วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา




   
ที่มาภาพ:
http://enoomind0908.blogspot.com/2012/08/asean.html

ในที่นี้จะกล่าวถึงประเด็นทั้งความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของความขัดแย้งได้อย่างชัดเจน และแม้ว่าทั้งไทยและกัมพูชาจะมีความขัดแย้งกัน แต่ก็สามารถจัดการกับความขัดแย้งได้โดยอาศัยกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกัน

การวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา

    ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาบนพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และลัทธิชาตินิยม
    ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาในปัจจุบันนั้นมีรากฐานเกิดมาจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และลัทธิชาตินิยมเป็นหลัก ปัญหาประการแรกของประเทศทั้งสองนั้นเกิดจากการขีดแบ่งเส้นแดนโดยจักรวรรดินิยม ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทยอีสานใต้และกัมพูชาแล้ว จะเห็นได้ว่าดินแดนทั้งสองต่างก็เป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมแบบเดียวกัน มีลักษณะทางชาติพันธุ์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ดินแดนทั้งสองส่วนต้องแยกจากกันเพราะวิธีคิดการแบ่งเขตแดนแบบรัฐชาติ (Nation State) สมัยใหม่ตามแบบที่จักรวรรดินิยมตะวันตกพึงปรารถนาให้เป็น หรือกล่าวได้ว่าเป็นการแบ่งเขตแดนเพื่อการจัดการผลประโยชน์เหนือดินแดนของจักรวรรดินิยมตะวันตกนั่นเอง

    ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนไปในอดีตก็จะเห็นถึงความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างไทยอีสานใต้และกัมพูชาบนพื้นที่ความขัดแย้งในปัจจุบัน คือ พื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทเขาพระวิหารซึ่งพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรขอมได้สร้างเทวสถานบนเทือกเขาพนมดงรัก (เพี๊ยะนมดงเร็ก) เพื่อให้ชาวเขมรสูง (อีสานใต้) และชาวเขมรต่ำ (กัมพูชา) ได้สักการะเทวสถานแห่งนี้ร่วมกัน อันแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และความผูกพันทั้งในอดีตและปัจจุบันของดินแดนทั้งสอง ซึ่งในปัจจุบันดินแดนดังกล่าวกลับเป็นกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ต่างฝ่ายต่างยึดถือเขตแดนและกฎเกณฑ์ที่ตะวันตกได้กำหนดเอาไว้ มิได้มองถึงวัตถุประสงค์ของผู้สร้างปราสาทเขาพระวิหารที่มีเจตนาให้ดินแดนเขมรทั้งสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์ (การสักการบูชาร่วมกัน) อีกทั้งรัฐไทยและรัฐกัมพูชาสมัยใหม่ยังมองข้ามบริบททางวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมชุดเดียวกันของดินแดนทั้งสอง ทำให้ทั้งสองฝ่ายยึดถือแต่ผลประโยชน์แห่งชาติ(National Interest) บนเส้นแบ่งเขตแดนตามแบบชุมชนในจินตนาการ (Imagine Community) ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างกันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ปัญหาอีกประการ คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยได้ถูกหล่อหลอมจากกระบวนการ ตำรา และแบบเรียนภายใต้อุดมการณ์แบบชาตินิยมที่ประกอบสร้างให้เราเกลียดพม่า กลัวญวน และดูหมิ่นเขมรซึ่งหากหันไปมองประวัติศาสตร์ก็จะเห็นได้ว่าสยามในอดีตนั้นก็เป็นเพียงดินแดนของคนเถื่อนเท่านั้นในขณะที่ขอมเป็นดินแดนอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นได้จากภาพแกะสลักนูนต่ำ "เสียมกุก" หรือ นี่เหล่าคนสยาม (กองทัพสยาม) บริเวณระเบียงรายรอบปราสาทนครวัด ซึ่งเป็นภาพที่บรรยายถึงในรัชสมัยของพระเจ้า
    สุริยวรมันที่ 2 ได้เกณฑ์ไพร่พลในดินแดนรัฐบรรณาการของพระองค์ที่หนึ่งในนั้น คือ เสียม สยำ หรือ สยาม นั่นเอง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าแบบเรียนที่เน้นศักดิ์ศรีและยิ่งใหญ่ของชาติเกินความเป็นจริงโดยไม่ย้อนไปมองบริบททางประวัติศาสตร์ ย่อมจะเกิดผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ต้องไม่ลืมนึกถึงกฎเกณฑ์วัฏจักรทางประวัติศาสตร์ที่อาณาจักรใดก็ตามมีจุดสูงสุดก็ย่อมจะต้องตกต่ำลงเป็นธรรมดา ปัจจุบันเราอาจจะเหนือกว่าเขาแต่ในอดีตเขาก็เคยเหนือกว่าเราเช่นกัน

    ปัญหาอีกส่วนหนึ่งของความเป็นชาตินิยมแบบคลั่งชาติภายใต้กระบวนการสร้างแบบคู่ตรงข้าม (Binary Opposition) ทำให้ชาติของเราดูดีงาม และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมแต่ในขณะเดียวกันก็สร้างภาพให้ชาติอื่นกลายเป็นศัตรูถาวรที่มีแต่ความเลวร้ายหรือต่ำต้อยกว่าเรา ดังจะเห็นได้จากรัฐไทยนั้นติดอยู่กับบ่วงวาทะกรรมว่าอยุธยานั้นถูกหงสาวดีเป็นศัตรูถาวรที่รุกรานเผาบ้านเมืองและปล้นสะดมนานหลายร้อยปี แต่หากมองดูที่ประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับกัมพูชา จะเห็นได้ว่าช่วงความรุ่งเรืองของอยุธยานั้นเป็นช่วงที่กัมพูชาหรือกัมโพชเสื่อมถอยลง เมื่ออยุธยามีอำนาจที่เข้มแข็งก็ได้มีการขยายอำนาจรุกรานดินแดนที่อ่อนแอกว่าเช่นกัน ดังเห็นจากการขยายอำนาจครั้งสำคัญในรัชสมัยของพระบรมราชาที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา แห่งอาณาจักรอยุธยา ซึ่งการขยายขอบขัณฑสีมารุกรานกัมพูชาในครั้งนั้นอยุธยาได้ทำการเผาและปล้นสะดมอาณาจักรกัมพูชา เช่นเดียวกับที่อยุธยาถูกหงสาวดีกระทำในกาลต่อมา หรือจะเป็นเมื่อครั้งพระนเรศวร ที่พระองค์ทรงพักจากศึกหงสาวดีแล้วไปทำสงครามสั่งสอนกัมพูชา โดยในสงครามครั้งนั้นอยุธยาได้ทำการเทครัวและกวาดต้อนชาวเขมรเพื่อไปเป็นแรงงานให้แก่อยุธยาเป็นจำนวนมาก หรือจะเป็นในรัชสมัยของพระเจ้าตากสินหลังจากการปราบดาภิเษกเถลิงราชสมบัติเป็นการสำเร็จ พระองค์ก็มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแพร่บุญโพธิสมภารไปสู่ราชอาณาจักรกัมพูชา ขณะเดียวกันก็ทรงหาหนทางที่จะต้องการนำตัวกษัตริย์กัมพูชามาลงโทษ เนื่องมาจากการปฏิเสธที่จะส่งบรรณาการสู่ธนบุรี ทำให้พระเจ้าตากสินได้ยกทัพเข้าตีกัมพูชาหลายต่อหลายครั้ง จนในปี พ.ศ. 2315 กองทัพสยามได้เผากรุงพนมเปญ และได้สถาปนานักองค์เองให้เป็นกษัตริย์หุ่นเชิดของธนบุรีหลังจากนั้นอีกเจ็ดปี

    ในขณะที่ไทยมองกัมพูชาในฐานะที่ต่ำต้อยกว่าและตกเป็นเบี้ยล่างมาโดยตลอด กัมพูชาเองก็ประกอบสร้างให้ไทยเป็นศัตรูถาวรของกัมพูชาเช่นกัน อันเป็นผลมาจากเมื่อสยามในอดีตมีความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นขึ้นมาคราใด สยามก็จะต้องรุกรานกัมพูชาทุกครั้งเช่นกัน เห็นได้ว่าการรุกรานขยายอาณาดินแดนของรัฐจารีต ในอดีตนั้นเป็นกฎของสัจนิยม (Realism) ที่ว่าสถานะของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั้นเป็นสภาวะอนาธิปไตย (Anarchy) ที่ไม่มีกฎเกณฑ์อันใดมาควบคุมพฤติการณ์ระหว่างรัฐ นอกจากนี้ สงครามยังคงเป็นความชอบธรรมที่แต่ละรัฐสามารถนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยไม่ขัดกับหลักประเพณีระหว่างประเทศในอดีต หากไทยและกัมพูชาเข้าใจถึงเกณฑ์ความสัมพันธ์ของรัฐจารีตดั้งเดิมและไม่ใช้ประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือสร้างกระแสชาตินิยมของประเทศทั้งสองความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ คงจะไม่ทวีความรุนแรงอย่างในปัจจุบัน

    ถึงแม้ว่าข้อดีของการใช้ความเป็นชาตินิยมสร้างชาติอื่นให้เป็นศัตรูถาวรจะมีอยู่ที่เป็นการสร้างอุดมการณ์ต่อต้านศัตรูเพื่อสร้างความสามัคคีในชาติได้ แต่หากพิจารณาถึงบริบทของการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า สงครามที่เป็นการรบมิใช่สงครามหลักในเวทีระหว่างประเทศอีกต่อไป สงครามเศรษฐกิจกลับเข้ามามีบทบาทหลักที่ผลักให้เกิดนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้น ประกอบกับเขตแดนของรัฐแบบเวสต์ฟาเลีย (Westfalia) ที่ชาติตะวันตกเคยแบ่งเขตแดนให้กับทั่วโลก เริ่มจะมีผลสะเทือนจากโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ตะวันตกสร้างนี้ได้ลดทอนคุณค่าทางเขตแดนแบบรัฐชาติลง นอกจากนี้ ตะวันตกก็ยังผลักกระแสการบูรณาการ (Integration) ระหว่างประเทศที่มีต้นแบบจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) กลายมาเป็นสงครามในการรวมกลุ่มประเทศที่เป้าหมายในการรวมกลุ่มประเทศให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายการต่อสู้ในสงครามทางเศรษฐกิจระหว่างแต่ละกลุ่มประเทศ ซึ่งลักษณะของการบูรณาการในภูมิภาคนั้นจะมีลักษณะที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคโดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานอย่างเสรี จะเห็นได้ว่าสหภาพยุโรปนั้นมีลักษณะเป็นองค์กรเหนือรัฐ (Supranational Organization) ที่มีความเข้มแข็งมีทั้งสภาแห่งยุโรป (European Parliament) ศาลแห่งยุโรป (European Court) สกุลเงินยุโรป (EURO) และธนาคารกลางแห่งยุโรป (Central Bank of European) โดยมีนโยบายเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่เป็นเอกภาพ และในอนาคตสหภาพยุโรปก็กำลังดำเนินการสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมืองเช่นกัน กล่าวได้ว่าแนวทางการบูรณาการภายในกลุ่มระหว่างประเทศนั้นเป็นการลดทอนอธิปไตย เขตแดน และความเป็นรัฐชาติลงนั่นเอง

    ในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นทั้งสองประเทศต่างก็เป็นสมาชิกของอาเซียน (ASEAN) ที่กำลังเดินหน้าตามตัวแบบอย่างสหภาพยุโรปโดยที่ในปี พ.ศ. 2558 อาเซียนต้องก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งก็หมายความว่าไทย กัมพูชา และอาเซียนก็กำลังตามกระแสของสงครามทางเศรษฐกิจและการบูรณาการระหว่างประเทศ ดังนั้น เป้าหมายของอาเซียนในอนาคต คือ ไปสู่การสร้างความเป็นเอกภาพของประชาคมอย่างแท้จริง ที่อธิปไตยเขตแดน และความเป็นชาติย่อมจะถูกลดทอนลง เมื่อสถานการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศเริ่มเปลี่ยนไป อัตลักษณ์ภายในภาคีของอาเซียนเองก็จะต้องตรียมพร้อมเพื่อไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ด้วยการลดข้อจำกัดในการสร้างความเป็นศัตรูถาวรภายใต้กระแสชาตินิยม เมื่อใดก็ตามที่ต่างฝ่ายต่างเดินหน้าใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์ และความล้าหลังคลั่งชาติก็ย่อมจะสร้างความขัดแย้งระหว่างกันและกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

    เมื่อความเป็นหนึ่งเดียวแบบประชาคมกำลังจะเกิดขึ้นในอาเซียน คำถามก็คือ การสร้างกระแสชาตินิยมบนพื้นฐานความแค้นในเชิงประวัติศาสตร์มีความจำเป็นอยู่ไหม ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชาต้องทบทวนว่าทั้งสองประเทศจะยินยอมติดอยู่กับกับดักของลัทธิชาตินิยมและประวัติศาสตร์อยู่หรือไม่ หรือจะเลือกเดินไปสู่หนทางของความร่วมมือที่จะเกื้อกูลกันเพื่อต่อสู้ในสงครามทางเศรษฐกิจบนเวทีระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
    ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาภายใต้ผลประโยชน์แห่งชาติและการเมืองระหว่างประเทศ
    สำหรับการเมืองในประเทศไทยนั้น หลายปีที่ผ่านมามีความปั่นป่วนและขาดเสถียรภาพอยู่พอสมควรอันมาจาก Colors Politics หากมองถึงปมแห่งปัญหาของการเมืองของไทยนั้นเกิดจากที่ประชาธิปไตยแบบตะวันออกของไทยยังให้ความสำคัญตลอดมาว่าการเลือกตั้ง คือ หัวใจสำคัญของประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงกระบวนการสรรหาตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ประกอบกับการเลือกตั้งในไทยยังยึดโยงอยู่กับทุน และระบบอุปถัมภ์ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเราต้อง มีความเข้าใจว่าประชาธิปไตยต้องไม่ใช่แค่เพียงการเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยโดยวิถีชีวิตที่ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และรับฟังเสียงจากคนส่วนน้อย ซึ่งสังคมประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยแบบถกแถลง (Deliberate Democracy) ที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและการแลกเปลี่ยนความคิดกันกันอย่างสร้างสรรค์ กล่าวได้ว่าประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันจึงเป็นประชาธิปไตยแบบอัตตาธิปไตยผสานกับธนาธิปไตยที่ขับเคลื่อนไปด้วยอวิชชาและมิจฉาทิฐิ

    แม้ว่าเสถียรภาพทางการเมืองของกัมพูชาจะมีอยู่สูง เนื่องมาจากรัฐบาลพรรคประชาชนกัมพูชาที่นำโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนสามารถกุมเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งของกัมพูชาได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พรรคประชาชนกัมพูชาได้เข้าสู่การเป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงพรรคเดียว (One Dominant Party System) โดยมีพรรคฟุนซินเปคและพรรคสมรังสีเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการเลือกตั้งเพียงไม่กี่ที่นั่ง กล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซนสามารถใช้อำนาจและกลไกของรัฐผสานกับการใช้กุศโลบายทางเศรษฐกิจ ในการควบคุมฐานเสียงและการลงคะแนนเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอมา หากมองลักษณะทางการเมืองของกัมพูชาถึงแม้ว่ากัมพูชานั้นจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่จากการควบคุมจากรัฐบาลทุกองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ NGO และสื่อมวลชน ย่อมสะท้อนให้เห็นถึง ความเป็นประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม (Authoritarian Democracy) ของกัมพูชา

    จากลักษณะของการเมืองภายในของประเทศทั้งสองเห็นได้ว่า ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นประเทศประชาธิปไตย (แบบเอเชีย) เคยมีคำกล่าวของฝ่ายเสรีนิยม (Liberalism) ว่าประเทศในระบอบประชาธิปไตยจะไม่ทำสงครามกัน แต่ในกรณีของความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชานั้นทั้งสองต่างก็ตั้งผลประโยชน์หลักแห่งชาติ (National Interest) ไว้ที่เป้าหมายเดียวกัน การนิยามถึงผลประโยชน์หลักแห่งชาติหรือผลประโยชน์ที่จะสูญเสียไปไม่ได้ไว้ที่ตำแหน่งเดียวกัน อาจส่งผลต่อความขัดแย้งหากการเจรจาประนีประนอมนั้นดำเนินการมิได้ ย่อมอาจนำไปสู่ความรุนแรงและสงครามในที่สุด ซึ่งผลประโยชน์หลักของทั้งไทยและกัมพูชาก็คือ ปัญหาปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อนกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล แต่ปัญหาที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสองลุกลามจนไม่มีทีท่าว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะยุติลงได้ ก็คือปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายให้คุณค่าว่าเป็นผลประโยชน์หลักที่จะสูญเสียไปไม่ได้

    หากมองไปที่คำตัดสินศาลโลก (International Court of Justice) ที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็มีความยินยอม (Consent) เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ดังนั้น คำพิพากษาที่มีความชัดเจนอยู่ว่า ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นดินแดนอธิปไตยของกัมพูชาแน่นอน และพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรบนเขาพระวิหารก็เป็นดินแดนของไทยอย่างแน่นอนเช่นกัน ซึ่งประเด็นปัญหา เขาพระวิหารจะไม่สามารถสร้างความขัดแย้งอย่างในปัจจุบันได้หากทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา ไม่นำการเมืองภายในประเทศไปเกี่ยวโยงกับการเมืองระหว่างประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้ใช้ประเด็นปราสาทเขาพระวิหารมาสร้างผลประโยชน์แก่การเมืองภายในประเทศ ซึ่งฝ่ายไทยนั้นเห็นได้จากกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ใช้กรณีเขาพระวิหารมาปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อปลุกระดมมวลชนในการเข้าร่วมต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนในขณะนั้น โดยพันธมิตรได้ใช้การรณรงค์ที่ว่า "ทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร" แทนที่จะเป็น "รักษาดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรบริเวณเขาพระวิหาร" อาจเป็นไปได้ว่าคำว่าทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารนั้นง่ายกว่าการสื่อสารกับมวลชนในที่ชุมนุม แต่ก็เป็นการมิควรเป็นอย่างยิ่งที่จะยัดเยียดข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน เพราะการให้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะมีปัญหาด้านข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างความชิงชังให้แก่ประชาชนชาวไทยที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ซ้ำเติมความชิงชังแบบคลั่งชาติให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

    สำหรับในกรณีของกัมพูชาภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนนั้น มีความใกล้ชิดกับเวียดนามเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ได้รับเลือกจากเวียดนามเพื่อเป็นผู้นำกองทัพปฏิวัติต่อต้านเขมรแดง จนสามารถยึดกรุงพนมเปญได้ในปี พ.ศ. 2522 และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาขึ้น โดยมีเวียดนามหนุนหลัง ซึ่งในตอนนั้นฮุนเซนได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประกอบกับภรรยาของฮุนเซนมีเชื้อสายเวียดนาม ยิ่งทำให้ฮุนเซนมีความแนบแน่นกับเวียดนามยิ่งขึ้น ดั้งนั้น จะเห็นได้ว่า ครั้งใดที่ฮุนเซนต้องการใช้กระแสชาตินิยมเพื่อสร้างความนิยมทางการเมือง เขาจะใช้ประเด็นชาตินิยมสร้างไทยให้เป็นศัตรูถาวรขึ้นมาทุกครั้ง ทั้งที่จากประวัติศาสตร์นั้นกัมพูชาก็ถูกเวียดนามรุกรานไม่น้อยไปกว่าไทยหรือสยามในอดีต เห็นได้จากกรณีของกบ สุวนันท์ ที่ทั้งรัฐบาลกัมพูชาและสื่อมวลชนที่ถูกควบคุมโดยรัฐ ได้โหมกระพือกระแสชาตินิยมว่า นักแสดงไทยกล่าวคำ ดูถูกชาวกัมพูชาจนเกิดความเกลียดชังชาวไทยจนเกิดการเผาสถานเอกอัครทูตไทยในกรุงพนมเปญ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชากำลังลงสู่สนามเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา จึงต้องใช้กระแสชาตินิยมสร้างไทยในภาพของศัตรูถาวรเพื่อต้องการเสียงสนับสนุนฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชา

    ในประเด็นของเขาพระวิหารที่กลายมาเป็นประเด็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ก็มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา กล่าวคือ บริเวณชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม แถบจังหวัดสวายเรียงของกัมพูชา เวียดนามได้ปักหลักเขตแดนล้ำเข้ามาในเขตแดนของกัมพูชาโดยนายสม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาได้เปิดโปงกรณีดังกล่าว จนนายกรัฐมนตรีฮุนเซนต้องเบี่ยงเบนประเด็นความขัดแย้งกับเวียดนามมาสู่ความต้องการรักษาอธิปไตยเหนือเขตแดนเขาพระวิหารจากไทย พร้อมกับเคลื่อนกองทัพสู่ชายแดน ส่งผลให้กองทัพไทยต้องเพิ่มกำลังพลตรึงชายแดนบริเวณเขาพระวิหารเช่นกัน ทำให้เกิดสภาวะล่อแหลม (Dilemma) ระหว่างไทยและกัมพูชา จนความขัดแย้งบนพื้นฐานความคลั่งชาติของประเทศทั้งสองได้ขยายตัวไปสู่ประชาชนทุกระดับ

    กรณีเขาพระวิหารนั้นหากทั้งสองประเทศไม่นำประเด็นการเมืองภายใน ประเทศเชื่อมโยงกับการเมืองระหว่างประเทศที่ขับเคลื่อนไปด้วยความเป็นชาตินิยม แล้วหันมามองถึงผลประโยชน์ของชาติร่วมกันบนพื้นฐานของความร่วมมือของประเทศทั้งสอง ก็จะทำให้ปัญหาเขาพระวิหารจะแปรสภาพจากวิกฤตกลายเป็นโอกาสของทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งสองฝ่ายจะได้ผลประโยชน์ร่วมกันจากการจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันในบริเวณเขาพระวิหาร ต้องไม่ลืมว่าทางกัมพูชานั้นได้ครอบครองเพียงแค่ตัวปราสาท แต่บริเวณโดยรอบที่ประกอบไปด้วย เทวสถาน ปรางค์คู่ บันไดนาค และสระตราวนั้น อยู่ภายใต้การครอบครองไทย เหมือนกับที่ศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวว่า "ปราสาทพระวิหารที่ไร้องค์ประกอบโดยรอบ ก็เหมือนกับโครงกระดูกที่ไร้เนื้อหนัง"[1] นอกจากนี้หากมองไปที่ทรัพยากรทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน ไทยมีปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ฯลฯ กัมพูชามีพระนคร นครวัด ฯลฯ โดยทั้งสองประเทศได้มีส่วนร่วมในการการจัดการมรดกโลกเขา พระวิหารร่วมกัน หากทั้งสองฝ่ายผลักดันความร่วมมือดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ ทั้งไทยและกัมพูชาจะมี Package การท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมขอมโบราณที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง กลายเป็นผลประโยชน์บนความร่วมมือระหว่างกันที่ประเมินค่ามิได้ ทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์จากการขจัดความขัดแย้งระหว่างกัน

    เมื่อมองไปที่ความขัดแย้งของไทยและกัมพูชานั้น ส่วนหนึ่งต้องมองไปที่บทบาทและท่าทีของเวียดนามที่พยามช่วงชิงความเป็นเจ้าในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป (Mainland Southeast Asia) จากไทยโดยการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเวียดนามในระดับภูมิภาค ถึงแม้ว่าบทบาทในองค์การภูมิภาค อาทิเช่น อาเซียน ของเวียดนามจะมีบทบาทที่โดดเด่นไม่เท่ากับไทย แต่หากมองแยกไปเฉพาะส่วนย่อยในภูมิภาคอย่างอินโดจีน ก็จะเห็นถึงบทบาทความเป็นผู้นำที่ชัดเจนของเวียดนามที่มีเหนือลาวและกัมพูชา ซึ่งตรงจุดนี้ก็ต้องยอมรับว่าบทบาทการนำของเวียดนามคือผู้นำของอินโดจีนอย่างแท้จริง

    ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะสายสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับลาวและกัมพูชาอันมีมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น กล่าวได้ว่าเวียดนามได้ดำเนินนโยบายสร้างตนให้เป็น แกนล้อ (Hub) และสร้างให้กัมพูชากับลาวเป็นซี่ล้อ (Spokes) ได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ประกอบด้วยความใกล้ชิดและสายสัมพันธ์อันดีของฮุนเซนกับเวียดนามยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและเวียดนามนับวันก็ยิ่งจะมีความแนบแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงว่าในทางกลับกันความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยก็ย่อมจะถดถอยลงจากยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าในอินโดจีนของเวียดนาม



ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา

ปัจจุบัน ไทย-กัมพูชาแม้จะมีความขัดแย้งกัน แต่ความสัมพันธ์ยังคงดำเนินไปบนพื้นฐานของความเข้าอก เข้าใจกัน โดยมีกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ทวิภาคีหลายฉบับ ได้แก่

    คณะกรรมการว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (Joint Commission: JC) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมทำหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์ ทวิภาคีในภาพรวม มีการประชุมประจำปี
    คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม ทำหน้าที่ดูแลส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ
    คณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน (Border Keeping Committee: BPKC) มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม ทำหน้าที่กำกับการปฏิบัติให้เป็นตามนโยบายของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป
    คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee: JBC) ที่ปรึกษาว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานฝ่ายไทย และทำหน้าที่ระดับสูง ตัวแทนนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธานฝ่ายกัมพูชา ทำหน้าที่กำกับดูแลภารกิจ การสำรวจ ปักปัน และแก้ปัญหาเขตแดนทางบก
    คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC) มีแม่ทัพภาคในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแก้ปัญหาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน และความร่วมมือระดับท้องถิ่นทั้งสองฝ่าย มีการประชุมปกติปีละ 2 ครั้ง
    คณะกรรมการการค้าร่วม (Joint Trade Committee: JCT) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม ทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน

นอกจากนี้ ไทยกับกัมพูชามีการตกลงร่วมภายใต้กรอบความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน คือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) โดยได้มีการดำเนินโครงการทวิภาคีที่มีโครงการร่วมในสาขาการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ เช่น การศึกษาการจัดตั้งตลาดกลางเพื่อค้าส่งและส่งออกในกัมพูชา การจัดงานแสดงสินค้า ความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยให้บริการเบ็ดเสร็จที่ด่านชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นต้น นอกจากนี้ จากยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ACMECS ยังมีแผนปฏิบัติการอื่น ๆ อาทิ โครงการ Contract Farming โดยจังหวัดนำร่องในการจัดทำ Contract Farming ได้แก่ จันทบุรี-พระตะบอง/ไพลิน และยังมีโครงการเมืองคู่แฝด (Sister Cities) ซึ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านให้เป็นเมืองเชื่อมโยงระหว่างกัน เป็นรากฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว สนับสนุนการย้ายฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมจากไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับกรอบความร่วมมือ GMS (Greater Mekong Subregion) ไทยกับกัมพูชาได้ดำเนินโครงการร่วมกัน ได้แก่ การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) เชื่อมโยงไทย กัมพูชาและเวียดนาม การอำนวยความสะดวกการผ่านแดนของคนและสินค้าระหว่างไทย-กัมพูชา ส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูป Package Tour โดยจะเน้นตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ ตลอดจนดำเนินการ GMS Single Visa เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามูลค่าการค้าของการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังกัมพูชามีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการนำสินค้าเข้าของไทย ซึ่งการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังกัมพูชาส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก ทำให้ภาครัฐทั้งไทย-กัมพูชาได้ให้การสนับสนุนการขนส่งทางถนนเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่น โดยมีแนวคิดที่ว่าระบบถนนเป็นบริการขนส่งพื้นฐานที่ให้ความสะดวกรวดเร็วและเป็นการขนส่งให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยตรง อีกทั้งการขนส่งทางถนนเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการขนส่งในช่วงสั้น ๆ อย่างไรก็ดี จากกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดน (ASEAN Frame work Agreement for the facilitation of Inter-State Transport) และความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion Cross-Border Transport Agreement) ทำให้ภาครัฐทั้งไทยและกัมพูชาได้ประสานงานและร่วมมือกันในการลดอุปสรรคต่างๆ และลดค่าใช้จ่าย ในการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางผ่านแดน และให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการทำงานร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางถนน แก้ไขปัญหาเรื่องรถวิ่งเที่ยวเปล่าเพื่อลดต้นทุนการขนส่งของสินค้า


ที่มา :
http://122.155.9.68/talad/index.php/cambodia/overview-kh/social/173-2010-09