วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

178 ปี สีจีวรพระธรรมยุต







updated: 20 ก.พ. 2557 เวลา 21:28:13 น.
คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

เมื่อ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ สมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะรักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ได้ลงนามในคำสั่งประกาศคณะธรรมยุต เรื่องการครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม มีสาระสำคัญอยู่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริในการที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ครองผ้าไตรจีวรที่มีสีเหมือนกัน
หลัง จากมีพระราชปุจฉากับพระมหาเถระ จนได้ผ้าที่มีสีที่ถูกต้องไม่ผิดพระวินัย และโปรดให้เจ้าพนักงานในพระองค์จัดผ้าไตรจีวรสีตามพระราชดำริพระราชทานถวาย แด่พระภิกษุสงฆ์ในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวาระต่าง ๆ หรือที่รู้จักกันในนามของ "จีวรสีพระราชนิยม" ซึ่งเป็นสีจีวรที่พระสงฆ์จะใช้ในงานพระราชพิธี
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สมเด็จพระวันรัตจะลงนามในคำสั่งฉบับนี้ ทางเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัดคณะธรรมยุต ก็ได้ประชุมกันในวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ณ วัดอาวุธวิกสิตาราม กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยมและมีมติอนุโมทนาใน พระราชศรัทธา และเห็นชอบให้พระภิกษุสามเณรคณะธรรมยุตครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยมเสมอกัน และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารคณะธรรมยุตพิจารณา
จากนั้นคณะกรรมการ บริหารคณะธรรมยุตได้ประชุมครั้งที่ 5/2556 วันที่ 31 ตุลาคม 2556 ณ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง วัดบวรฯ ได้พิจารณาตามข้อเสนอของเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัด มีมติเห็นชอบและให้มีประกาศคณะธรรมยุตเรื่องให้พระภิกษุสามเณรคณะธรรมยุต ครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม ตั้งแต่วันวิสาขบูชาปี 2557 ซึ่งตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงสีจีวรตั้งแต่มีการ ตั้งธรรมยุติกนิกาย หรือที่เรียกโดยย่อว่า คณะธรรมยุต โดยพระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฎ ก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) หรือจากสีกรัก (สีแก่นขนุนเข้ม) มาเป็นสีพระราชนิยม หรือสีที่อ่อนกว่าสีกรักเข้ม หลังจากเวลาได้ผ่านมาถึง 178 ปีเป็น 178 ปีแห่งการปฏิรูปคณะสงฆ์สยาม ที่ก่อนหน้านั้น
พระวชิรญาณเถระทรงเห็น ว่า วัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์สยามหลังการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ "ฟั่นเฟือน" วิปริตผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใคร่จะศึกษาค้น คว้าและปฏิบัติตามหลักพระธรรมคำสั่งสอนอย่างแท้จริง โดยเบื้องต้นทรงรับเอารามัญนิกายมาปฏิบัติจนมีศิษย์เลื่อมใสปฏิบัติตามแนว ทางของพระองค์มากขึ้น
ต่อจากนั้นทรงแก้ไขวัตรปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย หลังจากได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน ทำให้มีพระวิจารณญาณเกี่ยวกับความเป็นมาของพระพุทธศาสนา และความประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และทรงพิจารณาสอบสวนจนเป็นที่แน่แก่พระราชหฤทัยว่า พระวินัยที่ถูกต้องแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร เฉพาะการครองผ้า คือการนุ่งห่มของภิกษุสามเณร ระบุไว้เพียงให้ปฏิบัติไปตามหลักเสริยวัตรในพระวินัยเพื่อให้สุภาพเรียบร้อย (เดิมพระธรรมยุตครองจีวรห่มม้วนซ้าย แต่ตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เปลี่ยนมาห่มม้วนขวา (ห่มมังกร) ตามแบบพระสงฆ์มหานิกาย ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ จึงได้กลับมาห่มม้วนซ้ายตามเดิม)
การเปลี่ยนสีจีวรจากสีกรักมาเป็นสีพระราชนิยมเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ เพราะแท้จริงแล้วจีวรเป็นเพียงเครื่องห่อหุ้มร่างกายของพระภิกษุสงฆ์ ขณะที่แก่นแท้ของความเป็น "ธรรมยุต" ก็คือผู้ประกอบด้วยธรรมหรือชอบด้วยธรรม หรือยุติตามธรรม ด้วยมุ่งแสวงหาว่า ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ (คือคำสั่งสอนของพระศาสดา) แล้วปฏิบัติข้อนั้น "เว้น" แต่ข้อที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย ไม่เป็นสัตถุศาสน์ แม้จะเป็นอาจิณปฏิบัติ (ข้อปฏิบัติตามกันมา) แต่ก็ผิดพระธรรมวินัยจึงไม่ใช่ธรรมยุต
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1392906609#

ไม่มีความคิดเห็น: