ความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ กับ ธรรมชาติ ในทัศนะพุทธศาสนา
ในทัศนะของพุทธศาสนา มนุษย์สัมพันธ์กับธรรมชาติในสองลักษณะ คือ
๑. การพยายามเอาชนะธรรมชาติ เพื่อนำประโยชน์จากธรรมชาติมาใช้
๒. การพยายามกำหนดความสำคัญของธรรมชาติ อย่างลุ่มลึก และมีทัศนคติโน้มน้าวในทางไม่ทำลายธรรมชาติ โดยมองเห็นว่า ในธรรมชาตินั้น มนุษย์สามารถมองเห็นความสงบและความร่มเย็น
ถ้าธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา และโลภจะได้ครอบครอง ธรรมชาติจะตกเป็นเหยื่อแห่งความปรารถนา มนุษย์จะพัฒนาทัศนคติในเชิงรุกราน และรุนแรงต่อธรรมชาติ มนุษย์จะมีความโลภ เพื่อใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงผลร้าย อันจะเกิดขึ้นในระยะยาว ไม่ว่าจะมีต่อตัวเขาเอง หรืออนุชนรุ่นหลัง ปัญหามลพิษของสิ่งแวดล้อม ปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติจนหมดสิ้น ปัญหาพลังงานวิกฤต ปัญหาความเสื่อมสลายของชุมชนในชนบท และ ปัญหาการเจริญเติบโตของชุมชนเมือง ที่เต็มไปด้วยอันตราย ปัญหาเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่เนื่องจากมนุษย์ขาดจิตสำนึกที่ดีต่อธรรมชาติ
E.F. Schumacher เมื่อทำการเสาะหาจริยธรรม สันติภาพอันถาวร ได้มองเห็นความหวังบางอย่าง ในกิจกรรมของนักอนุรักษ์นิยม นักนิเวศวิทยา นักคุ้มครอง ชีวิตสัตว์ป่า และนักสนับสนุนเกษตรกรรม ที่เป็นระบบแบบแผนในการให้ข้อเสนอแนะ วิธีการแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างรุนแรงนี้ เขากล่าวว่า ผู้ที่มีทัศนะกว้างไกล มองเห็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เช่น อาชีพเกษตรกรรม เป็นต้นว่า สนองงานที่สำคัญอย่างน้อย ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อให้มนุษย์มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติที่เป็นอยู่
๒. เพื่อให้มนุษย์มีความรักและความสุภาพ ต่อสิ่งมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติ
๓. เพื่อให้มนุษย์ มีอาหารและสิ่งของจำเป็นอย่างอื่น สำหรับการดำรงชีวิต
มโนทัศน์ของพุทธศาสนาที่มีต่อโลกของธรรมชาตินั้น มีขอบข่ายครอบคลุมถึงจักรวาลนี้ทั้งหมด ไม่ได้จำกัดแคบ ๆ อยู่เฉพาะกับโลกนี้เท่านั้นไม่ ในจักรวาลนี้มีกฏหลายอย่าง ที่ทำให้โลกดำเนินไปได้ เช่น กฏของโลกทางกายภาพ (อุตุนิยาม) กฏทางชีววิทยา (พีชนิยาม) กฏทางจิตวิทยา (จิตนิยาม) กฏทางศีลธรรม (กัมมนิยาม) และ กฏการยกจิตให้สูงขึ้น (ธัมมนิยาม) โดยการทำใจและการค้นพบกฏแห่งเหตุผลเหล่านี้ มนุษย์สามารถมีอิสรภาพและดำเนินชีวิตได้ อย่างถูกต้องและเหมาะสม พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงพิจารณามนุษย์ว่า เป็นผู้เกิดมาโดยบังเอิญ หรือกำหนดให้เกิดขึ้นมาลอย ๆ ไม่ แต่มนุษย์มีอิสรภาพที่จะสร้างโลกในธรรมชาติของตน รวมทั้งชีวิตทางศีลธรรม และชีวิตชั้นสูงให้สอดคล้องกับกฏ แต่ความมีเหตุผลดังกล่าว ถ้ามนุษย์มีชีวิตอยู่อย่างไม่สอดคล้องกับกฏดังกล่าวแล้ว มนุษย์ก็จะได้ชื่อว่าทำลายตนเอง ในที่สุด
คำสอนของพุทธศาสนามีขอบข่ายกว้างขวางมาก สามารถจะโยงไปถึงวิชาการต่าง ๆ ในโลกนี้ ได้อย่างเป็นระบบ แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับแนวทางศึกษาของผู้ที่สนใจ ในวิชาการทางนิเวศวิทยานี้ก็เช่นกัน มีหลักการทางพุทธศาสนาอย่างอื่น ที่สมควรจะนำมาพิจารณาเพิ่มเติมดังนี้
๑. การเข้าพรรษา
ถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมา ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในตอนเริ่มแรกสมัยพุทธกาลนั้น พระสาวกอธิษฐานเข้าพรรษาตามโคนต้นไม้ และตามป่า ไม่มีกุฎีที่อยู่ถาวรเหมือนเช่นปัจจุบัน วัตถุประสงค์ของการเข้าพรรษาก็คือ ให้พระภิกษุสงฆ์หยุดสัญจรในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลทำไร่นาของประชาชน ถ้าไม่มีการบัญญัติห้ามการสัญจร ในช่วงฤดูกาลดังกล่าว พระสงฆ์อาจจะเที่ยวย่ำยีไร่นาของประชาชน จนเกิดความเสียหายได้ ดังมีอุทาหรณ์บัญญัติเรื่องการเข้าพรรษานี้แล้ว
เหตุผลอีกข้อหนึ่ง สำหรับการเข้าพรรษา คือ การเปิดโอกาสให้พระสาวก หยุดสำรวจตัวเอง เพื่อจะได้ค้นพบว่า กิจที่ตนควรทำคืออะไร การเข้าพรรษาช่วยทำให้พระสาวกหยุดอยู่กับที่ สำรวจดูธรรมชาติ อันสงบร่มเย็นในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้เพื่อจะได้บทเรียนจากธรรมชาติ แล้วอาศัยธรรมชาติรอบตัวนั้น เรียนรู้สภาพความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้กฏของธรรมชาตินั่นเอง เพราะฉะนั้น การเข้าพรรษาโดยไม่สัญจรไปที่อื่น เป็นเวลาสามเดือน จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พระสาวก มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด และมีโอกาสพิจารณากฏของธรรมชาติ รวมทั้งอาศัยความร่มรื่น และสงบเงียบ จากธรรมชาติในการแสวงหาสัจธรรมด้วย การทำเช่นนี้ ช่วยให้ได้พบกับสัจธรรมเร็วขึ้น และช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นด้วย แต่การเข้าพรรษาในปัจจุบัน อาจจะไม่ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวข้างบนนี้ก็ได้ ถึงกระนั้นก็มีข้อที่ควรเปรียบเทียบกับอดีตไว้หลายประการ จริงอยู่ ปัจจุบันนี้ การเข้าพรรษาอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่ตามโคนต้นไม้ หรือตามป่าเช่นในสมัยก่อน แต่ก็อาจถือได้ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์ หยุดสำรวจตัวเอง รวมทั้งธรรมชาติรอบด้าน ทั้งนี้เพื่อเป็นการขัดเกลากิเลส และอุปนิสัยใจคอ และมีเวลาในการปฏิบัติธรรมได้เต็มที่
การเข้าพรรษา ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับพระสงฆ์ เท่านั้นไม่ แต่มีความสำคัญสำหรับประชาชนทั้งหลายด้วย คือ ประชาชนได้มีพระภิกษุสงฆ์ที่จะทำบุญ ด้วยกันเป็นประจำในวัดตลอด อย่างน้อยสามเดือน ข้อนี้มีความสำคัญมากในท้องถิ่น ที่ไม่ค่อยมีพระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำในเวลาอื่น ฉะนั้น เวลาเข้าพรรษาจึงช่วยให้มีพระสงฆ์อยู่ประจำเป็นที่ และประชาชนก็ได้บำเพ็ญกุศลกับพระภิกษุอย่างสม่ำเสมอ ในเวลาเดียวกัน พระสงฆ์ก็สนองตอบศรัทธาของประชาชน โดยการอบรมสั่งสอน ให้ประชาชนงดเว้นจากการทำความชั่ว ประกอบแต่คุณงามความดีอย่างเดียว มีประชาชนไม่น้อยที่อธิษฐานตนงดเว้นจากการทำความชั่ว และจากการมัวเมาในอบายมุข เช่น ดื่มน้ำเมา เป็นต้น บางคนสามารถงดเว้นอบายมุขได้ตลอดไปเลย แม้จะออกพรรษาแล้วก็ตาม เพราะฉะนั้น วาระเข้าพรรษาจึงเป็นการเกื้อหนุน ให้ประชาชนรักษาศีล ชำระจิตใจให้สะอาด มีความบริสุทธิ์เป็นธรรมชาติมากที่สุด
๒. อาราม และ ความสำคัญของอาราม
อาราม คือ สถานที่ให้ความรื่นรมย์ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อารามเป็นภาษาบาลี ในภาษาไทยก็คือ วัด นั่นเอง ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุสงฆ์มักจะอยู่ตามวัด ซึ่งมักจะเป็นสวน หรือป่าชานเมือง ไม่ได้อยู่ในชุมชนเช่นวัดในสังคมไทยปัจจุบันนี้ ดังนั้น จึงมีชื่อว่า อาราม ซึ่งหมายถึง สถานที่ให้ความสงบ รื่นเริง และเป็นสุขแก่ผู้อยู่อาศัย
อาราม มีความสำคัญมาก สำหรับการบำเพ็ญสมณธรรมของพระสาวก การศึกษาพุทธประวัติ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับอารามหลายประการ กล่าวคือ อารามนอกจากจะเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์แล้ว ยังเป็นที่พักผ่อนฟังธรรมของประชาชนทั้งหลายอีกด้วย หลังจากเลิกงานในตอนเย็นแล้ว ประชาชนจะถือดอกไม้และของหอม (คันธมาลา) ไปบูชาธรรมและฟังเทศน์ ซึ่งอาจแสดงโดยพระสาวก หรือไม่ก็โดยพระพุทธเจ้าเอง ผู้ไปฟังธรรมมาจากทุกชั้นในสังคม ตั้งแต่ชั้นสูงสุด คือ ประมุขของประเทศจนถึงคนใช้ และคนยากจนเข็ญใจทั้งหลาย ด้วยบรรยากาศเงียบสงบ ห่างไกลจากความพลุกพล่านของธุรกิจ แต่ไม่ไกลชุมชนเท่าไรนัก อารามจึงกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ของประชาชนอย่างดีที่สุด ซึ่งจะต้องมีความสะอาด เงียบสงบร่มรื่น วัดป่าบางแห่งในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ สืบเนื่องจากอารามหรือวัดป่าในสมัยพุทธกาลนั่นเอง
ปัจจุบัน อารามหรือวัดในเมืองไทยมี ๒ ประเภท คือ
- คามวาสี ได้แก่ วัดบ้านหรือวัดในชุมชน
- อรัญวาสี ได้แก่ วัดป่าหรือวัดที่อยู่ห่างไกลจากชุมชน
วัดแบบแรก ดูจะไม่ค่อยหลงเหลือความรื่นรมย์ทางกาย เท่าไรนัก และไกลจากคำว่าอารามไปทุกที เพราะมีสิ่งปลูกสร้างแวดล้อมเต็มไปหมด ทั้งในบริเวณวัดและนอกกำแพงวัด
ที่มา : http://www.gotoknow.org/posts/356876
8 พฤษภาคม 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น