วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

ศาสนาความเชื่อทางมานุษยวิทยา




Hayashi Yukio.  (2546 : กรกฎาคม 9).  “Practical Buddhism among the Thai-Lao :
           Religion in the Making of a Region.” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 24 : 46.
(Kyoto University Press and Trans Pacific Press, 2003)
           Hayashi Yukio (2546 : 46) กล่าวถึง การศึกษาเรื่องศาสนาความเชื่อทางมานุษยวิทยาเป็นประเด็นทางทฤษฎีคลาสสิคที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูมาตั้งแต่เริ่มมี discipline ทางวิชาการที่เรียกว่า anthropology หรือ ethnology เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในตะวันตก ที่นักมานุษยวิทยาฝรั่งสนใจศึกษาและโต้เถียงทางทฤษฎีเกี่ยวกับศาสนาความเชื่อของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ตะวันตกอย่างกระตือรือร้น แม้การศึกษาศาสนาที่เป็น world religion  จะมาทีหลังจนอาจพูดได้ว่า ระบบความเชื่อเป็นหัวข้อหนึ่งที่นิยามความเป็น มานุษยวิทยา ได้เลยทีเดียว
           กระนั้นก็ดี สรรพสิ่งไม่เที่ยง ก็ยังเป็นศาสนสัจพจน์ที่ใช้ได้กับวิชาการซึ่งขณะนี้ขาดความชอบธรรมที่จะผลิตสัจพจน์ใด ๆ ไปเสียแล้ว เพราะหัวเรื่องทางศาสนาความเชื่อ เช่น พุทธศาสนาเถรวาท (Theravada Buddhism) ของไทยหรือลาว อาจจะได้ผ่านพ้นยุคทองเมื่อสักยี่สิบสามสิบปีก่อนไปแล้ว กลายเป็นประเด็นที่ตกรุ่นตกกระแสแฟชั่นในวงการมานุษยวิทยาไทยและต่างประเทศในปัจจุบันไปพอสมควร
           งานศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนาของนักมานุษยวิทยาญี่ปุ่น ฮายาชิ ยูกิโอะ ผู้เป็นหนึ่งในบรรดานักวิชาการเพียงหยิบมือที่สนใจพุทธศาสนาเถรวาทในเอเชียใต้และอุษาคเนย์ เกี่ยวกับศาสนาแบบชาวบ้านของชาวไทย-ลาว ที่เพิ่งพิมพ์ออกมาในปีนี้ จึงเป็นซุปมิโสะดันโอชะประพรมไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้เหือดแห้งแล้งขอดไปกว่าที่เป็นอยู่
           ในแนวทางเดียวกับมุมมองต่อพุทธศาสนาทางมานุษยวิทยาที่ดูความเชื่อและพฤติกรรมทางศาสนาในความเป็นจริงของชาวบ้านที่ไม่ใช่ในพระไตรปิฎกผู้เขียนต้องการอธิบายพลวัตของพุทธศาสนาแบบชาวบ้านของชาวไทย-ลาว หรือชาวอีสาน โดยเน้นที่กระบวนการทางประวัติศาสตร์ของการก่อตัวของหมู่บ้านและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมภายในและรอบ ๆ หมู่บ้าน
           นี่อาจดูเป็นการศึกษาภาคสนามในหมู่บ้านธรรมดา ๆ ตามชนบทของสาขาวิชาที่ต้องลงไปคลุกเคล้ากับผู้คน แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอที่มีนัยทางทฤษฎีคือ การเน้นถึงความเป็นท้องถิ่น (locality) เฉพาะของแต่ละที่ที่ถูกละเลยจากงานศึกษาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะแนวทางการวิเคราะห์ตีความพุทธศาสนาในไทยที่ทรงอิทธิพลของ Tambiah ทำให้การใช้การวิเคราะห์ทางมโนทัศน์อย่างเป็นสากล (เช่น ศาสนา ไสยศาสตร์ วัดพุทธ) กับทุกสังคมดังงานศึกษาที่ผ่านมากระทำโดยไม่พิจารณาถึงบริบทว่ามโนทัศน์เหล่านี้ดำรงอยู่และผันแปรเชื่อมโยงอย่างไรจริง ๆ ในท้องถิ่นหนึ่ง ๆ เป็นเรื่องที่ต้องถูกตั้งคำถาม
           งานศึกษานี้มุ่งหมายหาทฤษฎีที่จะเชื่อมโยงกลุ่มชาติพันธุ์กับอาณาบริเวณท้องถิ่นโลกชีวิตของชาวบ้านในแต่ละวัน และรัฐชาติไทยผ่านการมองพุทธศาสนาที่ปฏิบัติในชีวิตจริงและการเปลี่ยนแปรกลายรูปของความเชื่อเรื่องผีหรือการทรงเจ้าเข้าผี ในอาณาบริเวณศึกษาและบริบททางประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านทางภาคอีสานของกลุ่มชาติพันธุ์ไท ที่มีประสบการณ์การเมืองทางชาติพันธุ์ของไทยและลาว
           สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นคือในการจะเข้าใจความเป็นจริงที่มีพลวัตของการปฏิบัติทางศาสนาของผู้คน เราไม่อาจแยกสิ่งที่เป็นพุทธกับสิ่งที่ไม่เป็นพุทธเสมือนกับว่ามันเป็นระบบทางตรรกะภายในที่นำไปใช้วิเคราะห์ได้เลย แต่ต้องมองจากบริบททางประวัติศาสตร์ของความเป็นชาติพันธุ์และอาณาบริเวณท้องถิ่นที่ผู้คนคิดและปฏิบัติ
           นี่จึงเป็นงานอีกชิ้นที่จะมีคุโณปการต่อการศึกษาทำความเข้าใจพุทธศาสนาที่ปฏิบัติในชีวิตจริงของกลุ่มชนต่าง ๆ ในไทย ที่บรรดาปราชญ์พุทธไทยอาจไม่สนใจจะเข้าใจ

ไม่มีความคิดเห็น: