลกนกรรรม” จึงจะถวายบริวารกฐินก็ได้
การทำอปโกลนกรรมที่ว่า คือการประกาศมอบผ้ากฐินแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งมีจีวรเก่า มีพรรษามาก สามารถกรานกฐินได้ถูกต้อง ฉลาด มีความรอบรู้ธรรมวินัย เป็นต้น โดยพระภิกษุสงฆ์ 2 รูป จะสวดออกนามพระภิกษุสงฆ์ที่จะเป็นผู้รับผ้ากฐินเพื่อเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมสงฆ์ เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านพระภิกษุสงฆ์อีก 2 รูป ก็จะสวดประกาศซ้ำเป็นภาษาบาลี เรียกว่า “ญัตติทุติยกรรม”เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านก็เป็นอันว่า พระภิกษุสงฆ์ที่ได้รับการเสนอนามเป็ฯผู้รับผ้ากฐินไป เมื่อเสร็จแล้วพระภิกษุสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันหมดภาระหน้าที่ของเจ้าภาพ
เมื่อเสร็จพิธีแล้วอาจมีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับอานิสงส์กฐินหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งบางแห่งอาจจัดให้มีการสนุกสนานรื่นเริง มีการแข่งเรือ เล่นเพลงเรือ เป็นต้น หลังจากนี้ก็เป็นพิธีกรานกฐินซึ่งเป็นหน้าที่ของสงฆ์โดยเฉพาะ และเมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วมักจะปักธงรูปจระเข้ไว้ที่วัดด้วย จะเป็นที่ศาลาวัด หน้าโบสถ์ หรือที่ใด ๆ ที่เห็นง่ายเพื่อแสดงว่าวัดนั้นทอดกฐินแล้ว

ที่มา:
จิราภรณ์ เชื้อไทย. (2555). “กฐิน : งานบุญแห่งปีในวิถีชาวพุทธ.”Thailand Geographic.
ปีที่ 8 ฉ. 133 : 156-189
เอกสารอ้างอิง
ศิลปากร,กรม. ประเพณีวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ศาสนา,กรม. ศาสนพิธี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
สมทรง ปุญญฤทธิ์. (2525). เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมไทย.
กรุงเทพฯ : ธรรมบูชา.
http://www.photogangs.com/webboard/index.php?showtopic=8544&st=0&p=169401&
ขอขอบคุณ
สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อนุเคราะห์ภาพประเพณีทอดผ้าป่าประกอบสารคคดี
โรงเรียนลานกระบือวิทยา อนุเคราะห์ภาพกิจกรรม ทอดผ้าป่าสามัคคี ประกอบสารคดี

นัยยะธงจระเข้ในประเพณีทอดกฐิน

นัยยะธงจระเข้ในประเพณีทอดกฐิน
 

ในพิธีทอดกฐินจะมีการใช้ธงแบบหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “ธงจระเข้” นำขบวนแห่ โดยเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยางประมาณ 2 ศอก กว้าง 1 ศอก ปลายทั้ง 2ข้าง เย็บเป็นซองขวางผืนธง เพื่อสอดไม้ท่อนกลมโตชนาดนิ้วก้อย ยาวกว่าความกว้างของผืนธงออกมาข้างละ 1 นิ้ว สำหรับผูกแขวนธงตอนบนข้างหนึ่งกับใช้ถ่วงชายธงตอนล่างอีกข้างหนึ่ง ในผืนธงเขียนเป็นรูปจระเข้ตามความยาวของผืนผ้า เอาหัวไว้ข้างบน หางเหยียดไปทางปลายธง ปากคาบดอกบัว 3 ดอก ซึ่งธงจระเข้นี้ทำขึ้นตามคติความเชื่อหลายนัยยะด้วยกัน
ประการแรก ในสมัยโบราณชาวบ้านนิยมแห่ผ้ากฐินไปทอดตามวัดต่าง ๆ โดยอาศัยเรือเป็นสำคัญ แต่การเดินทางไปตามลำน้ำมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ อยู่เนือง ๆ เช่น จระเข้ขึ้มาหนุนเรือให้ล่มบ้าง ขบกัดผู้คนบ้าง คนสมัยก่อนหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือไว้เป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ เช่น จระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้ายกว่าสัตว์อื่น ๆ ในน้ำ ได้รับทราบถึงการบุญการกุศลจะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง ไม่คิดที่จะทำอันตรายแก่ผู้คนในขบวนซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนา
ประการต่อมา เนื่องจากถือกันว่าดาวจระเข้เป็นดาวสำคัญในการเคลื่อนขบวนทัพในสมัยโบราณต้องคอยดูดาวจระเข้ขึ้นซึ่งเป็นเวลาจวนสว่างแล้ว เช่นเดียวกับการทอดกฐินซึ่งเป็นพิธีทำบุญที่มีอานิสงส์ยิ่งใหญ่เพราะทำในเวลาจำกัด มีความสำคัญเทียบเท่ากับการเคลื่อนขบวนทัพ โดยแต่เดิมนั้นผู้จะไปทอดกฐินต้องเตรียมเครื่องบริขาร และผ้าองค์กฐินไว้อย่างพร้อมเพรียง แล้วแห่ไปวัดในเวลาดาวจระเข้ขึ้นไปแจ้งเอาที่วัด ต่อมาภายหลังจึงมีผู้คิดทำธงจระเข้ขึ้นด้วยถือว่าดาวจระเข้เป็นดาวบอกเวลาเคลื่อนองค์กฐิน
ประการสุดท้าย มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่ามีอุบาสกคนหนึ่งนำองค์กฐินแห่ไปทางเรือ จระเข้ตัวหนึ่งเกิดอยากได้บุญในการทอดกฐินจึงว่ายน้ำตามอุบาสกนั้นไปด้วย แต่พอไปได้สักพักจระเข้ก็ได้บอกแก่อุบาสกว่าตนตามไปด้วยไม่ได้แล้วเพราะเหนื่อยอ่อนเต็มที ขอให้อุบาสกจ้างช่างเขียนภาพของตนที่ธงแล้วยกขึ้นไว้ในวัดที่ไปทอดกฐินด้วย อุบาสกจึงรับคำแล้วทำตามที่จระเข้ร้องขอ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาธงรูปจระเข้จึงปรากฏตามวัดต่าง ๆ ในเวลาที่มีการทอดกฐิน
ธงจระเข้จึงมีความสำคัญในฐานะของการเป็นเครื่องหมายการทอดกฐินในสมัยก่อนซึ่งเมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็จะต้องนำธงจระเข้นี้ไปปักไว้หน้าวัดเพื่อให้ผู้ที่ผ่านไปมารู้ว่าวัดนี้ได้ทอดกฐินแล้ว ผู้คนในสมัยก่อนก็ยกมือขึ้นอนุโมทนาในการกุศลกฐินด้วย


ที่มา:
จิราภรณ์ เชื้อไทย (2555 : 186)
จิราภรณ์ เชื้อไทย. (2555). “กฐิน : งานบุญแห่งปีในวิถีชาวพุทธ.”Thailand Geographic.
ปีที่ 8 ฉ. 133 : 156-189
เอกสารอ้างอิง
ศิลปากร,กรม. ประเพณีวัฒนธรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
ศาสนา,กรม. ศาสนพิธี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา.
สมทรง ปุญญฤทธิ์. (2525). เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมไทย.
กรุงเทพฯ : ธรรมบูชา.