เขมร Khmer ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic Language Family)
เขมรถิ่นไทยเป็นชื่อทางวิชาการ ได้กำหนดขึ้นเพื่อเรียกผู้ที่พูดภาษาเขมรซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศไทย (ประกอบ 2538, น.1) โดยทั่วไปชาวเขมรถิ่นไทยเรียกตัวเองว่า “คแมร” หรือ “คแมร-ลือ” แปลว่าเขมรสูง เรียกภาษาเขมร และชาวเขมรในกัมพูชา ว่า “คแมร-กรอม” แปลว่า เขมรต่ำ และเรียกคนไทยว่า “ซีม” ซึ่งตรงกับคำว่า “สยาม” ใน ภาษาไทย (ประกอบ 2538, น.1) เมื่อพิจารณาเขตการปกครอง นักภาษาศาสตร์ได้แบ่งภาษาเขมรเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ภาษาเขมรเหนือหรือเขมรสูง (เขมรถิ่นไทย) 2) ภาษาเขมรกลางเป็นภาษาของผู้ที่ อยู่ในกัมพูชา 3) ภาษาเขมรใต้เป็น ภาษาของคนเวียดนามเชื้อสายเขมร ปัจจุบันพบชาวเขมรถิ่นไทยอาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ปราจีนบุรี ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว
นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าบริเวณที่ราบสูงโคราชเคยเป็นที่อยู่ของชาวขอมหรือชาวเขมรโบราณ ดูจากกลุ่มปราสาทขอมโบราณ ศิลาจารึก ประติมากรรม ที่พบมากในบริเวณดังกล่าว เช่น ปราสาทภูมิโปน ปราสาทไปรมัดน้อย ปราสาทพนาวัน ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น ชาวเขมรถิ่นไทยน่าจะอพยพมาสมัยหลังในช่วง พ.ศ.2324-2325 (ประกอบ 2538, น.15-16)
ครอบครัวของชาวเขมรถิ่นไทยมีความคล้ายคลึงกับครอบครัวไทยพื้นเมืองคือ พ่อบ้านเป็นหัวหน้าครอบครัวแม่บ้านดูแล กิจกรรมภายในบ้าน ชาวเขมรถิ่นไทยให้เกียรติแก่เพศชาย ในการดำเนิน กิจกรรม หรือตัดสินเรื่องต่าง ๆ ครอบครัวเขมรถิ่นไทยมี การอยู่รวมกันหลายครอบครัว อาจประกอบด้วยปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา พ่อแม่ ลูกหลาน พี่น้องจำนวนมาก ครอบครัวใดที่มีลูก สาวหลายคน สมาชิกก็มีแนวโน้มขยายมากขึ้น การแต่งงาน (แซนการ) ของชาวเขมรถิ่นไทยนี้ ผู้เป็นฝ่ายชายต้องเสียเงินและ บรรณาการให้ฝ่ายหญิง เพื่อเป็น การเปิดปาก (เบิกเมือด) ฝ่ายชายต้องจัดขันหมากไปให้ฝ่ายหญิง ประกอบด้วยหมู เหล้า ขนม ข้าวต้ม ผลไม้และ เงินทอง ฝ่ายหญิงต้องล้างเท้าให้ฝ่ายชายก่อนขึ้นบ้าน (ประกอบ 2538, น.27)
เขมรถิ่นไทยมีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ อาหารหลักของชาวเขมรถิ่นไทยคือ ข้าวเจ้า ปลาร้า เขมร ปลาจ่อม ปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาต้ม น้ำพริกจิ้มผัก ผลไม้ได้แก่ กล้วย น้อยหน่า มะม่วง มะพร้าวและขนม ได้แก่ ขนมโชค ขนมเนียล ขนมกันตาราง ขนมกระมอล ขนมมุก เป็นต้น
ชาวเขมรถิ่นไทยนับถือศาสนาพุทธ ช่วงเข้าพรรษาจะมีประเพณี “กันซง” ซึ่งเป็นประเพณีการถือศีล นำอาหารไปทำบุญ ที่วัด 8 วัน หรือ 15 วัน นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องผี บรรพบุรุษ จะมีประเพณีไหว้บรรพบุรุษ เรียกว่า ประเพณีเบ็นหรืองาน แคเบ็น ซึ่งตรงกับสารทไทย พิธีมงก็วลจองได เป็นพิธีสู่ขวัญแบบพื้นบ้าน นิยมจัดในงานมงคล เช่น งาน มงคลสมรส ขวัญนาค โกนจุก ยกเสาเอก ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น พิธีมอม็วด เป็นพิธีที่ทำเพื่อหาสาเหตุการเจ็บป่วย โดยผู้เข้าทรงจะเชิญวิญญาณมาเข้าสู่ร่าง และจะมีผู้คอยซักถาม ว่าเหตุใดถึงได้เจ็บป่วย นอกจากนั้น ชาวเขมรถิ่นไทยยังเชื่อเรื่องโชคราง ของขลัง ฤกษ์ยามเครื่องราง ของขลังบางอย่างสามารถป้องกันภัยและรักษาโรคได้ (ประกอบ 2538, น.27)
การแต่งกายของชาวเขมรถิ่นไทย ผู้หญิงจะนุ่งผ้าถุง (ซำป๊วด) ซึ่งเป็นผ้าไหมพื้นเมืองที่มีชื่อคือ ผ้าโฮล ผ้าอำปรุม ผ้าซิน ผ้าซาคู ส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง สำหรับเสื้อ ผู้หญิงใส่เสื้อ แขน กระบอก ผู้ชายใส่เสื้อคอกลม เครื่องประดับจะเป็นเครื่องเงิน เรียกว่า ประเกือ็ม (ประคำ) นำมาร้อยเป็นสร้อย ต่างหู เป็นต้น (ประกอบ 2538, น.22) เขมรถิ่นไทย มีการละเล่น พื้น บ้านได้แก่ จเรียง เป็นการขับร้องหรือแหล่กลอนสด เนียะจเรียง หมายถึง ผู้ขับร้อง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเขมร จเรียงมีด้วยกันหลายประเภท เช่น จเรียงนอรแกว เป็นการร้องโต้ ตอบ ระหว่าง ชายหญิง จเรียงอาไย มีการรำประกอบการร้อง จเรียงซันตูจ เป็นการสนุกสนานของหนุ่มสาวซึ่งไปช่วยแต่งงานและงานมงคลในยาม ค่ำคืน จเรียงตรัว จะเป็นการร้อง ประกอบเสียงซอ จเรียงจรวง เป็นการร้อง ประกอบเสียงปี่ นอกจากนั้นยังมี กันตรึม เป็นการละเล่นประกอบดนตรี รำตรุษ เล่นในเทศกาลสงกรานต์ (แคแจด) รำสาก เป็นการรำ ประกอบเสียงดนตรี และเสียงกระทบสาก ผู้รำประกอบด้วยชายหญิงรำเป็นคู่ ๆ รอบวงกระทบสาก (ประกอบ 2538, น.29-30)
บรรณานุกรม
- กาญจนา นาคสกุล. อ่านภาษาเขมร. กรุงเทพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2524.
- คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา. แซมซายฉบับพิเศษ. รวมประเพณีและพิธีกรรมท้องถิ่นในจังหวัดสุรินทร์, บุรีรัมย์ : เรวัตรการพิมพ์, 2533.
- จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 1, กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2519.
- ------------. ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ไม้งาม, 2525.
- ฉ่ำ ทองคำวรรณ. หลักภาษาเขมร. พิมพ์ครั้งที่ 1 พระนคร : ราชบัณฑิตยสถาน, 2503.
- ปัญญา บริสุทธิ์. ชนชาติต่างๆ ในแหลมอินโดจีน. แปลจาก Les Peuples de la P?ninsula Indochinoise ของ G. Co?des (1962) กรุงเทพ : ไทยวัฒนาพานิช, 2525.
- ไพฑูรย์ มีกุศล.
“วัฒนธรรมแมน้ำมูลเชิงชาติพันธุ์วิทยาและประวัติสาสตร์
กรณีการผสมผสานกลมกลืนของกลุ่มชาติพันธุ์กวย เขมร และลาว.”
วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล. กรุงเทพ : สารมวลชน, 2533.
- มานิต วัลลิโภดม. สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน. สำนักพิมพ์การเวก, 2521.
- สมคิด ศรีสิงห์. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์พิฆเนศ, 2533.
- สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. ปราสาทเขาพนมรุ้ง. กรุงเทพ : พิฆเนศ, 2531.
- สุรนี แก้วกลม. อักษรขอมที่ใช้บันทึกภาษาไทย. กรุงเทพ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2526.
- สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. ระบบการเขียน (อ่าน) ภาษาเขมรถิ่นไทย. นครปฐม : สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531.
- Briggs,Lawrence Palmer. 1951. The Ancient Khmer empire. Philadelphia : American Philosophical Society. Vol. 41. 1951.
- Chandler, David P. A History of Cambodia. San Francisco : West view Press.1992.
- Coed?s.G. The Indianized States of Southeast Asia. Translated by Susan Brown Cowing, University of Malapa Press.1968.
- Henderson, E.J.A. “TheMain Feature of Cambodian Pronuciation,” Bulletin of the School of Oriental and African Study 14:149-174. 1952.
- Jacob, Judith M. Introduction to Cambodian. London : Oxford University Press.
- Smalley, William A. “The problem of vowels : northern Khmer” Phonemes and orthography Language Planning in ten minority languages of Thailand. Pacific Linguistics, Series C 43: 43-48. 1976.
http://www.sac.or.th/databases/ethnic/Content/Information/khmer.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น