วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

สังคมไทยกับการทอดกฐิน




สังคมไทยมีวัฒนธรรมและประเพณีมากมาย จนบางครั้งมิอาจจะอรรถาธิบายได้ว่ามีคุณค่าหรือมีความหมายต่อวิถีชีวิตอย่างไร เพราะได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากยุคสู่ยุค ด้วยเหตุนี้จึงมีวัฒนธรรมประเพณีเป็นจำนวนมากในสังคมไทยที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติมาอย่างมีนัยสำคัญ แต่ครั้นถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้กลายพันธุ์ไปเสียแทบหมดสิ้น และเมื่อสังคมและวัฒนธรรมไทยมีความเชื่อมโยงกับสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย การยึดถือหรือปฏิบัติในลักษณะที่มิอาจจะอรรถาธิบายถึงเหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ จึงนำไปสู่สภาพปัญหาต่างๆ นานา บางวัฒนธรรมประเพณีดูเหมือนจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมด้วยซ้ำไป ดังกรณีประเพณีการทอดกฐินและการลอยกระทง เป็นต้น

วัฒนธรรมประเพณีการทอดกฐิน : การทอดกฐินในสังคมไทยได้เริ่มต้นมาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ภายหลังการออกพรรษา บางวัดพอประกอบพิธีตักบาตรเทโวเสร็จก็มีการทอดกฐินต่อเนื่องตามมา การทอดกฐินจึงเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวพุทธไทย เพราะมีความเชื่อว่าการทอดกฐินเป็นกาลทาน คือการทำบุญที่มีกรอบเวลาจำกัดคือเพียง 1 เดือนเท่านั้น จึงมีผลต่อวิถีชีวิตและมีอานิสงส์แก่ผู้ถวายมากมายมหาศาล เมื่อถึงฤดูกาลหรือเทศกาลทอดกฐิน ไม่ต้องขออนุญาตจากทางการก็สามารถบอกบุญเรี่ยไรหรือแจกซองได้ ฎีกาบอกบุญจึงปลิวว่อนไปทั่วทุกกระทรวง ทบวง กรม

ความหมายของกฐิน : การทอดกฐินนั้นมีกรอบเวลาสั้นๆ เพียง 1 เดือน คือตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น พ้นกำหนดนี้แล้วไม่สามารถทอดกฐินได้ และคำว่า กฐิน ตามรูปศัพท์แปลว่าไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับขึงผ้าเพื่อตัดเย็บจีวร ได้แก่ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าเย็บจีวรของภิกษุในสมัยพุทธกาล และที่เรียกว่า "ผ้ากฐิน" ก็เพราะเวลาจะเย็บนั้นต้องขึงผ้าให้ตึงด้วยไม้สะดึงก่อนแล้วจึงเย็บ

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนในฤดูฝน สามารถประกอบกฐินกรรมได้ คือมีระยะเวลาเพียง 1 เดือนท้ายฤดูฝนซึ่งเรียกว่า เขตกฐิน และเมื่อภิกษุสงฆ์สามารถแสวงหาผ้ามาประกอบพิธีเย็บและย้อมให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเรียกว่า เขตจีวรกาล ก็จะได้รับสิทธิพิเศษขยายระยะเวลาไปอีก 4 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4

พิธีกรานกฐิน : ญาติโยมที่มีจิตศรัทธานำผ้ากฐินไปถวายภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนในวัดใดวัดหนึ่งเรียกว่า ทอดกฐิน ส่วนพิธีกรานกฐินนั้น เป็นเรื่องสังฆกรรมของสงฆ์ เมื่อได้รับผ้ากฐินจากญาติโยมที่ทอดถวายแล้ว นำผ้ากฐินไปประกอบพิธีตามพระวินัยเรียบร้อยแล้วก็จะได้รับอานิสงส์ขยายเขตจีวรกาล คือเวลาในการแสวงหาผ้าจีวรเพิ่มอีก 4 เดือน พร้อมกับได้รับอานิสงส์ในทางพระวินัย 5 ประการ

สาระสำคัญของการทอดกฐิน : สังคมไทยได้ทำบุญทอดกฐินตลอดระยะเวลา 1 เดือน คือตั้งแต่วันออกพรรษาถึงวันลอยกระทง เรียกว่าอิ่มบุญกันโดยทั่วหน้า ส่วนคนที่เบื่อบุญนั้นต้องปลงและทำใจที่เกิดมาเป็นคนไทยและนับถือศาสนาพุทธ

อย่างไรก็ดี สาระสำคัญของการทอดกฐินนั้นอยู่ที่ผ้าจีวร เพราะกฐินเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผ้าจีวร 3 ผืนเท่านั้น คือ 1) ผ้าจีวรที่ใช้พาดบ่า 2) ผ้าจีวรที่ใช้ห่ม และ 3) ผ้าจีวรที่ใช้นุ่ง เมื่อจีวรมี 3 ผืนจึงเรียกว่า ไตรจีวร แต่ชาวพุทธไทยมักเข้าใจผิดคิดว่า จีวร คือผ้าที่ใช้สำหรับห่มคลุมของพระภิกษุเท่านั้น แต่ในทางพระวินัยนั้นไม่ว่าจะเป็นผ้าพาดบ่า (สังฆาฏิ) ผ้าห่ม (อุตราสงค์) หรือผ้านุ่ง (อันตรวาสก) รวมเรียกว่าจีวรทั้งสิ้น เมื่อกฐินเป็นเรื่องเกี่ยวกับผ้าจีวร การทอดกฐินจึงเป็นเรื่องไม่ใหญ่โตแต่ประการใด เพียงนำผ้าผืนใดผืนหนึ่งไปทอดถวายก็สำเร็จเป็นกฐินแล้ว เพราะเวลาพระท่านกรานกฐินนั้น ท่านจะอธิษฐานผ้าผืนใดผืนหนึ่งเท่านั้น แต่ด้วยเหตุที่การทอดกฐินในสังคมไทยได้กลายพันธุ์จนแทบจะไม่เหลือคุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม การทอดกฐินจึงเป็นเรื่องใหญ่โต พระบางวัดหรือสมภารบางรูปถึงกับลงทุนไปเจริญศรัทธาญาติโยมให้นำกฐินไปทอดถวายด้วยซ้ำไป

กฐินเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ต้องปฏิรูป : การที่เจ้าภาพมีจิตศรัทธานำผ้ากฐินไปทอดถวาย วัดวาอารามต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรนั้น จัดเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ต่อคณะสงฆ์ไทยและพระพุทธศาสนา เพราะได้ชื่อว่า เป็นการจรรโลงและรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามล้ำค่าของชาวพุทธ แต่การทอดกฐินด้วยวิธีการเรี่ยไรหรือแจกซองบอกบุญอย่างพร่ำเพรื่อนั้น นอกจากจะผลักคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธให้เกิดความเบื่อหน่ายและเอือมระอาแล้ว ยังชื่อว่าเป็นการทำลายวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกด้วย ชาวพุทธจำนวนมิใช่น้อยในสังคมไทยต้องกู้หนี้ยืมสินผู้อื่นมาทำบุญทอดกฐินแบบจำยอมในฤดูกาลหรือเทศกาลทอดกฐินข้าราชการบางคนมีซองกองอยู่บนโต๊ะทำงานจำนวนมาก เกรงใจไม่รู้จะนำไปแจกใครจึงต้องหาเงินมาใส่ซองเอง บางรายเจอซองตั้งแต่ก่อนวันออกพรรษาเป็นอาทิตย์

การทำบุญนั้นเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและอนุโมทนา แต่ถ้าทำบุญแล้วจิตใจไม่มีความสุขหรือชื่นบานก็ไม่เรียกว่าทำบุญ คณะสงฆ์และผู้บริหารบ้านเมืองต้องช่วยกันบริหารจัดการเรื่องการทำบุญในเทศกาลทอดกฐินหรือเทศกาลลอยกระทงอย่างจริงจังและเข้มงวดเพื่อตีกรอบการทำบุญให้ถูกต้องและเหมาะสม เรียกว่าถึงเวลาต้องปฏิรูประบบความเชื่อ หรือความศรัทธา ให้สอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเสียที หากปล่อยปละละเลยอยู่เช่นปัจจุบันนี้ก็จะเข้าทำนองที่ว่า "พระพุทธศาสนาดีแต่คนที่นับถือศาสนามีปัญหาสารพัด" เมื่อเป็นเช่นนี้ความศักดิ์สิทธิ์ก็จะจางคลายและหมดไป

การทำบุญตามหลักการทางพระพุทธศาสนานั้นต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการคือ 1) ทำบุญด้วยการให้ (ทานมัย) เช่นการทอดกฐิน 2) ทำบุญด้วยการรักษาศีล (สีลมัย) เช่น การประพฤติดีปฏิบัติชอบ และ 3) ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา (ภาวนามัย) เช่น การควบคุมอารมณ์ ควบคุมความต้องการให้เกิดความพอดี การทำความดีต้องมีความพอดี หากเกินดีหรือไม่ถึงดีก็ไม่อาจจะมีดีได้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรตัดสินศาสนาพุทธด้วยชาวพุทธ และไม่ควรตัดสินชาวพุทธด้วยศาสนาพุทธ



รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะสังคมศาสตร์ มจร.

ที่มา : มติชนรายวัน 18 พ.ย.2558




วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

หนังสื่อ ภูมิปัญญาแห่งศตวรรษ




หนังสือ “ภูมิปัญญาแห่งศตวรรษ”

รศ.วิทยากร เชียงกูล

            หนังสือโดยฟริตจอฟคาปรา นักฟิสิกส์และนักปรัชญาสังคมชาวออสเตรีย ผู้เขียนหนังสือชื่อ เต๋าแห่งฟิสิกส์ จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษที่โด่งดัง เขาเสนอให้เปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองแบบกลไกแยกส่วน มามองเรื่องฟิสิกส์ ชีววิทยา สุขภาพอนามัย จิตวิทยา เศรษฐกิจ ระบบนิเวศ สิทธิสตรี ฯลฯ อย่างสัมพันธธเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม ประสานวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่เน้นเหตุผลเข้ากับปรัชญาตะวันออก เช่น เต๋า พุทธ ฯลฯ ที่ให้ความสำคัญต่อปรีชาญาณหยั่งรู้ เพื่อหาความเข้าใจเรื่องธรรมชาติ ชีวิตสังคม ฯลฯ อย่างลึกซึ้ง
            มีชื่อรองว่า “บทสนทนากับคนที่เด่นเป็นพิเศษ” เป็นการบันทึก เล่าเรื่อง สรุป การค้นคว้าวิจัยของคาปรา เพื่องเขียนหนังสือเรื่อง The Turning Point (จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรรษ) ผู้อ่านจะได้เห็นวิธีทำงานวิจัยเพื่อเขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่ใช้เวลาหลายปี ด้วยการตจิดตามอ่านและฟัง การนัดหมายสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับนักฟิสิกส์ คาร์ล ไฮเซ็นแบร์ก นักปรัชญา เจกฤษณะมูรติ นักจิตวิทยา อารดี แลง ผู้เยียวยาสุขภาพทางเลือก คาร์ล ไซมอนตัน นักเศรษฐศาสตร์ทั้งทางเลือก อีเอฟ ชูมาคเคอร์ และเฮเซล เฮ็นเดอรสัน รวมทั้ง อินทิรา คานธี นกยกรัฐมนตรีสตรีของอินเดีย
            คาปรา เป็นหนุ่มในยุคบุปผาชน / ฮิปปี้ ที่คนหนุ่มสาวประท้วงสงครามเวียดนามและสังแบบทุนนิยม บริโภคนิยม เขาสนใจปรัชญาตะวันออก วิเคราะห์เรื่องวิทยาศาสตรือย่างเชื่อมโยงกับชีวิตและสังคม เช่นการรู้ว่าแสงมีคุณสมบัติเป็นทั้งอนุภาคและคลื่นได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ และสัมพันธ์กับมุมมองของมนุษย์ด้วย ทำให้เขามองข้ามกับดักของการคิดแบบแยกส่วน 2 ขั้วสุดโต่งว่าต้องเป็นขาวหรือดำอย่างใดอย่างหนึ่งไปสู่การมองเรื่องความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนของสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็น เช่น สุขภาพทางร่างกายขึ้นอยู่กับสุขภาพความคิดจิตใจอย่างมาก เรื่องเศรษฐกิจสัมพันธ์กับชีวิตที่ดีและระบบนิเวศ เรื่องสิทธิสตรีที่คำนึงถึงสังคมแบบผู้ชายเป็นใหญ่ ที่มีลักษณะกดขี่เอาเปรียบ ทำลายล้าง
            อารดี แลง นักจิตวิทยามองว่าแทนที่จะมองอย่างง่าย ๆ ว่าจิตเภทหรือโรคจิตรูปแบบอื่น ๆ ว่าเป็นโรคภัย เราอาจมองว่ามันคือวิธีการพิเศษที่คนเราสร้างขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในสถานการณ์ของสังคมที่มีปัญหา การเยียวยาหรือปฏิบัติต่อคนที่แตกต่างไปจากคนอื่นจึงเป็นเรื่องที่ต้องการความาเข้าใจในเรื่องความสันพันธ์ของคนในสังคมวัฒนธรรมนั้นๆ ด้วย
            เรื่องการแพทย์ตะวันตกมีวิธีการมองแบบแยกส่วนเหมือนมนุษย์เป็นนาฬิกาที่ประกอบ้วยชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เมื่อชิ้นไหนเสียก็ซ่อมชิ้นนั้น ทำให้มีการพึ่งพาโรงพยาบาลและการใช้ยามากเกินไปจนสร้างปัญหา ต้องกลับมามองวิธีการเยียวยาในเชิงป้องกันรักษาร่างกาย และจิตใจให้สมดุลแข็งแรงอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวมมากขึ้น ซึ่งการแพทย์จินและอินเดียดั้งเดิมก็ศึกษามาในแนวนี้
            คาร์ล ไซมอนตัน  ผู้ศึกษาเรื่องโรคมะเร็งได้ทดลองรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบวิจัยไปด้วยและพบว่าการดูแลความคิดจิตใจของผู้ป่วยให้เข้มแข็ง ไม่เครียด วิตกกังล ทำให้คน ๆ นั้นสร้างภูมิต้านทานเซลล์ผิดปกติได้ดีขึ้น ลดการขยายตัวของมะเร็งและทำให้ชีวิตผู้ป่วยยืนยาวขึ้น
            จากเรื่องสุขภาพ คาปรา มองต่อไปว่าเกษตรกรแบบเคมีมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบนิเวศสำคัญ รวมทั้งเห็นว่าอุตสาหกรรมเภสัชและระบบคุณค่าในระบบเศาษฐกิจสมัยใหม่คือตัวปัญหาที่เราต้องกลับไปศึกษาเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆ ในเชิงระบบนิเวสและระบบสังคมมากขึ้น คาปราไม่ใช้คำว่าระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เพราะเขาเรรียมาและเติบโตมาในแนวเสรีนิยม แต่ประเด็นปัญหาระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เขาวิจารณ์ก็คือตัวระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมนั้นเอง
            คาร์ล ไซมอนตัน เห็นว่าเรืองความคิดจิต อารมณ์ เชื่อมโยงกับสุขภาพร่างกายด้วยและเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพของสังคมด้วยพฤติกรรมต่อต้านสังคม ความรุนแรง อาชญากรรม ยาเสพติด คือสุขภาพของสังคมที่เราต้องคำนึงถึงเวลาเราพูดเรื่องสุขภาพ เพราะถึงอดีต การเจ็บป่วยจะลดน้อยลง หรือคนมีสุขภาพดีขึ้น ก็เท่ากับเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อทำให้สุขภาพของสังคมดีขึ้นเลย
            อีเอฟ ชูมาร์กเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Small is Beautiful (แปลเป็นไทยแล้วชื่อ จิ๋วแต่แจ๋ว) เสนอว่าระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เน้นการเติบโตของผลผลิตมีวิธีคิดแบบล้าสมัย มองแบบแยกส่วน จำกัดตัวเองอยู่ในการวิเคราะห์ทางปริมาณ ปฏิเสธที่จะมองเข้าไปในธรรมชาติแท้ของสรรพสิ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีลักษณะแยกส่วนและแปลกแยก กีดกั้นประชาชนจากการทำงานที่สร้างสรรค์ และมีประโยชน์สร้างความพอใจ
             เขาได้พัฒนาแนวคิดเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธจากประสบการณ์การไปทำงานที่ประเทศพม่า เข้าเห็นว่าเศรษฐศาสตร์ควรยึดถือความสุขความพอใจของคนเป็นสำคัญควรใช้เทคโนโลยีขนาดเล็กที่เหมาะสมที่ประชาชนทำได้เองและเข้ากับระบบธรรมชาติ ระบนิเวศ มากกว่าเทคโนโลยีขนาดใหญ่ นั่นก้คือเขาเรียกร้องให้พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปสู่ลักษณะที่เป็น อินทรีย์ (Organic) ที่อ่อนโยน ไม่รุนแรง เฉียบคม และงดงาม
            คาปรายังได้แนวคิดจากเรื่องสิทธิสตรีและระบบนิเวศ เกี่ยวกับการมองและพัฒนาชีวิตสังคมที่สมดุล เสมอภาค สร้างสรรค์ ยั่งยืนด้วย เฮเซล เฮ็นเดอร์สัน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ผลกำไรของเอกชนถู๔กทำให้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยต้นทุนของภาคสาธารณะ จากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตโดยทั่วไปพวกเขาบอกเราเรื่องถ้วยโถโอชามและเสื้อผ้าที่งามระยิบระยับ แต่ลืมบอกเราเรื่องการสูญเสียไปของแม่น้ำ ทะเลสาบที่เยเป็นประกายแวววาว”

ที่มา : รศ. วิทยากร เชียงกูล กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560  หน้า 9