พุทธศาสนา กับ สิ่งแวดล้อมทางสังคม
สิ่งแวดล้อมนั้น มิได้หมายความเอาเฉพาะสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ เท่านั้น แต่ยังหมายถึง สิ่งแวดล้อมทางสังคม อันรวมถึงกลุ่มบุคคล สถาบันสังคม แบบอย่างทางวัฒนธรรม และ กระบวนการทางวัฒนธรรม ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทางสังคมนี้ มีนานัปการ เช่น
๑. เป็นแหล่งพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ช่วยทำให้ชีวิตอยู่รอด ถ้าปราศจากกลุ่มคน มนุษย์ไม่สามารถเกิดมา มีชีวิตอยู่รอดได้
๒. ช่วยกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกัน ได้อย่างเหมาะสม สถาบันสังคมแต่ละอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว สถาบันเศรษฐกิจสถาบันศาสนา สถาบันการเมือง และสถาบันการศึกษา ต่างก็มีความสำคัญในแง่ที่เป็นตัวกำหนดรูปแบบ ความสัมพันธ์ระหว่าง สมาชิกในสถาบันเดียวกันและต่างสถาบัน กล่าวคือ แต่ละสถาบันก็มีระเบียบ กำหนดบทบาทและสถานภาพของบุคคล แตกต่างกันออกไป ขณะเดียวกันก็มี การแนะนำบทบาทที่ถูกต้อง ให้แก่สมาชิกในแต่ละสถานภาพด้วย เช่น กำหนดบทบาทของครูกับนักเรียน ผู้กำกับ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นต้น
๓. ช่วยกำหนดวิถีชีวิต ค่านิยม และทัศนคติต่าง ๆ วัฒนธรรมในฐานะที่เป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคม อย่างหนึ่ง มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการกำหนดวางรูปแบบวิถีชีวิต รวมทั้งค่านิยมและทัศนคติ วัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งสะสมมานาน เป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างสมาชิก ดังนั้น ยังมีอิทธิพลต่อบุคคลเป็นอย่างมาก ความสำคัญของวัฒนธรรมนี้ อาจเห็นได้ในบทบาทที่วัฒนธรรมมีต่อสังคม และชีวิตในด้านอื่น ๆ อีก เช่น เป็นสํญลักษณ์ประจำชาติ ควบคุมความประพฤติของสมาชิก ทำให้สมาชิกเป็นปึกแผ่น ช่วยหล่อหลอมอุปนิสัยใจคอของบุคคล และช่วยสนองตอบความต้องการในขั้นสูงขึ้นไปอีก ทางจิตวิญญาณและทางอุดมคติ
ในบรรดาสิ่งแวดล้อมทางสังคม ดังกล่าวมานี้ หากสรุปให้สั้นลงแล้ว ก็รวมอยู่ในเรื่องของมนุษย์หรือบุคคล กับสิ่งที่มนุษย์ผลิตออกมานั่นเอง กลุ่มมนุษย์ จัดเป้นสิ่งแวดล้อม ทั้งที่เป็นกัลยาณมิตร และอกัลยาณมิตร ตามหลักพระพุทธศาสนา สิ่งแวดล้อมที่เป็นกัลยาณมิตร เป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่จำเป็น และมีคุณประโยชน์ยิ่ง สำหรับการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่สังคม ลักษณะสิ่งแวดล้อมทางสังคม ที่เป็นมนุษย์ในฐานะเป็นกัลยาณมิตร พอสรุปได้ ดังนี้
๑. ช่วยเหลือปัองกันมิตรสหาย เมื่อมีความประมาท ๒. ไม่ทอดทิ้งกันและกัน ๓. แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๔. มีความจริงใจ
นอกจากนี้ องค์ประกอบของกัลยาณมิตร ยังหมายถึง คุณลักษณะของบุคคลที่มีลักษณะ ให้คำแนะนำ สั่งสอน เป็นที่ปรึกษา เป็นเพื่อน ตลอดจนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม มีการรู้จักเกื้อกูล สงเคราะห์ กระตุ้นเตือนให้เกิดปัญญา ด้วยการสนทนา การฟัง การอ่าน การซักถาม และยังประโยชน์ด้วยคุณสมบัติประจำตัวที่ดี คือ มีการดำเนินชีวิตที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความด่างพร้อย เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น เช่น พระพุทธองค์ พระสาวก และนักบุญทั้งหลาย
ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสังคม
ปัจจุบันนี้ เราพบว่า สิ่งแวดล้อมทางสังคม กำลังเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ซึ่งปรากฏตัวออกมาในรูปของ ปัญหาสังคมทั้งหลายนั่นเอง เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความยากจน ปัญหาการจราจร รวมทั้งปัญหาการเมือง และการศึกษา ที่ปรากฏออกมาในลักษณะต่าง ๆ เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวมานี้ หากวิเคราะห์โดยละเอียดแล้ว มีสาเหตุมาจาก บุคคล นั่นเอง เป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีสาเหตุจากแหล่งอื่นบ้าง ที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของคน แต่ก็เป็นส่วนน้อย บุคคลที่เป็นตัวก่อปัญหานี้ เรียกว่า เป็นอกัลยาณมิตรบ้าง ปาปมิตรบ้าง มีลักษณะตรงข้ามกับกัลยาณมิตร กลุ่มบุคคลที่มีลักษณะเป็นปัญหา และก่อปัญหาแก่สังคมนี้ หากเป็นคนใกล้ชิด จะมีลักษณะดังนี้
- ชอบประจบสอพลอ
- มุ่งเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว
- ไม่มีความจริงใจ
- มักจะทอดทิ้ง เมื่อไม่มีประโยชน์ หรือจะพาตัวให้เดือดร้อนไปด้วย
- มักพาไปในทางเสื่อมเสีย
- ต่อหน้ายกย่อง ลับหลังนินทา หรือวิจารณ์ในทางเสื่อมเสีย ฯลฯ
บุคคลที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสังคมนี้ มักจะเป็นคนประเภทรกโลก อาจทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิด เสียหายไม่เจริญก้าวหน้า และเป็นที่รังเกียจแก่คนอื่น
วิธีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสังคม
พุทธศาสนาสอนว่า เหตุเกิดจากอะไร ควรดับที่ต้นเหตุนั้น ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นลูกโซ่ตามมา ก็จะค่อย ๆ บรรเทาลงไปได้ ดังที่ทราบกันดีแล้วว่า ตัวคน สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางสังคม ก็คือ มนุษย์ หรือ คน เพราะมนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดมลภาวะของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ มนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวายในสังคม มนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดการล่วงละเมิด และเสียระเบียบทางธรรมชาติและทางสังคม ดังนั้น การแก้ปัญหาอันดับแรก คือ ต้องแก้ที่ตัวบุคคล และการแก้ปัญหาตัวบุคคล ก็คือ การที่จิตใจและอุปนิสัยใจคอของบุคคลเสียก่อน
พุทธศาสนา ยังเน้นการพัฒนาบุคคลให้มีจิตใจที่ดี สุขภาพที่ดี มีความรับผิดชอบ ตระหนักถึงภารกิจ หน้าที่ที่จะต้องทำ รู้จักแยกแยะว่า อะไรผิดอะไรถูก นั่นก็คือ การสร้างบุคคลให้มีจิตใจที่เป็นสัมมาทิฏฐิ สลัดทิ้งมิจฉาทิฏฐิทั้งมวลออกไป ผู้ที่จะต้องปฏิบัติตน ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคม อันดับแรกคือ ผู้นำสังคม ในระดับต่าง ๆ ถ้าหากผู้นำสังคมทั้งหลาย ปฏิบัติงานให้เป็นตัวอย่างแก่สิ่งแวดล้อมที่ดี ทำตนเป็นกัลยาณมิตรอย่างจริงจังแล้ว คนอื่นก็จะปฏิบัติตาม ในแต่ละสถาบันของสังคมก็มีผู้นำ ซึ่งได้รับการยกย่องจากสมาชิก
สถาบันครอบครัว มี พ่อ แม่ เป็นผู้นำ
สถาบันการเมือง มี ผู้บริหารบ้านเมือง เป็นผู้นำ
สถาบันการศึกษา มี ครู อาจารย์ เป็นผู้นำ
สถาบันเศรษฐกิจ มี พ่อค้า นักธุรกิจ เป็นผู้นำ
สถาบันสื่อมวลชน มี นักหนังสือพิมพ์ นักประพันธ์ และผู้สื่อข่าว เป็นผู้นำ
สถาบันบันเทิง มี ดารา นักร้อง นักสร้าง เป็นผู้นำ
สถาบันศาสนา มี พระสงฆ์ เป็นผู้นำ
สถาบันวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มี นักคิด และปัญญาชน เป็นผู้นำ
ผู้นำดังกล่าว จะต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบ และควรจะทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม ผู้นำในทุกสถาบัน จะต้องทำตัวให้เหมือนทองที่บริสุทธิ์อยู่เสมอ เพราะ
"หากทองคำ กลายเป็นสนิมเสียเองได้แล้ว จะหวังไม่ให้ตะกั่ว และเหล็กทั้งหลาย ไม่เป็นสนิมได้อย่างไร"
Geoffrey Chaucer
สรุป
นิเวศวิทยา เป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่ง ทางสังคมวิทยา พุทธศาสนาสัมพันธ์กับนิเวศวิทยา ในด้านจริยธรรมต่อธรรมชาติ โดยสนับสนุน มิให้มีการทำลายธรรมชาติ และให้พยายามรักษาสภาพธรรมชาติ ไว้ให้มาก ทั้งนี้เพราะพุทธศาสนาถือว่า สิ่งที่ได้จากธรรมชาติ มีมากมายเกินกว่าจะประมาณค่าได้ ธรรมชาติให้ความสงบใจ และความรื่นรมย์แก่มนุษย์ การใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีผลช่วยให้บุคคลมีแนวโน้มที่จะพัฒนาความรู้สึกให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ และรู้สึกรักธรรมชาติ ธรรมชาติทำให้บุคคลมีจิตใจบริสุทธิ์ และสะอาด และให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิต และนอกจากนี้ พุทธศาสนา ยังเน้นความสำคัญของบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ซึ่งจะมีผลช่วยทำให้สิ่งแวดล้อมทางสังคม มีสภาพที่น่าอยู่ ปราศจากมลพิษทางสังคม
ที่มา : http://www.gotoknow.org/posts/359541
8 พฤษภาคม 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น