วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ศาสนากับการสร้างสันติภาพโลก
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมานั้น ผู้เขียนเดินทางไปเป็นวิทยากรเสวนาร่วมกับ ดร.บรรจง ชมพูวงศ์, รองประธานสภาคริสตจักรประเทศไทย และ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ผู้อำนวยการสำนักงานจุฬาราชมนตรี ศูนย์ภาคใต้ โดยมี อาจารย์ซากี พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ในหัวข้อเรื่อง “ศาสนากับสันติภาพ” ซึ่งเป็นการจัดประชุมนานาชาติ โดยเครือข่ายองค์กรวิจัยมุสลิมอาเซียน (The ASEAN Muslim Research Organizations Network: AMRON) และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำหรับหัวข้อหลักในการจัดการครั้งนี้คือ “มุสลิมในประเทศอาเซียนกับการศึกษา: เปลี่ยนแปลงจากภายในผ่านการศึกษา” (ASEAN Islamic Education: Change from within through Ecucation) ผู้เขียนจึงสรุปเนื้อหาจากการนำเสนอมาเป็น “บทความ” เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดในโอกาสต่อไป
การเพรียกหา “สันติภาพ” สะท้อนสถานการณ์อะไรในสังคมโลก
ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา สังคมไทย และสังคมโลกได้กล่าวถึง “วาทกรรม” ที่เป็นเครื่องมือ และเป้าหมายในการที่จะเชื่อมชาวไทยและชาวโลกให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในหลายถ้อยคำ คือ “สันติภาพ” (Peace) “สันติวิธี” (Peaceful means) “ความสมานฉันท์” (Reconciliation) และ “ความปรองดอง” ( Harmonious Society) ซึ่งแต่ละถ้อยคำที่นำเสนอนั้น มักจะได้รับการตอกย้ำในบริบทที่แตกต่างกันตามสภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่แตกต่างกันโดยมี “เวลา” “ผลประโยชน์และความต้องการ” และ “สถานการณ์” เข้ามาทำหน้าที่เชื่อมประสาน
ถึงกระนั้น การนำเสนอคำเหล่านี้ ผ่านเหตุการณ์และสถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าว ได้ทำให้เกิดข้อสังเกตที่สำคัญ ๒ ประการ คือ
(๑) มนุษยโลก และชาวไทย ได้ให้ความสำคัญกับถ้อยดังกล่าว การนำเสนอถ้อยคำเช่นนี้จะส่งผลในเชิงจิตวิทยาและการดำรงอยู่ของคนในสังคม ว่าอย่าได้ละเลย และควรตระหนักไว้ในใจ รวมไปถึงการรักษา และปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ในเชิงบวกอยู่ตลอดเวลาเพื่อความผาสุกของมนุษย์ในเชิงปัจเจกและสังคมโดยรวม
(๒) สังคมของมนุษยโลกและสังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่าง “ไม่มีสันติภาพทั้งภายในและภาย หรือมีในเชิงคุณภาพจำนวนน้อย” เมื่อเกิดปัญหา หรือความขัดแย้งขึ้นครั้ง จึงขาดวัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาแบบ “สันติวิธี” แต่มักมีพฤติกรรมในการแก้ไขปัญหาโดย “ใช้ความรุนแรง” เป็นเครื่องมือ และทางออก
ในขณะเดียวกัน แม้จะเน้นวาทกรรมว่า “สมานฉันท์” ซึ่งหมายถึง “การแบ่งปันผลประโยชน์ และความต้องการทั้งอำนาจ และทรัพยากรเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความพึงพอใจในความเสมอภาค เที่ยงธรรม และยุติธรรม” แต่บางครั้งก็อาจจะทำให้เกิดคำถามในมุมกลับว่าหมายถึง “การสมานฉัน” หรือไม่? กล่าวคือ “เน้นตอบสนองความสุข และความพึงพอใจเฉพาะกลุ่มของฉัน โดยไม่สนใจว่า กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ในสังคมจะดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขหรือทุกข์อย่างไร”
อย่างไรก็ดี เมื่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคมไทยไม่สามารถที่จะ “สมานฉันท์” หรือตอบรับประเด็นดังกล่าวอย่างแพร่หลาย ได้ จึงนำไปสู่การพัฒนาวาทกรรมที่ว่าด้วย “ความปรองดอง” อันหมายถึงการสร้างความเป็นเอกภาพ และสามัคคีในกลุ่มคน หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ถึงกระนั้น “ความปรองดอง” มักจะยึดโยงกับการแบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการด้านอำนาจ และทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เที่ยงธรรม และยุติธรรมเช่นกัน
ฉะนั้น การเกิดวาทกรรมที่ว่า “สันติภาพ สันติวิธี ความสมานฉันท์ และความปรองดอง” นั้น โดยสรุปในประเด็นที่ (๒) คือ สิ่งเหล่ากำลังขาดหายไปจากสังคมโลกและสังคมไทย จึงเป็นที่มาของการเพรียกหาเพื่อจักได้ฟื้นฟู และพัฒนาให้คำเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งภายในใจ และสังคมต่อไป
พลังของศาสนาช่วยสร้างโลก หรือทำลายโลก???
เมื่อกล่าวโดยหลักการแล้ว พลังของศาสนา “ควรและต้อง” เข้ามากระชับการทำหน้าที่ดังเช่นที่เคยเป็นปรัชญาและปณิธานสำคัญของการก่อตั้งศาสนาขึ้นมาเป็นที่พึ่งพาของชาวโลก โดยทำหน้าที่หลักใน ๒ ประการ คือ
(๑) ในขณะที่ “การเมือง” ทำให้หมู่คนหวาดกลัว และหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ศาสนาควรเข้ามาทำหน้าที่ที่จะทำให้มนุษยชาติ และชาวไทยหายหวาดกลัว หวาดระแวงซึ่งกันและกัน และประเด็นสำคัญก็คือ การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการนำหลักการสำคัญของแต่ละศาสนามาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินทั้งในเชิงปัจเจก และสังคม
(๒) เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า “การเกิดขึ้นของศาสนาเป็นไปเพื่อการอยู่รวมกันอย่างร่มเย็น และเป็นสันติสุขแก่ชาวโลก” เราควรดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ศาสนาได้กลับมาทำหน้าที่อย่าง “หนักแน่น และเต็มศักยภาพ” และสร้างสังคมให้เกิดการตื่นรู้มากยิ่งขึ้นทั้งในมิติของแนวคิด และแนวปฏิบัติที่สอดรับกับวิถีความเปลี่ยนของสังคมโลก
ศาสนาช่วยโลก หรือว่าโลกช่วยศาสนา???
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ศาสนากำลังเผชิญหน้ากับ “กระแสของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม” ที่กำลังแพร่หลายอยู่ในสังคมโลกและสังคมไทยในขณะนี้ ได้ทำให้สังคมภาคส่วนต่างๆ ได้ตั้งคำถามที่แหลมคมต่อศาสนาเช่นเดียวกันว่า
(๑) ศาสนาจะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมนำเสนอทางรอด และร่วมแก้ปัญหาให้มวลมนุษยชาติได้อย่างไร? จึงจะทำให้มนุษยชาติไม่ตกอยู่ในห้วงเหว และหลุมพรางของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม จนนำไปสู่ความสามารถที่จะรู้เท่าทันโดยไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ และเสพสิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็น “สิ่งจำเป็นต่อการดำรงเผ่าพันธุ์” และ “สร้างสรรค์คุณประโยชน์ให้แก่ตัวเองและสังคมโลก”
(๒) ศาสนาอาจจะกลายเป็นส่วนของปัญหาหรือไม่? อันเนื่องจากการที่ศาสนาในแง่ศาสนาบุคคลในรูปขององค์กรศาสนาเองไม่ได้ตระหนักรู้ หรือรู้เท่าทันต่อกระแสของโลกาภิวัตน์ จึงไม่สามารถปรับตัวให้สอดรับกับกระแสของการเปลี่ยนของสังคม และทำอย่างไร ศาสนาจึงจะไม่กลายเป็นภาระ หรือส่วนเกินของสังคมในโอกาสต่อไป
(๓) ศาสนาผ่ายแพ้ต่อลัทธิบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยมจริงหรือไม่? ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “ร่องรอยของความพ่ายแพ้” คือ การร่วมสนับสนุนแนวคิดและส่งเสริมอุดมการณ์ดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปของการนำเสนอหลักการและแนวทางผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จับต้องได้และไม่ได้ โดยมุ่งเน้น “ปริมาณ” มากกว่า “คุณค่าแท้” ที่จะเกิดขึ้นแก่ปัจเจกชน และสังคมโดยรวม
คุณค่าของศาสนา : จากการแย่งชิงสู่การแบ่งปัน
(๑) แบ่งปันความรัก คำถามที่สำคัญคือ “เพราะเหตุใด? มนุษย์จึงต้องรักผู้อื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น” เหตุผลเนื่องมาจาก “การที่มนุษย์ไม่สามารถอยู่คนเดียวในโลกใบนี้ได้” มนุษย์ สัตว์ทุกชนิด และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมีความจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยและกัน ช่วยเหลือกัน เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการหล่อเลี้ยงวิถีชีวิต ดำเนินชีวิตเพื่อให้สิ่งเหล่านี้รอดเพื่อพัฒนา “คุณค่าอื่นๆ” ต่อไป ด้วยเหตุผลเช่นนี้ การอยู่รอดของคนอื่น สัตว์อื่น หรือสิ่งอื่นๆ จึงส่งผลในเชิงบวกต่อการอยู่รอดของเราเช่นเดียวกัน ฉะนั้น การเปิดพื้นที่ให้แก่คนอื่น หรือสิ่งอื่นๆ โดยการแบ่งปันความรัก ความปรารถนาดีต่อกัน จึงเป็น “ความจำเป็น” ที่ “มนุษย์” จะต้องมีและแสดงออกต่อกันและกัน
(๒) แบ่งปันผลประโยชน์และความต้องการ การดำรงอยู่ของมนุษยชาติที่ต้องสัมพันธ์กับวิถีโลกมีความสัมพันธ์กับปัจจัย ๔ และโลกธรรมอย่างแยกไม่ออก เนื่องจากมนุษย์มีความจำเป็นในการของการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอด ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัดนั้น การแบ่งปันทรัพยากรเพื่อให้ฝ่ายต่างๆ เกิดความพึงพอใจสูงสุดจึงมีความจำเป็นที่ใส่ใจ โดยใช้กฎกติกามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ นอกจากนั้น การแบ่งปัน “โลกธรรม” ให้สอดรับกับความต้องการของคน หรือกลุ่มคนย่อมมีความสำคัญเช่นเดียวกัน คำถามคือ “เราจะแบ่งปันความต้องการด้านทรัพยากรให้สอดรับกับความต้องการด้านโลกธรรมได้อย่างไร” จึงจะทำให้กลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลายในสังคมเกิดความพึงพอใจสูงสุดตามข้อเสนอและข้อเรียกร้อง ประเด็นนี้ รัฐ ผู้นำหรือกลุ่มคนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะวางกรอบหรือกติกาอย่างไร จึงจะใช้เป็นเกณฑ์เพื่อรองรับการตัดสินใจดังกล่าว โดยไม่ทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความรู้สึก และสงสัยในความเสมอภาค เป็นธรรมและเที่ยงธรรม
(๓) แบ่งปันความสุข ความสุขในบริบทนี้ ครอบคลุมถึงความสุขทั้งในระดับปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก เป็นทั้งความสุขที่ต้องพึ่งพาสิ่งเร้า หรือสิ่งภายนอก และไม่ต้องพึ่งพา ในขณะเดียวกัน ความสุขในครอบครัว ย่อมมีความแตกต่างจากความสุขในระดับสังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก เราจะนิยามความสุขในระดับต่างๆ เหล่านี้อย่างไร เพราะการนิยามจะมีผลต่อการออกแบบกิจกรรม หรือการดำเนินการในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้สอดรับกับแบ่งปันทรัพยากรเพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่เพื่อนมนุษย์ปรารถนาที่จะมีและเป็น ย่างไรก็ดี เนื่องจากกลุ่มต่างๆ ล้วนต้องการ และเพรียกหาความสุข ไม่ว่าจะเป็นสุขแท้ หรือเทียม พึ่งพาสิ่งภายนอกหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวังและใส่ใจก็คือ การแสวงหาความสุขภายในนับเป็นเรื่องเชิงปัจเจก แต่เราจะแสวงหาความสุขภายนอกอย่างไร จึงจะไม่ทำสุขที่เราแสวงหานั้น ไปกระทบหรือกินพื้นที่ความสุขของคนอื่นๆ จนกลายเป็นความขัดแย้งในเชิงลบและนำไปสู่ความรุนแรงต่อไป
(๔) แบ่งปันถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่า จะเห็นว่า ถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่านั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ ล้วนมีความต้องการและปรารถนาที่จะสัมผัสทางหู และภาษากายส่วนอื่นๆ และสิ่งเหล่านี้ หากมองในเชิงโลกธรรม นับได้ว่ามีผลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิต และการดำรงอยู่ของมนุษย์กลุ่มต่างๆ ในสังคม การออกแบบถ้อยคำโดยผ่านกระบวนการคิดอย่างมีเหตุมีผล ผ่านการปรุงแต่งทางอารมณ์ที่เน้นเรื่องความรู้สึกรัก และใส่ใจกันและกันจึงนับเป็นความสำคัญ ฉะนั้น ถ้อยคำดีๆ และมีคุณค่าจึงควรประกอบด้วยเกณฑ์ที่ว่า “จริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ และมีเมตตา” เกณฑ์นี้จะเป็นกรอบที่จะทำให้การเปล่งเวลาของแต่ละมีเป้าหมายและท่าทีที่เป็นบวกมากยิ่งขึ้น
(๕) แบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ มนุษย์ทุกคนในโลกนี้อาจจะคิดว่า เรากำลังหายใจเอาอากาศจากภายนอกเข้าไปเท่านั้น กลุ่มคนจำนวนน้อยที่จะคิดว่า อากาศที่มีอยู่ทั่วไปนั้น ล้วนเคยเป็นอากาศที่เพื่อนมนุษย์ของเราเคยหายใจเข้าไปแล้วหายใจออกมาทั้งสิ้น ประเด็นก็คือ “เรากำลังสูดดมลมหายใจของกันและกันอยู่ทุกวินาที” ฉะนั้น เมื่อใดก็ตาม ในขณะที่เราหายใจเข้าไป ในขณะนั้น เราโกรธ เกลียด ปองร้าย เกลียดชังเพื่อนของเรา หรือใครคนใดคนหนึ่ง เมื่อหายใจออกมา เพื่อนรอบข้างของเราย่อมจักหายใจเอาลมหายใจแห่งความเกลียดชัง ความโกรธ ความอิจฉาริษยา และอาฆาตมาดร้ายเข้าไปด้วย แต่หากการหายใจของเราเป็นไปในเชิงบวก การหายใจเข้าออกของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่รอบข้างเราก็จะเป็นไปในเชิงบวกเช่นเดียวกัน
ส่งท้าย
“ศาสนาช่วยโลกของเราได้อย่างไร?” เป็นประเด็นที่บทความนี้ให้ความสนใจ และใส่ใจคือว่า “หากศาสนาใดๆ ก็ตามในโลกนี้ (๑) ไม่สามารถที่จะทำให้ผู้นับถือมีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างยั้งยืน (๒) ไม่สามารถทำให้อยู่ร่วมกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่นอย่างสงบ และสันติสุข (๓) สร้างความหวาดระแวง และหวาดกลัวต่อมวลมนุษยชาติ (๔) ทำให้ผู้นับถือขาดความตระหนักรู้ และเป็นทาสของวัตถุนิยม หรือคล้อยตามลัทธิบริโภคนิยมโดยขาดการรู้เท่าทัน” คำถามคือ “ศาสนาในลักษณะเช่นนี้ มีคุณค่าเพียงใดที่มนุษยชาติจะต้องให้ความตระหนักรู้ และใส่ใจ เคารพ และนับถือบูชา”
จากการประเมินศาสนาหลักๆ ในโลกนี้ จะพบว่า ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ “เนื้อแท้ หรือแก่นแท้” ของศาสนา เพราะหลักการของศาสนาทุกศาสนาล้วนมีนัยที่มุ่งเน้นให้มวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกันอย่างสงบ และสันติ อีกทั้งเป็นไปเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมแนวทางสันติภาพ สันติวิธี ความสมานฉันท์ และความปรองดองของคนในชาติและสังคมโลก
อย่างไรก็ดี คำถามหลักที่เรามักจะสงสัยก็คือ “ศาสนบุคคล หรือองค์กรทางศาสนาต่างๆ ในโลกนี้” ได้พยายามหรือสนับสนุน รวมไปถึงการพัฒนา หรือยึดมั่นในหลักการและแก่นแท้ของศาสนาตัวเองมากน้อยเพียงใด ทำอย่างไร? ศาสนบุคคลหรือองค์กรศาสนาต่างๆ จะไม่พยายามที่จะ “บิด” หรือ “แปรรูป” หลักการทางศาสนาที่ทรงคุณค่าไปสู่การรับใช้อุดมการณ์ ผลประโยชน์ ความต้องการ และอำนาจของกลุ่มตน หรือองค์กรของตน
นอกจากนี้ ศาสนบุคคลหรือองค์กรทางศาสนาต่างๆ ได้พยายามมากน้อยเพียงใดที่จะชักนำ และชักพาให้ศาสนิกที่เคารพ ศรัทธาและนับถือให้หลุดออกไปจากวงโคจรของวัตถุนิยม หรือบริโภคนิยมที่กำลังถาโถม และพัดพาให้สังคมโลกกำลังประสบกับปัญหาและชาตากรรมที่ดังที่ประสบอยู่ในขณะนี้ อีกทั้ง เราจะนำ “ลัทธิบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม” มารับใช้มนุษยชาติเพื่อการรู้เท่าทัน และพัฒนาตัวเองและสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้อย่างไร
หลักการสำคัญที่ผู้เขียนให้ความใส่ใจคือ “เราจะหันหลังให้แก่ “การแย่งชิง” ไปสู่ “การแบ่งปัน” สิ่งดีๆ ให้แก่กันแลกันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะแบ่งปันความรักให้สอดรับกับความรู้ได้อย่างไร เราจะแบ่งปันผลประโยชน์ และความต้องการด้านทรัพยากร ให้สอดรับกับโลกธรรมที่มีอยู่และดำรงอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร เราจะช่วยกันนิยามความสุขในระดับต่างๆ ตั้งแต่ปัจเจก ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลกเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อกันเพื่อให้สอดรับกับความสุขที่คนเหล่านั้นต้องการได้อย่างไร เราจะแบ่งปันถ้อยคำที่มีคุณค่าและเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดีที่มีต่อกันได้อย่างไร และเราจะแบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ เพื่อให้ลมหายใจของเราเป็นลมหายใจแห่งความรักแทนลมหายใจแห่งการเกลียดชังกันได้อย่างไร ประเด็นคือ “การตอบคำถามเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อความอยู่รอดของตัวเราเองเท่านั้น หากแต่เป็นความอยู่รอดของสรรพสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่ในโลกใบนี้”
..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/400751
ที่มา :
https://www.gotoknow.org/posts/400751
วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2558
ความหมายสันติภาพ
รวบรวมจากการ “สนทนาสันติภาพสู่ต้นกล้าเยาวชน” จัดโดย
ทูตสันติภาพ คณะแกนนาสนทนาสันติภาพ คณะอนุกรรมการทูตสันติภาพฝ่ายวิชาการและการศึกษา
มูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย)
ระดับอุดมศึกษาและกลุ่มผู้ใหญ่
1. สันติภาพ สามารถเรียกได้ว่าเป็นสภาวะแห่งความสันติหรือไม่มีการโต้เถียงอย่างรุนแรงกันเกิดขึ้น "สันติภาพ" ใช้อธิบายการยุติแห่งความแย้งอย่างใช้ความรุนแรง สันติภาพอาจหมายถึงสถานะแห่งความเงียบหรือความสุข สันติภาพสามารถนำมาใช้อธิบายความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีความเคารพ ความยุติธรรมและความหวังดี สันติภาพอาจจะอธิบายการปลดปล่อย ความเงียบ ความเข้าใจในสันติภาพสามารถนำมาใช้ในผู้คนๆ ใดคนหนึ่งได้เช่นเดียวกัน ในกรณีที่มีผู้นั้นไม่ขัดแย้งกับจิตใจของตนเองแต่อย่างใด ความเข้าใจและคำจำกัดความของคำว่า "สันติภาพ" จะแปรผันไปตามแต่ภูมิภาค วัฒนธรรม ศาสนา และสาขาวิชาที่เรียนด้วย
(วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)
2. ความสงบ, ความราบคาบ
(พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)
3. การพัฒนา
(พระสันตปาปาเปาโล ที่ 6 (ค.ศ. 1963 – 1978)
4. คือสิ่งที่ทุกคนใฝ่หา ต้องการได้รับการยอมรับในเรื่องของภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ต้องการให้เรื่องเหล่านี้ได้รับการคุ้มครอง และให้ความเคารพ
(ดาโต๊ะอันวาร์ อิบรอฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย)
5. สันติภาพหมายถึงอะไร ก็คงจะมีหลายคำตอบที่อธิบายภาวะแห่งสันตินั้น อาทิ ภาวะไร้สงคราม ความผสานกลมกลืน ความปรองดอง ความเงียบสงบ ความเยือกเย็น ความแจ่มใส ความไม่กังวล ความพอใจ และยอมรับสภาพของตนเอง ฯลฯ แต่สันติภาพที่แท้จริงนั้น อยู่สูงกว่าและลึกซึ้งกว่าภาวะความสงบทั้งในระดับส่วนตัวและสังคม และสันติภาพมิใช่เรื่องของโครงสร้างและกลไก (นิติบัญญัติ การเมือง เศรษฐกิจ) แต่เป็นเรื่องของประชาชนผู้สร้างสันติ สันติภาพที่แท้จริง เกิดขึ้นจากการยอมรับว่า เรามนุษย์มาจากพระเป็นเจ้าองค์เดียวกัน และเป็นพี่น้องกัน(มธ.25:40)
คำว่าสันติภาพในภาษาฮีบรู คือ Shalom เป็นคำกล่าวทักทายกันในปาเลสไตน์สมัยของพระเยซูเจ้า ที่แสดงออกถึงความปรารถนาดีให้แก่ผู้รับว่า ขอให้ปลอดภัย ในพระคัมภีร์ของชาวยิว shalom หมายถึง ความผาสุข ซึ่งเป็นการขอให้คุณได้รับพระพรในสิ่งที่ดี หรือในพี่น้องมุสลิม คำว่า Salaam คือสันติภาพ ซึ่งเป็นคำที่ใช้ทักทายเมื่อเจอกัน หมายถึงขอให้สันติอยู่กับท่าน ซึ่งแสดงออกถึงความปรารถนาดีที่มีต่อกัน
(อัจฉรา สมแสงสรวง ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม)
6. “สันติภาพนั้นเกิดจากการตื่นตัวของผู้คนในแต่ละชุมชนที่จะสร้างสังคมแห่งสันติสุขในบริบทของแต่ละชุมชนเอง” ในภาษาสเปน คำว่า สันติภาพ(Paz) สามารถใช้ในรูปของพหูพจน์ได้ เพราะฉะนั้นความหมาย ของคำว่า “Paces” นั้นก็คือความหลากหลายของสันติภาพ สันติภาพในหลากหลายบริบท และรูปแบบของสันติภาพที่สร้าง
(ศาสตราจารย์ วิเซนต์ มาติเนส กูสมัน (Vicent Martinez Guzman) นักปรัชญาสันติภาพแห่งวิชาสันติศึกษา)
7. คำว่า “peace” ในภาษาอังกฤษ คำว่า “paix” ในภาษาฝรั่งเศส คำว่า “pace” ในภาษา อิตาเลียนและคำว่า “paz” ในภาษาโปรตุเกสและสเปน มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า “pax” หรือ “paics” ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์คำว่า “pax” ถือกำเนิดขึ้นในจักรวรรดิโรมัน คำคำนี้หมายถึง ช่วงเวลาที่ไม่มีสงครามหรือสงครามกลางเมือง Santo Agostinho ซึ่งเป็นบิชอบในนิกายแคทอลิกในศตวรรษที่ 4 ได้ให้นิยามคำว่า “Paz” ไว้ว่าหมายถึง ความสงบเรียบร้อย
(บิช็อบคาร์ลอส ฟิลิเป ซีเมเนส เบโล ผู้แปล ดร. เจนจิต กสิกิจธำรง, ผศ. ดร. เคิร์ก เพอร์สัน, และ อ. จรัญญา เทพพรบัญชากิจ บัณฑิตวิทยาลัยและการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยพายัพ)
8. คือความงดงามของชีวิต
9. คือ การที่เราเป็นอิสระ ใช้ชีวิตในแบบที่เราเป็นอยู่ และก็อยู่กฎเกณฑ์ที่สังคมสร้างมันขึ้นมา แต่ใช่ว่าเราจะทำอะไรตามอำเภอใจของเราไปเสียทุกเรื่อง ภายใต้สันติภาพคือ ความเคารพกฎหมาย พึ่งมีสิทธิ์ที่เราควรจะมี และเราก็ไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของผู้ใด
10. คือสภาวะที่สงบสุขไม่มีความขัดแย้งและไม่มีสงครามเกิดขึ้น
11. คือ การเป็นอิสระ ใช้ชีวิตในเป็นอยู่ ตามกฎเกณฑ์ที่สังคมสร้าง ความเคารพกฎหมาย พึ่งมีสิทธิ์ที่ควรมี และไม่ไปละเมิดสิทธิ์ของผู้ใด
12. คือความเสมอภาคทางสังคม
13. คือ ความรัก ความสามัคคี
14. คือความสงบ ปรองดอง
15. คือ ความสุข
16. คือความดี
17. คือธรรมะ
18. คือศาสนา
19. สถานะที่ปราศจากสงคราม
20. ความสงบสุข ซึ่งเกิดได้จากการที่คนในสังคมมี'ความเชื่อ'ที่สอดคล้องกัน
21. การไม่ทะเลาะกัน
22. ความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเคารพ ความมั่นคง ความหนักแน่น
23. สถานะแห่งความเงียบหรือความสุข สันติภาพสามารถนำมาใช้อธิบายความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีความเคารพ ความยุติธรรมและความหวังดี สันติภาพอาจจะอธิบายการปลดปล่อย ความเงียบ ความเข้าใจในสันติภาพสามารถนำมาใช้ในผู้คนๆ ใดคนหนึ่งได้เช่นเดียวกัน
24. “ความสงบ” ความสุขและความ ร่มเย็น
(พลเอกเทอดศักดิ์ มารมย์ ทูตสันติภาพ)
25. ความสันติสุขส่วนบุคคล หรือสันติสุขในครอบครัวอันเกิดจากความรักที่บริสุทธิ์ ความรักที่เสียสละส่วนบุคคลโดยที่แท้จริง ด้วยการปลูกฝังสันติสุขในเรือนใจ จนกลายเป็น “เรือนเพาะชำเมล็ดพันธุ์ และต้นกล้าของสันติสุข และสันติภาพสากลของมวลมนุษย์ชาติ สันติสุข และสันติภาพ จึงเป็นมรดกของ “ความรักที่แท้จริง” “ความเมตตา” ความพร้อมที่จะให้อภัย และความพร้อมที่จะให้โอกาสแก่เพื่อนมนุษย์ผู้หลงผิดอย่างปราศจากเงื่อนไข
(ผศ.ดร. สุทิน นพเกตุ ทูตสันติภาพ)
26. สันติภาพคือ สภาวการณ์ซึ่งบุคคลต่างๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ ในลักษณะประนีประนอม และเมื่อมีปัญหาข้อขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น ก็ใช้เฉพาะสันติวิธีเท่านั้น ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
(นางพนิดา ดวงจินดา ทูตสันติภาพ)
27. คือความรัก
(นายแพทย์เล็ก ทวีเติมสกุล ทูตสันติภาพ)
28. สงบ ไม่มีการประทุษร้ายต่อกันทั้งการคิด การพูด และการแสดงออก
(รศ.ดร. อุทัย ภิรมย์รื่น ทูตสันติภาพ)
29. ความสงบเย็น ทุกคนอยู่ด้วยความเป็นมิตร ทำงานร่วมกันด้วยความสามัคคีไม่มีความรุนแรง ความสงบเย็นของแต่ละคน จะก่อให้เกิดปัญญา หลายๆๆปัญญารวมกัน จะทำให้สังคมอยู่เย็นเป็นสุข
(นางเย็นฤดี วงศ์พุฒ ทูตสันติภาพ)
30. คิดดี พูดดี ทำดี ลงมือกระทำ และรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
(นางนิตยา ลักษณวิสิษฐ์ ทูตสันติภาพ)
31. ภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า “Peace” คือ “ความสงบ” หรือ “ความสงบสุข” (สงบอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีความสงบสุขด้วย)
สันติภาพจะเกิดขึ้นได้เมื่อมนุษย์ทุกคนมีพฤติกรรมดังนี้
1. มีความพอเพียงในความเป็นอยู่ของตน (เศรษฐกิจพอเพียง)
2. ปราศจากความอิจฉาริษยาผู้อื่น
3. ปราศจากการเบียดเบียนผู้อื่น
4. รู้จักตัดกิเลส ตัณหา ความอาฆาตพยาบาท การล้างแค้น
5. รู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา
6. มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์
7. มีคุณธรรม จริยธรรมด้วยใจจริง (มิใช่ด้วยปาก หรือการเสแสร้ง)
8. ประพฤติตามกฎหมายของบ้านเมือง มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใด วัยใด ท่านคือ อนูหนึ่ง หรือหน่วยหนึ่งของสังคม หลายสังคมจะรวมกันเป็นประเทศ เมื่ออนูเล็กๆ ซึ่งเปรียบเสมือนรากหญ้า (Root) ของสังคม ประพฤติตนดี โลกก็จะมีความสงบสุข (Peace) สงคราม หรือแม้แต่การต่อสู้ การชิงดีชิงเด่นก็จะไม่เกิดขึ้น
พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถระสมาคมที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 จากจังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้ข้อคิดด้านสันติภาพไว้ 2 ประการ
คือ 1. ความแตกแยก เกิดจากนักการเมืองเสพติดวัตถุนิยม ผลประโยชน์ และอำนาจมากเกินไป เพราะผลประโยชน์ และกิเลส ตัวตัณหา มานะทิฎฐิ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด หลักการ และอุดมการ
2. สันติภาพ จะเกิดขึ้น ถ้าทุกคนลดความระแวงต่อกัน ไว้วางใจกัน และมีความจริงใจ เมตตารักใคร่กัน
(ดร.มล. ปริยา นวรัตน์ ทูตสันติภาพ)
32. สันติภาพ คือความร่มเย็น ความรู้สึกที่ว่าผู้คนในสังคมอยู่ด้วยกันอย่างไม่หวาดระแวงมีความมิตรไมตรีต่อกัน ความเกลียดชังให้ผลเป็นทุกข์ ความรักให้ผลเป็นสุขเมื่อเราเชื่อว่าสันติภาพเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน อยู่ตรงกลางจิตใจ เราต้องตัดสินใจว่าต้องการให้พื้นที่ข้างในจิตใจของเราเป็นพื้นที่ของความเกลียดชัง หรือความรักมนุษย์ทุกคนน่าจะตัดสินใจเลือกได้
(ผศ.ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล ทูตสันติภาพ)
33. สันติภาพ คือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พึ่งพาอาศัยกัน และแบ่งปันซึ่งกันและกัน
(นายรวีทิวัตถ์ ศรีสุทธิสอาด ทูตสันติภาพ นายกสมาคมสมาคมเพื่อองค์การเวิลด์คาร์พ)
34. (โดยวิเคราะห์) สันติภาพ= ความสงบสุข
สังคมที่มีสันติภาพ = สังคมที่มีความสงบสุข
สังคมที่มีความสงบสุข = ทุกคนอยู่อย่างสงบ ทุกคนมีความสุข
ทุกคนอยู่อย่างสงบ = แต่ละคนไม่ทำชั่ว
การไม่ทำชั่ว = การไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
ทุกคนมีความสุข = แต่ละคนทำดี
การทำดี = การทำให้คนอื่นพอใจ
(โดยสังเคราะห์) สังคม = คนหลายคนอยู่รวมกัน
แต่ละคนทำให้คนอื่นพอใจ = ทุกคนมีความสุข
แต่ละคนไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน = ทุกคนอยู่กันอย่างสงบ
ทุกคนมีความสุข และอยู่อย่างสงบ = สังคมก็มีความสงบสุข = เกิดสันติภาพในสังคม
การสร้างสันติภาพ สันติภาพเกิดขึ้นได้จาก การคิด และการกระทำของมนุษย์ สัญชาติญาณของมนุษย์ จะคิดถึงตนเองก่อนคนอื่น การคิดถึงตนเองทำให้มนุษย์เกิดความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน เมื่อคนเดือดร้อน ก็ทำให้เกิดความไม่สงบ เมื่อเกิดความไม่สงบ คนจะไม่มีความสุข เมื่อไม่มีความสงบและไม่มีความสุข ก็ไม่มีสันติภาพ ดังนั้น ต้องจูงใจและปลูกฝังให้มนุษย์คิดถึงคนอื่นก่อนตนเอง เมื่อจะทำอะไร ให้คิดว่าจะเกิดผลกระทบต่อคนอื่นหรือไม่อย่างไร ถ้าทำแล้วคนอื่นไม่เดือดร้อน และคนอื่นพอใจ จึงควรทำดังนี้แล้ว ทุกคนจะมีความสุขและอยู่กันอย่างสงบ เมื่อสังคมสงบสุข สังคมนั้นก็มีสันติภาพ
(นายจารึก อะยะวงศ์ ทูตสันติภาพ)
35. คำว่า “สันติภาพ” แปลว่า ความสงบ (Peace) หมายถึง ภาวะปราศจากความขัดแย้ง ความเป็นอยู่ หรือการมีชีวิตอย่างสงบสุขราบเรียบ เปรียบเหมือนมหาสมุทรซึ่งปราศจากคลื่น
“ทางสู่สันติภาพ” (The way to Peace) มีดังนี้
1. มีเมตตา (Loving Kindness) เมตตา คือ ความรักใคร่ เป็นมูลเหตุแห่งสันติภาพ เมตตาอยู่ที่ใด สันติภาพอยู่ที่นั่น สันติภาพ คือ เงาของเมตตา
2. อหิงสา (Non-Violence) คือ ความไม่เบียดเบียน “มหาตมะคานที” นักการศาสนาและนักปกครอง ของอินเดียยึดมั่นในหลัก “อหิงสา” (Non-Violence)
3. ภราดรภาพ (Brotherhood) คือ ความรู้สึกเป็นพี่น้อง เมื่อไร เรามี “ภราดรภาพ” เมื่อนั้นสังคมย่อม มี “สันติภาพ”
เชื่อมั่นว่า หากมนุษย์ยึดมั่นและปฏิบัติตามธรรม 3 ประการนี้ โลกมนุษย์จะมีความสุข-สงบ(สันติภาพ) ปราศจากสงคราม
(ดร. เลิศลักษณ์ สังขวรรณ ทูตสันติภาพ)
36. สันติภาพ คือ ความเป็นอยู่ที่มีความสงบ ตามหลักของอหิงสา
(ดร. ปฐมพงศ์ นฤพฤฒิพงศ์ ทูตสันติภาพ)
ระดับมัธยมศึกษา
37. สันติภาพ คือ การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขและมีความเข้าใจกัน ถึงแม้ว่าในสังคมนั้นๆจะมีความขัดแย้งกันก็ตาม ซึ่งคนในสังคมมีมุมมองของความเป็นมนุษย์เหมือนกันแล้วสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ เพราะในสังคมแต่ละสังคมเป็นไปไม่ได้หรอกว่าจะไม่มีความขัดแย้งเลย มันต้องมีอยู่ทุกสังคมแหละความขัดแย้ง แต่มันอยู่ที่มีความเข้าใจและการปรับตัวมากน้อยเพียงใดในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ปราศจากสงคราม นั้นแหละที่คิดว่าสันติภาพ
38. สันติภาพ คือ การปรากฎขึ้นบนหลักความเป็นจริง ที่ถูกต้องและสามารถอธิบายได้ถึงหลักการที่แท้จริงในทางปฎิบัติทั้งรูปธรรมและนามธรรม โดยไม่หวนคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต
39. สันติภาพ คือ การที่คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่มีความขัดแย้งกัน เคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน
40. สันติภาพคือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สงบสุข ท่ามกลางความขัดแย้งในสังคม โดยทุกคนในสังคมจะต้องสมานสามัคคีกัน เพราะสังคมย่อมมีความขัดแย้งกันในทุกสังคม ทุกชนชั้น ฉะนั้นทุกคนจะต้องพึงระลึกว่าไม่ควรเบียดเบียน และไม่ทำให้คนอื่นในสังคมต้องเดือดร้อนเพราะการกระทำของตนเอง หากว่าทุกคนในสังคมขาดสิ่งต่างๆเหล่านี้ สังคมก็มิอาจสงบสุขลงได้ จะมีแต่ความวุ่นวาย เกิดซึ่งการทะเลาะวิวาทและนำมาซึ่งการสูญเสียทั้งเลือดเนื้อและทรัพย์สิน สันติภาพจึงหมายถึง การปรองดองกันในสังคมทุกชนชั้น และควรมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ที่สำคัญทุกคนจะต้องมีจิตสำนึก และความรู้สึกที่ เอื้อเฟื้อ อภัย และ อดทน ด้วยสังคมถึงจะสงบสุขและเกิดสันติภาพอย่างแท้จริง
41. สันติภาพ คือการที่คนเราอาศัยอยู่ในสังคมเดียวกันและมีการเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ก้าวก่ายกันอาศัยกันอยู่ในสังคมอย่างสงบและปราศจากความรุนแรง
42. สันติภาพ คือ ความสงบ สันติ ไม่ทะเลาะก้าวก่ายกัน ในสังคมหรือประเทศเดียวกัน สันติภาพนี้จะทำให้ประเทศและสังคมสงบสุข
43. สันติภาพ คือ ก่อนที่จะเกิดคำว่าสันติภาพ มันจะต้องเกิดความขัดแย้งในเรื่องหนึ่งเรื่องใดขึ้นมาก่อน เพราะแน่นอนว่าหากสังคมหนึ่งๆ ไร้ซึ่งปัญหาความขัดแย้ง คำว่าสันติภาพ ที่ทุกคนต้องหันมาปรองดองกันนั้นก็คงไม่เกิดขึ้น ซึ่งด้วยพื้นฐานทางสังคมที่มีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน อย่างน้อยที่สุดก็เรื่องเพศ อายุ ฐานะทางสังคม จนไปถึงความแตกต่างทางด้านความคิด (ซึ่งสำคัญมากกกกก) นั้น ความขัดแย้งจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเกิดขึ้นมาในสังคมดังนั้น คำว่า "สันติภาพ" ก็คือ ภาพแห่งความสงบสุข ที่แต่ละฝ่ายในสังคมซึ่งมีความขัดแย้งกันในเรื่องต่างๆ เป็นทุนเดิมนั้น หันมาร่วมมือกัน ปรองดองกัน ด้วยวิธีการที่ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับในความแตกต่างของกันและกันได้ เพื่อสร้างสังคมที่มีความสงบสุข ร่มเย็น และทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สันติ ตามความคาดหวังของสมาชิกในสังคมนั้นๆ
44. สันติภาพ เมื่อพูดถึงสันติภาพ ก็จะแสดงถึงความสัมพันธ์ก็ที่ดีของคนในชาติ ซึ่งอาจจะหมายถึงรวมถึงความสามัคคีและการอยู่ร่วมกันในสังคมที่ดีมีแต่ความสงบสุข
45. สันติภาพ คือ สภาวะสงบ
46. สันติภาพ คือ ความที่ทุกคนมีความพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่เกิดความขัดแย้ง ต่างฝ่ายต่างพึงพอใจ สงบสุข ทุกชนชั้นมีความสุขไม่มีการเบียดเบียนกัน หรือเหยียบคนอื่นเพื่อนที่ตนเองจะได้ก้าวขึ้นสู่ที่สูง {แต่เราคิดว่าเกิดได้ยาก แต่ก็ใช่จะเกิดขึ้นไม่ได้}
47. นิยามของคาว่าสันติภาพในความหมายของผม
สันติ คือ ความสงบสุข
ภาพ คือ สิ่งที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตาของเรา
คำว่าสันติภาพในความหมายโดยตรงแปลว่าความสงบสุขที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาของเรา
แต่ในความจริงคงจะเป็นการยากที่เราจะสามารถรับรู้ได้ถึงสันติภาพ เพราะในยุคปัจจุบันหลายๆคนคงคิดถึงแต่ตัวเองปัจจัยที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือเงินและความสุข ซึ่งถ้าเราทุกคนมองแต่เรื่องเงินกับความสุขส่วนตัวเองนั้นก็คงจะเป็นการยากที่เราจะได้รู้ถึงสันติภาพ
ในความคิดของผม สันติภาพคือการหันหน้าเข้าหากัน เมื่อมีปัญหาหรือมีข้อโต้แย้งใดๆก็คุยกันและสร้างข้อตกลงเพื่อให้เกิดเป็นความสุขของคนส่วนใหญ่ สันติภาพอาจจะเป็นการไม่โต้เถียงกันด้วยความรุนแรง ทุกสังคมเมื่ออยู่ด้วยกันย่อมมีปัญหาและการจะแก้ปัญหานั้นก็จำเป็นจะต้องรู้จักที่จะพูดมันออกมา เมื่อเรารับรู้ถึงปัญหาของผู้อื่นทางที่เราจะสามารถอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขได้ก็คือช่วยกันคิดและแก้ปัญหาไม่ใช่การหนีปัญหา
อย่างสุดท้ายสันติภาพคือความสงบสุข ความสงบสุขในที่นี้ไม่ใช่ว่าสงบ อยู่แต่กับตัวเอง ความสงบอาจจะหมายถึงการไม่มีปัญหาใดๆซึ่งก่อให้เกิดข้อพิพาทในหลายๆฝ่าย การจะได้มาซึ่งสันติภาพนั้นต้องเริ่มจากตัวเราเองที่จะไม่มองผลประโยชน์ของตนมากเกินไปต้องรู้จักการแบ่งปัน การให้ และการเสียสละเพื่อผู้อื่นจึงจะทำให้เกิดสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองครับ
(สรรค์ สุวรรณ นักเรียนระดับชั้นม.6 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา)
48. สันติภาพ คือ การตัดสินใจที่ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เช่นปัญหาชายแดนใต้ที่ใช้กำลังในการแก้ไขมากกว่าความคิด ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งจริงๆแล้วสามารถใช้สันติภาพในการแก้ไขปัญหาได้
(นายอธิศ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ม.6/8)
ระดับประถมศึกษา
49. สันติภาพ คือ ความสงบสุข ที่ไม่ใช้กำลังในการขจัดปัญหา ความร่วมมือกันในการทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพ
(ด.ญ. อภิชญา ตติยภัณฑรักษ์ ป.6/4)
จากกลุ่มเยาวชนผ่านเครือข่าย Face Book ของนายวริทธิ์ อนุชิราชีวะ
50. ก็ประมาณว่า อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ไม่มีเรื่องกัน (Ploy Likitrattanakorn)
51. สันติภาพคือ สิ่งที่คนต้องการมากๆ แต่ไม่เคยมีเลยแม้แต่ในใจของคนเรา (Akira Matsuo)
52. คือสันติ แต่ไม่ได้แปลว่ามีเสรี (Xora Chatikaratna)
53. สันติภาพหมายถึงความสงบสุขที่ไม่เคยเกิดขึ้น บางทีก็ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อทำประโยชน์ให้ตัวเองหรือพวกพ้อง (ใครซักคน บนโลกใบนี้)
54. สงบสุข (Wannaporn Suwannahem)
55. คือ สถานะแห่งความเงียบ (Apipoo Twojump)
56. ความสงบสุข ไม่ทะเลาะกัน (Natty Mungkornpanich)
57. สันติสุข ครับผม (Hin Bcc)
58. การที่คนเราไม่เอาเปรียบกัน (Chapat Tiwutanond)
59. ทุกคน หรือ ทุกหมู่เหล่า มีการเกื้อกูล ถ้อยที ถ้อยอาศัย เข้าใจกัน ตามระบบ และ ข้อปฏิบัติที่ได้ตกลงกันไว้นะ (Goong ฉันไม่ใช่ผู้วิเศษ)
60. Peace (Theerachat Nintanawongsa)
61. ภาพที่ว่า อยู่อย่างที่เราเป็นแล้วไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน (Chawin Piyapinyo)
62. คือการที่ ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างมีสันติ และ มีสิทธิของแต่ละคนอย่างเสมอภาคกัน โดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน (Simon Tse)
63. อืมมม อะไรดีล่ะ... ทั้งๆที่ "สันติภาพ" และ "peace" น่าจะเป็นคำเดียวกัน แต่ในความรู้สึกเราให้ความหมายต่างกันแฮะ สันติภาพ = สิ่งที่ทุกคนต้องการเวลาอยู่ร่วมกัน (ให้อารมณ์ว่าหลายคน) ถ้าพูดว่า peace แล้ว คิดว่าเป็นความสุขในจิตใจของคนๆ เดียว (Candy Tarinee Kiatbanlue)
64. ชีวิตราบรื่น (Baabbie BuabBuab)
65. ว่างเปล่า (Suphawit Jangpanichkul)
66. ความสงบ ไม่มีการระรานกัน ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งโลกมีแต่ความรักและการให้อภัย (Ornsupa Sripaiboon)
67. ความสงบสุข (Kuru รักในหลวงสุดๆ)
68. สันติภาพคือสิ่งที่นำมาซึ่งความสุขและรอยยิ้ม (Tamp Chobhimaves)
69. มันแล้วแต่ว่าเป็นสันติภาพของใคร คิดว่าสันติภาพคือความรู้สึกอย่างนึงที่เป็นภาพรวมของคำว่าสงบ (Jasper Z Rjp)
70. ความสงบสุขที่ไม่มีใครต่างมาเบียดเบียนกัน (Toddy Chen)
71. สันติภาพ คือ สิ่งที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข (Deuil Nakagawa)
72. สันติภาพคือสิ่งที่ทุกคนต่างปรารถนา แต่ปราศจากความร่วมมือจากทุกคนเพื่อที่จะได้มันมา (ป๋อมแป๋ม มีสุขเสมอ)
73. Peace สันติ ความสงบ (JazzyEarth Kantapn)
74. สันติภาพคือความปรองดอง (Pring Sama)
75. ความสงบในสภาวะความวุ่นวาย (Sleepper Kuun)
76. ความว่างเปล่า (Khemchira Lerkrai)
77. ภาพของความสงบ ซึ่งก็คือเป็นแค่ภาพเฉยๆ (Paul Sanpatchaya)
78. การที่เรากินก๋วยเตี๋ยวอยู่ แล้วไม่มีใครมาแย่งกินลูกชิ้น แต่ก้อแบ่งให้กินได้นะ (อากูม่อน)
79. ตามพจนานุกรม หมายความว่า ความสงบ, ภาวะปลอดจากสงคราม สำหรับน้องพี่บอกว่า ความสงบสุข สำหรับพี่ พี่เห็นเป็นบรรยากาศ ต้นไม้เขียวๆ ริมบึงน้ำนิ่งๆ ฟ้าสีฟ้าใสๆไร้เมฆ นกเกาะนิ่งอยู่บนกิ่งไม้ริมบึง และเรานั่งยิ้มๆดูภาพนั้น (ความสงบ ที่มีความสุขอยู่ในนั้น) (Korrakoj Suksubvasin)
จากกลุ่มเยาวชนจากศูนย์เยาวชนอาสาบัณฑิตสร้างสรรค์ รวบรวมโดย นายมนัส ศิริสุขนิวาส
80. การอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ความปรองดอง
81. ความจริงใจ ความซื่อสัตย์และเสียสละ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน
82. ความเข้าใจในความคิดของกันและกัน ยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น
83. การร่วมมือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
84. เสียสละเพื่อผู้อื่น ก่อนจะทำเพื่อตัวเอง
85. อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
86. เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
87. การอยู่ร่วมกันของประชากรทุกคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลโลกเป็นประชากรของประเทศเดียวคือประเทศ และมีสัญชาติโลก(ไอสไตน์)
88. การที่ทุกคนยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกันเพื่อเพื่อสิ่งที่ดีและสิ่งที่จะพัฒนาไปสู่การยอมรับของทุกคน
89. คือการที่คนเรานั้นทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ขุ่นมัว สิ่งที่ตามมาจะทำให้เราอยู่กับคนในสังคมได้ทุกเมื่อ(ทำใจให้เป็นกลาง)
90. รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่หาข้อยุติของส่วนรวม แล้วสันติภาพก็จะเกิดขึ้นเอง
91. การอยู่ร่วมกันโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว
92. ความปรองดองความเป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน
93. มีความสุข สงบ ปิติ
94. มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกัน รักใคร่ เสียสละ เอื้ออาทร ห่วงใย เข้าใจ
95. แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับคนรอบข้าง มีชีวิตที่เสียสละรับใช้สังคม ประเทศชาติ และโลก
96. มีความสามัคคี เข้าใจ ไว้ใจ
จากกลุ่มเยาวชนเพียวเลิฟ (Pure Love) รวบรวมโดยนายจักริน เอี่ยมสาอาง
97. สันติภาพ คือ สภาวะที่มีความสุข ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความรักบริสุทธิ์และปัญญา
(นิตยา ทรงศรี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคาแหง)
98. สันติภาพ คือ สภาวะที่มีความสุข ปราศจากความขัดแย้ง
(ธนาภัทร ชะอุ่มศรี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคาแหง)
99. สันติภาพ คือ สภาวะที่เปี่ยมด้วยความสุข ทั้งความสุขในใจของปัจเจกชนแต่ละคน และความสุขในหมู่ชน
(คัมภีรดา สุขแสวง นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคาแหง)
100. สันติภาพ คือ สภาวะที่ไม่มีสงคราม ความขัดแย้ง เกิดจากการใช้ความรัก ความเข้าใจ โดยไม่ใช้กำลังและความรุนแรงทุกรูปแบบ
(นที เชิดวิวัฒนศิลป์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคาแหง)
101. สันติภาพ คือ สภาวะดับทุกข์ ด้วยปัญญาและเมตตา
(ธนากร โตโส นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคาแหง)
102. สันติภาพ คือ สภาวะที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว เริ่มจากในใจของแต่ละคน
(รัตนา เพชรจารัส นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคาแหง)
103. สันติภาพ คือ สภาวะที่มีความสงบ ร่มเย็น เป็นสุข
(ศรัญญา ภักดิ์มี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคาแหง)
104. สันติภาพ คือ สภาวะที่สังคมมีความมั่นคงและความสงบสุข เกิดจากผู้คนปฏิบัติตามกฎหมายและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม
(ฉัตรงค์ ดาเนินการ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคาแหง)
105. สันติภาพ คือ ความกลมกลืนและความสมัครสมานสามัคคีของคนในสังคม
(อมรรัตน์ สีเลิศ, นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคาแหง)
106. สันติภาพ คือ ความสงบ ร่มเย็น เป็นสุข ทั้งภายในใจและภายนอก
(วรวรรธน์ อดิรุจน์กิตติ์ธัญญา นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคาแหง)
107. ความสงบเย็นของจิตที่เกิดจากความรัก ความสามัคคี และความปรารถนาดีที่มีต่อกันของมวลมนุษยชาติ โดยไม่มีการเลือกชั้น วรรณ ศาสนา และเพศ
(ว่าที่ ร.ต. กฤษณศักดิ์ กัณฐสุทธิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)
108. ไม่มีสงคราม ... ?
คนยิ้มแย้มให้กัน ... ?
ผู้คนใช้ชีวิตแบบนักบุญ ... ?
ผู้คนเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรมสูงส่ง ... ?
มีความยุติธรรม ... ?
หรือว่า ... สันติภาพ แท้จริงแล้ว เริ่มที่ "สันติ" ภายในจิตใจแต่ละคน?
ภาษาสันสกฤตและภาษาลาตินมีการเชื่อมโยงกัน ... และคำว่าสันติมีรากจากสันสกฤตหรือบาลี
ในลาตินก็มีคำว่า sanctus ซึ่งสื่อความหมายได้ว่า "ศักดิ์สิทธิ์" "น่าเคารพ" "มั่นคง-หนักแน่น"
ถ้าสมมติเป็นเช่นนั้น สันติภาพย่อมหมายถึง ความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเคารพ ความมั่นคง ความหนักแน่น
(จาก ชมรมอมยิ้ม แจ้งมาทาง Facebook /Peace is)
รวบรวมโดย สำนักงานเลขานุการทูตสันติภาพ
กุมภาพันธ์ 2555
ทีมา :
http://www.upf.or.th/2010/index.php?option=com_content&view=article&id=192%3Athe-meaning-of-peace&catid=49%3Aambassader-for-peace&Itemid=37
วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา
ที่มาภาพ:
http://enoomind0908.blogspot.com/2012/08/asean.html
ในที่นี้จะกล่าวถึงประเด็นทั้งความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา เนื่องจากมีความเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของความขัดแย้งได้อย่างชัดเจน และแม้ว่าทั้งไทยและกัมพูชาจะมีความขัดแย้งกัน แต่ก็สามารถจัดการกับความขัดแย้งได้โดยอาศัยกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกัน
การวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา
ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาบนพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และลัทธิชาตินิยม
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาในปัจจุบันนั้นมีรากฐานเกิดมาจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และลัทธิชาตินิยมเป็นหลัก ปัญหาประการแรกของประเทศทั้งสองนั้นเกิดจากการขีดแบ่งเส้นแดนโดยจักรวรรดินิยม ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างไทยอีสานใต้และกัมพูชาแล้ว จะเห็นได้ว่าดินแดนทั้งสองต่างก็เป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมแบบเดียวกัน มีลักษณะทางชาติพันธุ์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แต่ดินแดนทั้งสองส่วนต้องแยกจากกันเพราะวิธีคิดการแบ่งเขตแดนแบบรัฐชาติ (Nation State) สมัยใหม่ตามแบบที่จักรวรรดินิยมตะวันตกพึงปรารถนาให้เป็น หรือกล่าวได้ว่าเป็นการแบ่งเขตแดนเพื่อการจัดการผลประโยชน์เหนือดินแดนของจักรวรรดินิยมตะวันตกนั่นเอง
ทั้งนี้ เมื่อมองย้อนไปในอดีตก็จะเห็นถึงความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างไทยอีสานใต้และกัมพูชาบนพื้นที่ความขัดแย้งในปัจจุบัน คือ พื้นที่บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทเขาพระวิหารซึ่งพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรขอมได้สร้างเทวสถานบนเทือกเขาพนมดงรัก (เพี๊ยะนมดงเร็ก) เพื่อให้ชาวเขมรสูง (อีสานใต้) และชาวเขมรต่ำ (กัมพูชา) ได้สักการะเทวสถานแห่งนี้ร่วมกัน อันแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และความผูกพันทั้งในอดีตและปัจจุบันของดินแดนทั้งสอง ซึ่งในปัจจุบันดินแดนดังกล่าวกลับเป็นกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ต่างฝ่ายต่างยึดถือเขตแดนและกฎเกณฑ์ที่ตะวันตกได้กำหนดเอาไว้ มิได้มองถึงวัตถุประสงค์ของผู้สร้างปราสาทเขาพระวิหารที่มีเจตนาให้ดินแดนเขมรทั้งสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์ (การสักการบูชาร่วมกัน) อีกทั้งรัฐไทยและรัฐกัมพูชาสมัยใหม่ยังมองข้ามบริบททางวัฒนธรรมที่เป็นวัฒนธรรมชุดเดียวกันของดินแดนทั้งสอง ทำให้ทั้งสองฝ่ายยึดถือแต่ผลประโยชน์แห่งชาติ(National Interest) บนเส้นแบ่งเขตแดนตามแบบชุมชนในจินตนาการ (Imagine Community) ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างกันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัญหาอีกประการ คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยได้ถูกหล่อหลอมจากกระบวนการ ตำรา และแบบเรียนภายใต้อุดมการณ์แบบชาตินิยมที่ประกอบสร้างให้เราเกลียดพม่า กลัวญวน และดูหมิ่นเขมรซึ่งหากหันไปมองประวัติศาสตร์ก็จะเห็นได้ว่าสยามในอดีตนั้นก็เป็นเพียงดินแดนของคนเถื่อนเท่านั้นในขณะที่ขอมเป็นดินแดนอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นได้จากภาพแกะสลักนูนต่ำ "เสียมกุก" หรือ นี่เหล่าคนสยาม (กองทัพสยาม) บริเวณระเบียงรายรอบปราสาทนครวัด ซึ่งเป็นภาพที่บรรยายถึงในรัชสมัยของพระเจ้า
สุริยวรมันที่ 2 ได้เกณฑ์ไพร่พลในดินแดนรัฐบรรณาการของพระองค์ที่หนึ่งในนั้น คือ เสียม สยำ หรือ สยาม นั่นเอง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าแบบเรียนที่เน้นศักดิ์ศรีและยิ่งใหญ่ของชาติเกินความเป็นจริงโดยไม่ย้อนไปมองบริบททางประวัติศาสตร์ ย่อมจะเกิดผลเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ต้องไม่ลืมนึกถึงกฎเกณฑ์วัฏจักรทางประวัติศาสตร์ที่อาณาจักรใดก็ตามมีจุดสูงสุดก็ย่อมจะต้องตกต่ำลงเป็นธรรมดา ปัจจุบันเราอาจจะเหนือกว่าเขาแต่ในอดีตเขาก็เคยเหนือกว่าเราเช่นกัน
ปัญหาอีกส่วนหนึ่งของความเป็นชาตินิยมแบบคลั่งชาติภายใต้กระบวนการสร้างแบบคู่ตรงข้าม (Binary Opposition) ทำให้ชาติของเราดูดีงาม และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมแต่ในขณะเดียวกันก็สร้างภาพให้ชาติอื่นกลายเป็นศัตรูถาวรที่มีแต่ความเลวร้ายหรือต่ำต้อยกว่าเรา ดังจะเห็นได้จากรัฐไทยนั้นติดอยู่กับบ่วงวาทะกรรมว่าอยุธยานั้นถูกหงสาวดีเป็นศัตรูถาวรที่รุกรานเผาบ้านเมืองและปล้นสะดมนานหลายร้อยปี แต่หากมองดูที่ประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับกัมพูชา จะเห็นได้ว่าช่วงความรุ่งเรืองของอยุธยานั้นเป็นช่วงที่กัมพูชาหรือกัมโพชเสื่อมถอยลง เมื่ออยุธยามีอำนาจที่เข้มแข็งก็ได้มีการขยายอำนาจรุกรานดินแดนที่อ่อนแอกว่าเช่นกัน ดังเห็นจากการขยายอำนาจครั้งสำคัญในรัชสมัยของพระบรมราชาที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา แห่งอาณาจักรอยุธยา ซึ่งการขยายขอบขัณฑสีมารุกรานกัมพูชาในครั้งนั้นอยุธยาได้ทำการเผาและปล้นสะดมอาณาจักรกัมพูชา เช่นเดียวกับที่อยุธยาถูกหงสาวดีกระทำในกาลต่อมา หรือจะเป็นเมื่อครั้งพระนเรศวร ที่พระองค์ทรงพักจากศึกหงสาวดีแล้วไปทำสงครามสั่งสอนกัมพูชา โดยในสงครามครั้งนั้นอยุธยาได้ทำการเทครัวและกวาดต้อนชาวเขมรเพื่อไปเป็นแรงงานให้แก่อยุธยาเป็นจำนวนมาก หรือจะเป็นในรัชสมัยของพระเจ้าตากสินหลังจากการปราบดาภิเษกเถลิงราชสมบัติเป็นการสำเร็จ พระองค์ก็มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแพร่บุญโพธิสมภารไปสู่ราชอาณาจักรกัมพูชา ขณะเดียวกันก็ทรงหาหนทางที่จะต้องการนำตัวกษัตริย์กัมพูชามาลงโทษ เนื่องมาจากการปฏิเสธที่จะส่งบรรณาการสู่ธนบุรี ทำให้พระเจ้าตากสินได้ยกทัพเข้าตีกัมพูชาหลายต่อหลายครั้ง จนในปี พ.ศ. 2315 กองทัพสยามได้เผากรุงพนมเปญ และได้สถาปนานักองค์เองให้เป็นกษัตริย์หุ่นเชิดของธนบุรีหลังจากนั้นอีกเจ็ดปี
ในขณะที่ไทยมองกัมพูชาในฐานะที่ต่ำต้อยกว่าและตกเป็นเบี้ยล่างมาโดยตลอด กัมพูชาเองก็ประกอบสร้างให้ไทยเป็นศัตรูถาวรของกัมพูชาเช่นกัน อันเป็นผลมาจากเมื่อสยามในอดีตมีความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่นขึ้นมาคราใด สยามก็จะต้องรุกรานกัมพูชาทุกครั้งเช่นกัน เห็นได้ว่าการรุกรานขยายอาณาดินแดนของรัฐจารีต ในอดีตนั้นเป็นกฎของสัจนิยม (Realism) ที่ว่าสถานะของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั้นเป็นสภาวะอนาธิปไตย (Anarchy) ที่ไม่มีกฎเกณฑ์อันใดมาควบคุมพฤติการณ์ระหว่างรัฐ นอกจากนี้ สงครามยังคงเป็นความชอบธรรมที่แต่ละรัฐสามารถนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยไม่ขัดกับหลักประเพณีระหว่างประเทศในอดีต หากไทยและกัมพูชาเข้าใจถึงเกณฑ์ความสัมพันธ์ของรัฐจารีตดั้งเดิมและไม่ใช้ประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องมือสร้างกระแสชาตินิยมของประเทศทั้งสองความขัดแย้งของทั้งสองประเทศ คงจะไม่ทวีความรุนแรงอย่างในปัจจุบัน
ถึงแม้ว่าข้อดีของการใช้ความเป็นชาตินิยมสร้างชาติอื่นให้เป็นศัตรูถาวรจะมีอยู่ที่เป็นการสร้างอุดมการณ์ต่อต้านศัตรูเพื่อสร้างความสามัคคีในชาติได้ แต่หากพิจารณาถึงบริบทของการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า สงครามที่เป็นการรบมิใช่สงครามหลักในเวทีระหว่างประเทศอีกต่อไป สงครามเศรษฐกิจกลับเข้ามามีบทบาทหลักที่ผลักให้เกิดนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้น ประกอบกับเขตแดนของรัฐแบบเวสต์ฟาเลีย (Westfalia) ที่ชาติตะวันตกเคยแบ่งเขตแดนให้กับทั่วโลก เริ่มจะมีผลสะเทือนจากโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่ตะวันตกสร้างนี้ได้ลดทอนคุณค่าทางเขตแดนแบบรัฐชาติลง นอกจากนี้ ตะวันตกก็ยังผลักกระแสการบูรณาการ (Integration) ระหว่างประเทศที่มีต้นแบบจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) กลายมาเป็นสงครามในการรวมกลุ่มประเทศที่เป้าหมายในการรวมกลุ่มประเทศให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายการต่อสู้ในสงครามทางเศรษฐกิจระหว่างแต่ละกลุ่มประเทศ ซึ่งลักษณะของการบูรณาการในภูมิภาคนั้นจะมีลักษณะที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคโดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานอย่างเสรี จะเห็นได้ว่าสหภาพยุโรปนั้นมีลักษณะเป็นองค์กรเหนือรัฐ (Supranational Organization) ที่มีความเข้มแข็งมีทั้งสภาแห่งยุโรป (European Parliament) ศาลแห่งยุโรป (European Court) สกุลเงินยุโรป (EURO) และธนาคารกลางแห่งยุโรป (Central Bank of European) โดยมีนโยบายเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่เป็นเอกภาพ และในอนาคตสหภาพยุโรปก็กำลังดำเนินการสร้างความเป็นเอกภาพทางการเมืองเช่นกัน กล่าวได้ว่าแนวทางการบูรณาการภายในกลุ่มระหว่างประเทศนั้นเป็นการลดทอนอธิปไตย เขตแดน และความเป็นรัฐชาติลงนั่นเอง
ในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้นทั้งสองประเทศต่างก็เป็นสมาชิกของอาเซียน (ASEAN) ที่กำลังเดินหน้าตามตัวแบบอย่างสหภาพยุโรปโดยที่ในปี พ.ศ. 2558 อาเซียนต้องก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ซึ่งก็หมายความว่าไทย กัมพูชา และอาเซียนก็กำลังตามกระแสของสงครามทางเศรษฐกิจและการบูรณาการระหว่างประเทศ ดังนั้น เป้าหมายของอาเซียนในอนาคต คือ ไปสู่การสร้างความเป็นเอกภาพของประชาคมอย่างแท้จริง ที่อธิปไตยเขตแดน และความเป็นชาติย่อมจะถูกลดทอนลง เมื่อสถานการณ์ของการเมืองระหว่างประเทศเริ่มเปลี่ยนไป อัตลักษณ์ภายในภาคีของอาเซียนเองก็จะต้องตรียมพร้อมเพื่อไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ด้วยการลดข้อจำกัดในการสร้างความเป็นศัตรูถาวรภายใต้กระแสชาตินิยม เมื่อใดก็ตามที่ต่างฝ่ายต่างเดินหน้าใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์ และความล้าหลังคลั่งชาติก็ย่อมจะสร้างความขัดแย้งระหว่างกันและกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
เมื่อความเป็นหนึ่งเดียวแบบประชาคมกำลังจะเกิดขึ้นในอาเซียน คำถามก็คือ การสร้างกระแสชาตินิยมบนพื้นฐานความแค้นในเชิงประวัติศาสตร์มีความจำเป็นอยู่ไหม ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชาต้องทบทวนว่าทั้งสองประเทศจะยินยอมติดอยู่กับกับดักของลัทธิชาตินิยมและประวัติศาสตร์อยู่หรือไม่ หรือจะเลือกเดินไปสู่หนทางของความร่วมมือที่จะเกื้อกูลกันเพื่อต่อสู้ในสงครามทางเศรษฐกิจบนเวทีระหว่างประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาภายใต้ผลประโยชน์แห่งชาติและการเมืองระหว่างประเทศ
สำหรับการเมืองในประเทศไทยนั้น หลายปีที่ผ่านมามีความปั่นป่วนและขาดเสถียรภาพอยู่พอสมควรอันมาจาก Colors Politics หากมองถึงปมแห่งปัญหาของการเมืองของไทยนั้นเกิดจากที่ประชาธิปไตยแบบตะวันออกของไทยยังให้ความสำคัญตลอดมาว่าการเลือกตั้ง คือ หัวใจสำคัญของประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงกระบวนการสรรหาตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ประกอบกับการเลือกตั้งในไทยยังยึดโยงอยู่กับทุน และระบบอุปถัมภ์ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเราต้อง มีความเข้าใจว่าประชาธิปไตยต้องไม่ใช่แค่เพียงการเลือกตั้ง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยโดยวิถีชีวิตที่ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และรับฟังเสียงจากคนส่วนน้อย ซึ่งสังคมประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยแบบถกแถลง (Deliberate Democracy) ที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและการแลกเปลี่ยนความคิดกันกันอย่างสร้างสรรค์ กล่าวได้ว่าประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันจึงเป็นประชาธิปไตยแบบอัตตาธิปไตยผสานกับธนาธิปไตยที่ขับเคลื่อนไปด้วยอวิชชาและมิจฉาทิฐิ
แม้ว่าเสถียรภาพทางการเมืองของกัมพูชาจะมีอยู่สูง เนื่องมาจากรัฐบาลพรรคประชาชนกัมพูชาที่นำโดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซนสามารถกุมเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งของกัมพูชาได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พรรคประชาชนกัมพูชาได้เข้าสู่การเป็นพรรคการเมืองที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงพรรคเดียว (One Dominant Party System) โดยมีพรรคฟุนซินเปคและพรรคสมรังสีเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการเลือกตั้งเพียงไม่กี่ที่นั่ง กล่าวได้ว่านายกรัฐมนตรีฮุนเซนสามารถใช้อำนาจและกลไกของรัฐผสานกับการใช้กุศโลบายทางเศรษฐกิจ ในการควบคุมฐานเสียงและการลงคะแนนเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพเสมอมา หากมองลักษณะทางการเมืองของกัมพูชาถึงแม้ว่ากัมพูชานั้นจะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่จากการควบคุมจากรัฐบาลทุกองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ NGO และสื่อมวลชน ย่อมสะท้อนให้เห็นถึง ความเป็นประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม (Authoritarian Democracy) ของกัมพูชา
จากลักษณะของการเมืองภายในของประเทศทั้งสองเห็นได้ว่า ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นประเทศประชาธิปไตย (แบบเอเชีย) เคยมีคำกล่าวของฝ่ายเสรีนิยม (Liberalism) ว่าประเทศในระบอบประชาธิปไตยจะไม่ทำสงครามกัน แต่ในกรณีของความสัมพันธ์ไทยและกัมพูชานั้นทั้งสองต่างก็ตั้งผลประโยชน์หลักแห่งชาติ (National Interest) ไว้ที่เป้าหมายเดียวกัน การนิยามถึงผลประโยชน์หลักแห่งชาติหรือผลประโยชน์ที่จะสูญเสียไปไม่ได้ไว้ที่ตำแหน่งเดียวกัน อาจส่งผลต่อความขัดแย้งหากการเจรจาประนีประนอมนั้นดำเนินการมิได้ ย่อมอาจนำไปสู่ความรุนแรงและสงครามในที่สุด ซึ่งผลประโยชน์หลักของทั้งไทยและกัมพูชาก็คือ ปัญหาปราสาทพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อนกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล แต่ปัญหาที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสองลุกลามจนไม่มีทีท่าว่าความขัดแย้งดังกล่าวจะยุติลงได้ ก็คือปัญหาปราสาทเขาพระวิหาร ที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายให้คุณค่าว่าเป็นผลประโยชน์หลักที่จะสูญเสียไปไม่ได้
หากมองไปที่คำตัดสินศาลโลก (International Court of Justice) ที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็มีความยินยอม (Consent) เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ดังนั้น คำพิพากษาที่มีความชัดเจนอยู่ว่า ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นดินแดนอธิปไตยของกัมพูชาแน่นอน และพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรบนเขาพระวิหารก็เป็นดินแดนของไทยอย่างแน่นอนเช่นกัน ซึ่งประเด็นปัญหา เขาพระวิหารจะไม่สามารถสร้างความขัดแย้งอย่างในปัจจุบันได้หากทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา ไม่นำการเมืองภายในประเทศไปเกี่ยวโยงกับการเมืองระหว่างประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายได้ใช้ประเด็นปราสาทเขาพระวิหารมาสร้างผลประโยชน์แก่การเมืองภายในประเทศ ซึ่งฝ่ายไทยนั้นเห็นได้จากกรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ใช้กรณีเขาพระวิหารมาปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อปลุกระดมมวลชนในการเข้าร่วมต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนในขณะนั้น โดยพันธมิตรได้ใช้การรณรงค์ที่ว่า "ทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร" แทนที่จะเป็น "รักษาดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรบริเวณเขาพระวิหาร" อาจเป็นไปได้ว่าคำว่าทวงคืนปราสาทเขาพระวิหารนั้นง่ายกว่าการสื่อสารกับมวลชนในที่ชุมนุม แต่ก็เป็นการมิควรเป็นอย่างยิ่งที่จะยัดเยียดข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน เพราะการให้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวนอกจากจะมีปัญหาด้านข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างความชิงชังให้แก่ประชาชนชาวไทยที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ซ้ำเติมความชิงชังแบบคลั่งชาติให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
สำหรับในกรณีของกัมพูชาภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนนั้น มีความใกล้ชิดกับเวียดนามเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ได้รับเลือกจากเวียดนามเพื่อเป็นผู้นำกองทัพปฏิวัติต่อต้านเขมรแดง จนสามารถยึดกรุงพนมเปญได้ในปี พ.ศ. 2522 และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาขึ้น โดยมีเวียดนามหนุนหลัง ซึ่งในตอนนั้นฮุนเซนได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประกอบกับภรรยาของฮุนเซนมีเชื้อสายเวียดนาม ยิ่งทำให้ฮุนเซนมีความแนบแน่นกับเวียดนามยิ่งขึ้น ดั้งนั้น จะเห็นได้ว่า ครั้งใดที่ฮุนเซนต้องการใช้กระแสชาตินิยมเพื่อสร้างความนิยมทางการเมือง เขาจะใช้ประเด็นชาตินิยมสร้างไทยให้เป็นศัตรูถาวรขึ้นมาทุกครั้ง ทั้งที่จากประวัติศาสตร์นั้นกัมพูชาก็ถูกเวียดนามรุกรานไม่น้อยไปกว่าไทยหรือสยามในอดีต เห็นได้จากกรณีของกบ สุวนันท์ ที่ทั้งรัฐบาลกัมพูชาและสื่อมวลชนที่ถูกควบคุมโดยรัฐ ได้โหมกระพือกระแสชาตินิยมว่า นักแสดงไทยกล่าวคำ ดูถูกชาวกัมพูชาจนเกิดความเกลียดชังชาวไทยจนเกิดการเผาสถานเอกอัครทูตไทยในกรุงพนมเปญ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชากำลังลงสู่สนามเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา จึงต้องใช้กระแสชาตินิยมสร้างไทยในภาพของศัตรูถาวรเพื่อต้องการเสียงสนับสนุนฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชา
ในประเด็นของเขาพระวิหารที่กลายมาเป็นประเด็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ก็มีเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนการพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา กล่าวคือ บริเวณชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม แถบจังหวัดสวายเรียงของกัมพูชา เวียดนามได้ปักหลักเขตแดนล้ำเข้ามาในเขตแดนของกัมพูชาโดยนายสม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาได้เปิดโปงกรณีดังกล่าว จนนายกรัฐมนตรีฮุนเซนต้องเบี่ยงเบนประเด็นความขัดแย้งกับเวียดนามมาสู่ความต้องการรักษาอธิปไตยเหนือเขตแดนเขาพระวิหารจากไทย พร้อมกับเคลื่อนกองทัพสู่ชายแดน ส่งผลให้กองทัพไทยต้องเพิ่มกำลังพลตรึงชายแดนบริเวณเขาพระวิหารเช่นกัน ทำให้เกิดสภาวะล่อแหลม (Dilemma) ระหว่างไทยและกัมพูชา จนความขัดแย้งบนพื้นฐานความคลั่งชาติของประเทศทั้งสองได้ขยายตัวไปสู่ประชาชนทุกระดับ
กรณีเขาพระวิหารนั้นหากทั้งสองประเทศไม่นำประเด็นการเมืองภายใน ประเทศเชื่อมโยงกับการเมืองระหว่างประเทศที่ขับเคลื่อนไปด้วยความเป็นชาตินิยม แล้วหันมามองถึงผลประโยชน์ของชาติร่วมกันบนพื้นฐานของความร่วมมือของประเทศทั้งสอง ก็จะทำให้ปัญหาเขาพระวิหารจะแปรสภาพจากวิกฤตกลายเป็นโอกาสของทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งสองฝ่ายจะได้ผลประโยชน์ร่วมกันจากการจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันในบริเวณเขาพระวิหาร ต้องไม่ลืมว่าทางกัมพูชานั้นได้ครอบครองเพียงแค่ตัวปราสาท แต่บริเวณโดยรอบที่ประกอบไปด้วย เทวสถาน ปรางค์คู่ บันไดนาค และสระตราวนั้น อยู่ภายใต้การครอบครองไทย เหมือนกับที่ศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้กล่าวว่า "ปราสาทพระวิหารที่ไร้องค์ประกอบโดยรอบ ก็เหมือนกับโครงกระดูกที่ไร้เนื้อหนัง"[1] นอกจากนี้หากมองไปที่ทรัพยากรทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรมที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน ไทยมีปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ฯลฯ กัมพูชามีพระนคร นครวัด ฯลฯ โดยทั้งสองประเทศได้มีส่วนร่วมในการการจัดการมรดกโลกเขา พระวิหารร่วมกัน หากทั้งสองฝ่ายผลักดันความร่วมมือดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้ ทั้งไทยและกัมพูชาจะมี Package การท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมขอมโบราณที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง กลายเป็นผลประโยชน์บนความร่วมมือระหว่างกันที่ประเมินค่ามิได้ ทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์จากการขจัดความขัดแย้งระหว่างกัน
เมื่อมองไปที่ความขัดแย้งของไทยและกัมพูชานั้น ส่วนหนึ่งต้องมองไปที่บทบาทและท่าทีของเวียดนามที่พยามช่วงชิงความเป็นเจ้าในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป (Mainland Southeast Asia) จากไทยโดยการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเวียดนามในระดับภูมิภาค ถึงแม้ว่าบทบาทในองค์การภูมิภาค อาทิเช่น อาเซียน ของเวียดนามจะมีบทบาทที่โดดเด่นไม่เท่ากับไทย แต่หากมองแยกไปเฉพาะส่วนย่อยในภูมิภาคอย่างอินโดจีน ก็จะเห็นถึงบทบาทความเป็นผู้นำที่ชัดเจนของเวียดนามที่มีเหนือลาวและกัมพูชา ซึ่งตรงจุดนี้ก็ต้องยอมรับว่าบทบาทการนำของเวียดนามคือผู้นำของอินโดจีนอย่างแท้จริง
ที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะสายสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับลาวและกัมพูชาอันมีมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น กล่าวได้ว่าเวียดนามได้ดำเนินนโยบายสร้างตนให้เป็น แกนล้อ (Hub) และสร้างให้กัมพูชากับลาวเป็นซี่ล้อ (Spokes) ได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ประกอบด้วยความใกล้ชิดและสายสัมพันธ์อันดีของฮุนเซนกับเวียดนามยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและเวียดนามนับวันก็ยิ่งจะมีความแนบแน่นยิ่งขึ้น ซึ่งหมายถึงว่าในทางกลับกันความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยก็ย่อมจะถดถอยลงจากยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าในอินโดจีนของเวียดนาม
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา
ปัจจุบัน ไทย-กัมพูชาแม้จะมีความขัดแย้งกัน แต่ความสัมพันธ์ยังคงดำเนินไปบนพื้นฐานของความเข้าอก เข้าใจกัน โดยมีกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชามีความสัมพันธ์ทวิภาคีหลายฉบับ ได้แก่
คณะกรรมการว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา (Joint Commission: JC) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมทำหน้าที่ดูแลความสัมพันธ์ ทวิภาคีในภาพรวม มีการประชุมประจำปี
คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม ทำหน้าที่ดูแลส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ
คณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน (Border Keeping Committee: BPKC) มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม ทำหน้าที่กำกับการปฏิบัติให้เป็นตามนโยบายของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป
คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Committee: JBC) ที่ปรึกษาว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานฝ่ายไทย และทำหน้าที่ระดับสูง ตัวแทนนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธานฝ่ายกัมพูชา ทำหน้าที่กำกับดูแลภารกิจ การสำรวจ ปักปัน และแก้ปัญหาเขตแดนทางบก
คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC) มีแม่ทัพภาคในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแก้ปัญหาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน และความร่วมมือระดับท้องถิ่นทั้งสองฝ่าย มีการประชุมปกติปีละ 2 ครั้ง
คณะกรรมการการค้าร่วม (Joint Trade Committee: JCT) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม ทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน
นอกจากนี้ ไทยกับกัมพูชามีการตกลงร่วมภายใต้กรอบความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน คือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS) โดยได้มีการดำเนินโครงการทวิภาคีที่มีโครงการร่วมในสาขาการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ เช่น การศึกษาการจัดตั้งตลาดกลางเพื่อค้าส่งและส่งออกในกัมพูชา การจัดงานแสดงสินค้า ความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยให้บริการเบ็ดเสร็จที่ด่านชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นต้น นอกจากนี้ จากยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ACMECS ยังมีแผนปฏิบัติการอื่น ๆ อาทิ โครงการ Contract Farming โดยจังหวัดนำร่องในการจัดทำ Contract Farming ได้แก่ จันทบุรี-พระตะบอง/ไพลิน และยังมีโครงการเมืองคู่แฝด (Sister Cities) ซึ่งเป็นการดำเนินงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านให้เป็นเมืองเชื่อมโยงระหว่างกัน เป็นรากฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรม การค้า การท่องเที่ยว สนับสนุนการย้ายฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมจากไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับกรอบความร่วมมือ GMS (Greater Mekong Subregion) ไทยกับกัมพูชาได้ดำเนินโครงการร่วมกัน ได้แก่ การพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor) เชื่อมโยงไทย กัมพูชาและเวียดนาม การอำนวยความสะดวกการผ่านแดนของคนและสินค้าระหว่างไทย-กัมพูชา ส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูป Package Tour โดยจะเน้นตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ ตลอดจนดำเนินการ GMS Single Visa เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามูลค่าการค้าของการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังกัมพูชามีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าการนำสินค้าเข้าของไทย ซึ่งการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังกัมพูชาส่วนใหญ่จะใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก ทำให้ภาครัฐทั้งไทย-กัมพูชาได้ให้การสนับสนุนการขนส่งทางถนนเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่น โดยมีแนวคิดที่ว่าระบบถนนเป็นบริการขนส่งพื้นฐานที่ให้ความสะดวกรวดเร็วและเป็นการขนส่งให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยตรง อีกทั้งการขนส่งทางถนนเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการขนส่งในช่วงสั้น ๆ อย่างไรก็ดี จากกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามแดน (ASEAN Frame work Agreement for the facilitation of Inter-State Transport) และความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion Cross-Border Transport Agreement) ทำให้ภาครัฐทั้งไทยและกัมพูชาได้ประสานงานและร่วมมือกันในการลดอุปสรรคต่างๆ และลดค่าใช้จ่าย ในการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางผ่านแดน และให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการทำงานร่วมกับสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางถนน แก้ไขปัญหาเรื่องรถวิ่งเที่ยวเปล่าเพื่อลดต้นทุนการขนส่งของสินค้า
ที่มา :
http://122.155.9.68/talad/index.php/cambodia/overview-kh/social/173-2010-09
วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
การสัมภาษณ์ตามแนวชาติพันธุ์วรรณนา
การสัมภาษณ์ตามแนวทางชาติพันธุ์วรรณนา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญประการหนึ่ง คือ “การเรียนรู้” ทั้ง
ผู้วิจัย และผู้ถูกวิจัย โดยอาจมีผลลัพธ์หลังการสัมภาษณ์ จะเห็นพัฒนาการของผู้ด้อยโอกาสกลับกลายเป็นผู้ได้
โอกาสทั้งนี้เพราะผู้วิจัยสัมภาษณ์ด้วยความตระหนักรู้ และมุ่งข้อมูลเชิงพรรณนาข้อมูลที่ต้องการจากผู้ให้
สัมภาษณ์ คือ ข้อมูลที่อยู่ในรูปของการพรรณนา ไม่ใช่ข้อมูลที่ผู้ตอบตีความไว้เรียบร้อยแล้ว ด้วยการตีความเป็น
หน้าที่โดยตรงของนักวิจัย บทบาทของผู้ถูกวิจัย หรือผู้ให้สัมภาษณ์เป็นแต่เพียงผู้เล่าเรื่องราว เล่าด้วยอารมณ์ราบ
เรียบเต็มใจที่จะเล่าจากประสบการณ์ ความรู้สึก หรือการกระทำ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ประทับใจในอดีต ซึ่งผู้วิจัย
หรือผู้สัมภาษณ์จะต้องจัดบรรยากาศให้เอื้อ และกระตุ้นให้เกิดการเล่าเรื่อง อย่างต่อเนื่อง หรือพรรณนากริยา
อากรต่าง ๆ โดยอาจแสดงสาธิตให้ดูเพื่อให้ได้สาระออกมา อย่างชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ทั้งนี้อาจอภิปรายเหตุ
และผลของสาระบางประเด็นร่วมกัน (อัจฉรา ภาณุรัตน์ และคณะ 2555 : 71)
ที่มา :
รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรา ภาณุรัตน์ และคณะ (2555)
พระ-หมอ-ครู : กลไกทางวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
วันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)